อีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการมาของโควิด-19 คือ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์’ วรานันท์ ช่วงฉ่ำ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาธุรกิจและการตลาด LINE MAN เคยอธิบายเอาไว้ว่าตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตช่องทางออนไลน์นั้นมีสัดส่วนประมาณ 2-3% ของยอดขายรวม แต่มีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากการเป็นที่นิยมของแอปฯ เดลิเวอรีที่นำเสนอบริการหลากหลายด้านจากความคุ้นชินในการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรีแต่เดิม ประกอบกับการขยายตัวของเมือง (Urbanization) ที่มาพร้อมกับความต้องการด้านสินค้าอุปโภคบริโภค
นั่นเองทำให้ LINE MAN ตัดสินใจเปิดบริการใหม่ที่ชื่อว่า MART Service ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับ Happy Fresh แอปพลิเคชันซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมาเปิดบริการในไทย 5 ปีแล้ว โดย Happy Fresh จะทำหน้าที่ดูแลทั้งด้านการหยิบสินค้า ณ ร้านค้าที่ต้องการ จนกระทั่งจัดส่งสินค้าสู่ผู้บริโภคในระยะเวลาที่กำหนด
จากข้อมูลพบว่า LINE MAN MART มีความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว เทียบจากช่วงเวลาปกติก่อนหน้า และความต้องการของผู้ใช้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนหน้านี้สินค้าขายดีจะเป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่ม-น้ำดื่มแพ็กขนาดใหญ่ เนื่องจากผู้บริโภคไม่ต้องการขนสินค้าเอง แต่เมื่อมาถึงช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีสินค้าประเภทของสดและวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ เช่น หมูสับ แครอต มะนาว พริก ไก่ น้ำมันปรุงอาหาร ขนมปัง ฯลฯ
ทางด้าน Happy Fresh ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่ายอดทราฟฟิกของคนที่เข้ามาในแพลตฟอร์ม Happy Fresh ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากกว่า 53% ซึ่งมาจากทั้งการใช้งานผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์
โดยสินค้าที่มีการสั่งซื้อมากที่สุด ได้แก่ น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์จากนม และผักผลไม้สด ซึ่งจะเห็นได้ว่าผู้บริโภคยังนิยมซื้อเป็นของสดเพื่อใช้ในการประกอบอาหารและบำรุงสุขภาพ ในส่วนของสินค้าที่มียอดขายพุ่งสูงขึ้นจากเดิมอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ อาหารแห้ง เช่น ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเส้นพาสต้า ซึ่งเป็นของที่เก็บได้นาน ตามมาด้วยของใช้ด้านการทำความสะอาดร่างกายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครีมอาบน้ำ สบู่
ปัจจุบัน Happy Fresh มีจำนวนร้านค้าและสาขาที่เปิดให้บริการ (ข้อมูลร้านค้าที่เปิดในวันที่ 9 เมษายน 2563) ทั้งสิ้น 63 สาขา แบ่งเป็นในซูเปอร์มาร์เก็ต (Tesco Lotus, Big C และ Gourmet) จำนวน 29 สาขา และร้านขายสินค้าเฉพาะทาง (ร้านขายเนื้อ, ร้านขายผักออร์แกนิก, ร้านดอกไม้) จำนวน 34 สาขา
นอกเหนือจากสองรายข้างต้นที่เป็นแพลตฟอร์มแล้ว ในส่วนร้านต่างๆ ที่มีบริการออนไลน์ยอดขายก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน Tops Online พบว่าช่วงที่ผ่านมาตัวเลขผู้ใช้ใหม่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเป็น 2 เท่า และจำนวนออร์เดอร์เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สิ่งที่เห็นชัดขึ้นคือการซื้อต่อครั้งเยอะมากขึ้นเฉลี่ย 1,300-1,500 บาทขึ้นไป และบางครั้งสูงถึง 1,700-2,000 บาท
โดยสินค้าที่สั่งซื้อมากที่สุดและเติบโตสูงสุดมีในเกือบทุกออร์เดอร์ ได้แก่ กระดาษชำระ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร ซอส เครื่องปรุงต่างๆ น้ำยาทำความสะอาดบ้าน/ซักผ้า และในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเทรนด์ที่เปลี่ยนคือลูกค้าซื้ออาหารสดเพิ่มมากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ หมูสับ รวมไปถึงอาหารแช่แข็ง
เช่นเดียวกับ Tesco Lotus ที่มียอดการสั่งซื้อออนไลน์เติบโตขึ้นกว่าเท่าตัว โดยมีการสั่งซื้อสินค้าทั้งอาหารสด อาหารแห้ง และของใช้ในบ้านที่จำเป็น ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มียอดการสั่งซื้อมากที่สุด ได้แก่ น้ำดื่มและเครื่องดื่ม อาหารแห้ง (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสาร) ขนมขบเคี้ยว ของใช้ในบ้าน (กระดาษชำระ น้ำยาทำความสะอาดต่างๆ)
ส่วน Big C พบว่ามีรายการสั่งซื้อออนไลน์เข้ามาเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเท่าตัวผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน โดยสินค้าที่ขายดีเป็นประเภทกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคประจำวัน เช่น น้ำดื่ม ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงอาหาร นมยูเอชที กระดาษชำระ อุปกรณ์ซักล้างและทำความสะอาด
จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่แล้วผู้บริโภคมักจะสั่งซื้ออาหารสดและอาหารแห้งเป็นหลัก รวมไปถึงอุปกรณ์ทำความสะอาดต่างๆ โดยหนึ่งในการปรับตัวที่เราจะเห็นได้จากบรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ คือการเพิ่มบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของลูกค้า เช่น Click & Collect ให้ผู้บริโภคสามารถมารับสินค้าที่สั่งทางออนไลน์ได้ที่สาขาโดยไม่ต้องลงมาเดินเลือกซื้อสินค้าในร้านเอง เป็นต้น