×

‘วัคซีนโควิด-19’ อาจต้องมีเข็มที่สาม เมื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นบอกว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการต้านทาน

22.04.2021
  • LOADING...
‘วัคซีนโควิด-19’ อาจต้องมีเข็มที่สาม เมื่อนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นบอกว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการต้านทาน

Ozlem Tureci ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทางการแพทย์ (Chief Medical Officer: CMO) และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท BioNTech ที่มีบทบาทอย่างมากในการร่วมมือกับ Pfizer ผู้ผลิตยาสหรัฐฯ ในการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ได้แสดงความเห็นระหว่างให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ประชาชนที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว จำเป็นจะต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เนื่องจากภูมิคุ้มกันไวรัสของร่างกายลดต่ำลงตามระยะเวลาที่รับการฉีดวัคซีน

ขณะเดียวกัน Tureci ยังเสริมอีกว่า นับจากนี้ ผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นประจำทุกปี เหมือนเช่นกรณีที่ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

ความเห็นของประธานเจ้าหน้าที่บริหารทางการแพทย์ของ BioNTech ที่กล่าวว่า ประชาชนที่ได้รับวัคซีนสองโดสของทางบริษัทไปแล้วจำเป็นต้องได้รับวัคซีนเข็มที่สาม เนื่องจากภูมิคุ้มกันไวรัสของร่างกายมีแนวโน้มลดลงตามกาลเวลานี้ สอดคล้องกับความเห็นของ Albert Bourla ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของทาง Pfizer ที่แนะว่า คนที่ได้รับวัคซีนของบริษัทครบสองโดสแล้ว จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนในเข็มที่สาม เพื่อประสิทธิภาพในการต้านทานไวรัส

โดย Tureci ให้เหตุผลว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องฉีดวัคซีนเข็มที่สามเพิ่มเติม รวมถึงเหตุผลในเรื่องการให้คำแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 เป็นประจำทุกปีเหมือนกับที่มีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน เป็นผลมาจากการที่ทีมนักวิทยาศาสตร์พบว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนต่อไวรัสจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ทางบริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ อย่าง Pfizer ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มว่าจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หรือเข็มที่สามภายใน 12 เดือนหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนแล้วในการฉีดวัคซีนรอบแรก เขายังกล่าวอีกว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้คนจะต้องได้รับวัคซีนเพิ่มเติมในแต่ละปี

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของทาง Pfizer พบว่า วัคซีนต้านโควิด-19 มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสมากกว่า 91% และมากกว่า 95% สามารถป้องกันโรครุนแรงได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากได้รับวัคซีนครั้งที่สองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทาง Moderna ผู้ผลิตวัคซีนอีกราย และใช้เทคโนโลยีในการผลิตและพัฒนาวัคซีนแบบเดียวกับทาง Pfizer ก็ระบุเช่นกันว่า ตัววัคซีนจะยังคงมีประสิทธิภาพสูงในช่วง 6 เดือนหลังร่างกายได้รับการฉีดวัคซีน

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิจัยส่วนใหญ่ต่างยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่อาจยืนยันได้ว่า ตัววัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันยาวนานมากเพียงใดหลังจากได้รับวัคซีนครบโดส ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเห็นตรงกันว่า ความสามารถในการป้องกันโควิด-19 ของวัคซีนหลังจากได้รับวัคซีนครบ 6 เดือนจะลดลงหลังจากผ่านไปสักระยะหนึ่ง

โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Stephane Bancel ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Moderna กล่าวว่า ทางบริษัทคาดหวังว่าจะสามารถผลิตวัคซีนโดสที่สามให้พร้อมออกมาใช้งานได้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้

ความเป็นไปได้ดังกล่าวส่งผลให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อโครงการฉีดวัคซีนของรัฐบาลประธานาธิบิดีโจ ไบเดน ที่จำเป็นต้องเร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้มีปริมาณซัพพลายที่เพียงพอต่อการแจกจ่ายเพื่อฉีดกระตุ้นอีกรอบ

Andy Slavitt ที่ปรึกษาอาวุโสของทีมรับมือโควิด-19 ของประธานาธิบดีไบเดน ระบุชัดว่า ฝ่ายบริหารของไบเดนมีการเตรียมกำลังและความพร้อมสำหรับความจำเป็นที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นเข็มที่สาม และรัฐบาลได้คำนึงถึงความจำเป็นในการเพิ่มปริมาณโดสวัคซีน

Slavitt กล่าวชัดเจนว่า สิ่งหนึ่งที่สามารถยืนยันได้ในขณะนี้ก็คือทางรัฐบาลสหรัฐฯไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการวางแผนเพื่อจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมจากทางผู้ผลิตให้มากขึ้น รวมถึงการวางแผนขยายการผลิตวัคซีนให้เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่จำเป็นจะต้องมีวัคซีนเข็มที่สาม ทางประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับพลเรือนชาวสหรัฐฯ ทั่วประเทศ โดยมีรายงานว่า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ได้ตามเป้า 200 ล้านคนภายใน 100 วันแรกหลังประธานาธิบดีไบเดนเข้ารับตำแหน่ง ทางรัฐบาลได้เสนอสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือ Tax Credit ให้กับธุรกิจเอกชนที่อนุญาตให้พนักงานหยุดพักงานไปรับวัคซีนโดยยังได้รับค่าจ้างตามปกติ

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ขณะนี้ 50% ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม และสถิติการแจกจ่ายวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านโดสต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นระดับอุปสงค์ที่สูงกว่าอุปทาน และทำให้การฉีดวัคซีนเกิดการติดขัดในหลายพื้นที่แล้ว

ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานว่า จำนวนผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มลดลง โดยเป็นผลกระทบจากการที่รัฐบาลสั่งระงับการใช้วัคซีนของ Johnson & Johnson เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนตัวนี้ รวมทั้งการที่ประชาชนเริ่มให้ความสนใจต่อการฉีดวัคซีนน้อยลง แม้ว่าทางการจะประกาศให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปแจ้งความประสงค์รับวัคซีนได้แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อว่ายังจำเป็นต้องมีการดำเนินแผนงานที่ทำให้การรับวัคซีนเป็นเรื่องง่ายและน่าสนใจกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้กลุ่มนี้มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องรีบรับวัคซีนแต่อย่างใด

ในส่วนของมาตรการทางภาษีนี้ มีเป้าหมายเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 500 คน โดยรัฐบาลจะอนุมัติสิทธิการลดหย่อนภาษีสูงสุดเป็นมูลค่า 511 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันต่อพนักงาน 1 คน ที่ได้รับอนุญาตให้ลางานไปรับการฉีดยาหรือหยุดพักเนื่องจากผลกระทบของวัคซีน และยังได้รับค่าจ้างตามปกติ โดยรัฐบาลจะใช้งบประมาณจากกฎหมายช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ผ่านออกมาใช้งานเมื่อเดือนที่แล้วมาสนับสนุนแผนงานนี้

พร้อมกันนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเรียกร้องให้ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และมีทรัพยากรในปริมาณมาก ให้ดำเนินนโยบายส่งเสริมการฉีดวัคซีนเหมือนกับกรณีของธุรกิจขนาดเล็ก และจัดตั้งโครงการให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน รวมทั้งการรณรงค์ให้พนักงานเข้ารับการฉีดยาด้วยเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising