×

เปิดขั้นตอนพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และความคืบหน้าทีมวิจัยจากทั่วโลก

โดย Master Peace
30.06.2020
  • LOADING...

เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ The New York Times เปิดเผยข้อมูลการพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 140 ตัวที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาโดยทีมนักวิจัยจากทั่วโลก

 

ในขั้นตอนปกติของการพัฒนาวัคซีนรักษาโรคนั้น ต้องมีการศึกษาวิจัยและทดลองก่อนจะได้รับอนุญาตให้นำไปใช้กับผู้ป่วย แต่สำหรับโรคโควิด-19 นั้น เป็นกรณีฉุกเฉินที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องเร่งขั้นตอนการพัฒนาและทดสอบ เพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ตามเป้าหมายภายในปีหน้า

 

การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เริ่มต้นครั้งแรกในเดือนมกราคม ด้วยการถอดรหัสข้อมูลพันธุกรรม (Genome) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ก่อนจะเข้าสู่ขั้นทดลองในมนุษย์ หรือทดลองทางคลินิกแบบปลอดภัยเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

 

แต่ผลการทดลองที่ไม่แน่นอนทำให้บางทีมวิจัยนั้นล้มเหลวหรือได้ผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจน และมีเพียงไม่กี่ทีมเท่านั้นที่ประสบผลสำเร็จ ถึงขั้นทำให้วัคซีนสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและสร้างสารภูมิต้านทานออกมาต่อสู้กับไวรัส

 

สำหรับการทดลองวัคซีนโควิด-19 ในมนุษย์ มีขั้นตอนการทดลองและสถานะที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

 

ทดลองก่อนการทดสอบในมนุษย์ (Pre-clinical Testing) – นักวิทยาศาสตร์จะทดลองให้วัคซีนแก่สัตว์ เช่น หนูหรือลิง เพื่อดูว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองหรือไม่

 

ระยะที่ 1 ทดสอบในมนุษย์แบบปลอดภัย (Phase I Safety Trials): นักวิทยาศาสตร์จะให้วัคซีนจำนวนน้อยแก่กลุ่มตัวอย่าง เพื่อทดสอบความปลอดภัยและปริมาณวัคซีนที่ใช้ ตลอดจนยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีนว่าสามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้หรือไม่

 

ระยะที่ 2 ขยายการทดสอบในมนุษย์ (Phase II Expanded Trials): นักวิทยาศาสตร์จะให้วัคซีนแก่กลุ่มตัวอย่างหลายร้อยคน แยกเป็นหลายกลุ่ม เช่น เด็กและผู้สูงอายุ เพื่อดูว่าวัคซีนให้ผลแตกต่างกันอย่างไรในแต่ละกลุ่มตัวอย่าง ตลอดจนทดสอบเพิ่มเติมเพื่อยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนและประสิทธิภาพในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

 

ระยะที่ 3 ทดสอบในมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ (Phase III Efficacy Trials): นักวิทยาศาสตร์จะให้วัคซีนแก่กลุ่มตัวอย่างหลายพันคน และดูว่ามีกี่คนที่ยังติดเชื้อ พร้อมเปรียบเทียบกับกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับยาหลอก (Placebo) ในขั้นตอนนี้จะสามารถพิจารณาได้ว่า วัคซีนนั้นสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้หรือไม่

 

อนุมัติการใช้ (Approval) – หน่วยงานควบคุมของแต่ละประเทศ จะตรวจผลการทดสอบและตัดสินใจว่าจะอนุมัติการใช้วัคซีนหรือไม่ ซึ่งในช่วงวิกฤตการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) ที่เกิดขึ้น วัคซีนที่ผ่านการทดสอบ อาจได้รับอนุมัติให้ใช้งานฉุกเฉินก่อนจะอนุมัติอย่างเป็นทางการ

 

Warp Speed: สำหรับทีมวิจัยที่มีสถานะก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จะได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ Operation Warp Speed ของรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า วัคซีนนั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ได้จริงก็ตาม

 

รวมการทดสอบหลายระยะ – อีกหนทางเพื่อเร่งการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 คือการรวมการทดสอบหลายระยะไปพร้อมกัน โดยทีมวิจัยบางทีมตอนนี้กำลังทดสอบวัคซีนในมนุษย์ ทั้งระยะที่ 1 และ 2 ไปพร้อมกัน

 

ขณะที่วิธีการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ณ ปัจจุบัน แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบได้แก่

 

  1. Genetic Vaccines: การพัฒนาวัคซีนโดยใช้ยีนของไวรัสในการกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน 

 

ปัจจุบันมีทีมวิจัยเอกชนหลายรายในสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนี ที่พัฒนาวัคซีนในรูปแบบนี้ โดยทีมวิจัยที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ได้แก่บริษัท Moderna ของสหรัฐฯ, ทีมวิจัยรวมจากบริษัท BioNTech ของเยอรมนี, Pfizer ของสหรัฐฯ และ Fosun Pharma ของจีน และมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนของอังกฤษ

 

  1. Viral Vector Vaccines: การพัฒนาวัคซีนด้วยการใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงและไม่ก่อให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน

 

ปัจจุบัน มี 3 ทีมวิจัยที่กำลังนำวัคซีนที่พัฒนาด้วยวิธีนี้ ไปทดสอบในมนุษย์ ได้แก่

 

– ทีมวิจัยของ AstraZeneca ผู้ผลิตยารายใหญ่ของอังกฤษและสวีเดน ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด โดยทีมวิจัยนี้มีความก้าวหน้าถึงขั้นทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการ Warp Speed ซึ่งคาดว่าอาจส่งมอบวัคซีนฉุกเฉินได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม

 

อัปเดต (21 กรกฎาคม 2020): ข้อมูลการทดลองที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่า มีการฉีดวัคซีนให้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,077 คน อายุ 18 ถึง 55 ปี ที่ไม่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบว่าวัคซีนนั้นมีความปลอดภัย และสามารถกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของกลุ่มตัวอย่างได้ดีเกือบทุกคน และนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญ อย่างแอนติบอดี้ (Antibody) หรือสารภูมิต้านทาน และทีเซลล์ (T-Cell) หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง ที่ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ทำให้สามารถต้านทานเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2 ) ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ได้ 

 

จากการทดลองพบว่า ระดับการตอบสนองของทีเซลล์จะเพิ่มสูงสุดหลังฉีดวัคซีนในระยะเวลาประมาณ 14 วัน ส่วนแอนติบอดี้จะมีการตอบสนองสูงสุดหลังฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 28 วัน ซึ่งในการทดลองยังพบผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงจากการฉีดวัคซีน เช่น มีไข้หรือปวดศีรษะในกลุ่มตัวอย่างราว 70% 

 

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยของออกซ์ฟอร์ดยืนยันว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมก่อนจะยืนยันว่า วัคซีนนั้นสามารถต้านทานเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนตรวจสอบว่า วัคซีนนั้นสามารถปกป้องร่างกายจากไวรัสได้นานแค่ไหน 

 

เวลานี้ (21 กรกฎาคม 2020) ทีมวิจัยของออกซ์ฟอร์ดได้เริ่มการทดลองเฟสที่ 2/3 ซึ่งจะมีการขยายการทดลองในกลุ่มตัวอย่างในสหราชอาณาจักรเพิ่มเป็น 10,000 คน และได้ขยายการทดลองไปยังต่างประเทศด้วย เนื่องจากอัตราการติดเชื้อในสหราชอาณาจักรตอนนี้ค่อนข้างต่ำ ทำให้ยากต่อการยืนยันประสิทธิภาพของวัคซีน โดยปัจจุบันได้เริ่มการทดลองในแอฟริกาใต้และบราซิลแล้ว และจะเริ่มการทดลองในกลุ่มตัวอย่าง 30,000 คน ในสหรัฐฯ เดือนสิงหาคมนี้

 

– ทีมวิจัยของบริษัท CanSino Biologics จากจีน ที่ร่วมมือกับสถาบันชีววิทยา ของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของจีน ซึ่งมีความก้าวหน้าในการพัฒนาถึงขั้นทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 และมีข้อมูลว่าผลการพัฒนา สามารถทำให้วัคซีนกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันได้ดี จนทำให้กองทัพจีนอนุมัติการใช้วัคซีนนี้ภายในกองทัพเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา

อัปเดต (21 กรกฎาคม 2020): การทดลองเฟสที่ 2 ในเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา มีการให้วัคซีนกลุ่มตัวอย่าง 500 คน ซึ่งแต่ละคนจะได้รับวัคซีนในปริมาณที่แตกต่างกัน ทั้งมาก น้อย และได้วัคซีนหลอก (Placebo) 

 

จากการทดลองพบว่า วัคซีนนั้นมีความปลอดภัย และในกลุ่มตัวอย่าง 95% ของผู้ที่ได้รับวัคซีนปริมาณมาก และ 91% ของผู้ได้รับวัคซีนปริมาณน้อย มีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอย่างแอนติบอดี้และทีเซลล์ ในระยะเวลา 28 วันหลังได้รับวัคซีน แต่ไม่พบว่าช่วยยับยั้งการติดเชื้อ และในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนปริมาณมาก 9% มีผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง ซึ่งผลข้างเคียงส่วนใหญ่ที่พบคือมีไข้สูง

 

– ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัย Gamaleya ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย เริ่มต้นการทดสอบวัคซีนมนุษย์ ระยะที่ 1 ในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

 

  1. Protein-Based Vaccines: การพัฒนาวัคซีน ด้วยการใส่ชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัสเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน

 

บริษัท Novavax จากสหรัฐฯ เป็นผู้นำในการทดสอบวัคซีนที่พัฒนาด้วยวิธีนี้ โดยอยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 และ 2 ขณะที่บริษัท Clover Biopharmaceuticals และบริษัท Anhui Zhifei Longcom ที่ร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน ก็พัฒนาวัคซีนด้วยวิธีนี้ และอยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 

 

  1. Whole-Virus Vaccines: วัคซีนที่พัฒนาโดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนลงหรือไม่ทำงานเพื่อกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

 

การพัฒนาวัคซีนด้วยวิธีนี้ ณ ปัจจุบัน มีเพียง 3 ทีมวิจัยจากจีน ได้แก่บริษัท Sinopharm ของรัฐบาลจีน, บริษัท Sinovac Biotech และสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์จีน ที่อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ โดย Sinopharm นั้นมีผลทดสอบที่ค่อนข้างดีและอยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 

 

  1. Repurposed Vaccines: วัคซีนที่พร้อมใช้สำหรับโรคระบาดอื่นๆ แต่อาจนำมาใช้เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ได้เช่นกัน

 

ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเด็กเมอร์ด็อก ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางการแพทย์สำหรับเด็กในออสเตรเลียเป็นทีมวิจัยเพียงกลุ่มเดียว ที่กำลังทดลองนำวัคซีน BCG (Bacillus Calmette Guerin) ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันวัณโรค มาทดสอบใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยตอนนี้มีความคืบหน้าถึงขั้นทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising