ใกล้เปิดเทอม นอกจากรองเท้าและชุดนักเรียนแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่ผู้ปกครองต้องตัดสินใจคือการฉีดวัคซีนโควิด ‘เข็มกระตุ้น’ โดยเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่าคณะผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เด็กอายุ 12-17 ปีที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วให้เข้ารับวัคซีนเข็มที่ 3 ด้วยวัคซีน Pfizer เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 4-6 เดือนขึ้นไป
ถึงแม้เด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย แต่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ที่มีสุขภาพแข็งแรง กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นผ่านสถานศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเทอมที่จะถึงนี้ ผู้ปกครองน่าจะต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการตัดสินใจ
การฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 12-17 ปี
ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12-17 ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ปัจจุบันมีวัคซีนโควิดที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในกลุ่มอายุนี้ทั้งหมด 4 ยี่ห้อ ได้แก่ Pfizer (เมื่อ 24 มิถุนายน 2564), Moderna (เมื่อ 16 กันยายน 2564), Sinovac และ Sinopharm (เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565) โดยสูตรการฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำมี 3 สูตรคือ
- วัคซีน Pfizer 2 เข็ม ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ (ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แนะนำ 8 สัปดาห์)
- วัคซีน Sinovac 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ (ควรฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน Pfizer โดยเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป)
- สูตรไขว้ Sinovac + Pfizer ห่างกัน 4 สัปดาห์
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันและด้านโรคติดเชื้อ แนะนำให้เด็กอายุ 12-17 ปีที่ได้รับวัคซีน Pfizer ครบ 2 เข็ม เข้ารับวัคซีน Pfizer เป็นเข็มที่ 3 ขนาด ‘โดสปกติ’ หรือ ‘ครึ่งโดส’ โดยเว้นระยะห่างจากเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 4-6 เดือนขึ้นไป โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก
ดังนั้นเด็กที่ฉีดวัคซีนครบเมื่อปลายปีที่แล้วจะสามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ในเดือนพฤษภาคมนี้
วัคซีนเข็มกระตุ้นจำเป็นหรือไม่
วัคซีนเข็มกระตุ้นป็นการฉีดวัคซีนหลังจากได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม ซึ่งมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ใหญ่อายุ 18 ปีขึ้นไปมาก่อนหน้านี้แล้ว การฉีดวัคซีนเปรียบเสมือนการสอนให้ร่างกายรู้จักกับไวรัสก่อนการติดเชื้อจริง การสอนเพียงครั้งเดียว (เข็มที่ 1) ไม่เพียงพอที่จะทำให้ร่างกายจดจำได้เป็นระยะเวลานาน ส่วนใหญ่จึงต้องสอนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์
วัคซีนบางโรคก็สามารถสอนให้ร่างกายจดจำได้ตลอดชีวิต เช่น วัคซีนโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ซึ่งฉีดทั้งหมด 3 เข็ม แต่บางโรคร่างกายก็ลืมจึงต้องสอนใหม่ เช่น วัคซีนบาดทะยักควรฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ส่วนโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะต้องฉีดวัคซีนทั้งหมดกี่เข็ม แต่จากการติดตามอย่างต่อเนื่องพบว่าภูมิคุ้มกันเริ่มลดลงหลังฉีดวัคซีนครบแล้ว 4-6 เดือน
- งานวิจัยที่สิงคโปร์ ศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในเด็กอายุ 12-18 ปี ระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน 2564 (สายพันธุ์เดลตา) พบว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อและอาการป่วยได้ 59 และ 62% ตามลำดับ และประสิทธิผลลดลงตามระยะเวลา โดยสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 78% หลังฉีดวัคซีนครบ 2 สัปดาห์ จากนั้นลดลงเหลือ 54% หลังฉีดวัคซีนครบ 4 เดือน
- งานวิจัยที่อิสราเอล ศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนในเด็กอายุ 12-16 ปี ระหว่างเดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564 (สายพันธุ์เดลตา) พบว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ 85, 75 และ 58% หลังฉีดวัคซีนครบ 2 สัปดาห์ – 3 เดือน, 3-5 เดือน และ 5 เดือนขึ้นไปตามลำดับ ส่วนการป้องกันอาการป่วยก็มีแนวโน้มเช่นเดียวกัน คือป้องกันได้ 90, 78 และ 65% ตามลำดับ
- งานวิจัยที่สหรัฐอเมริกา ศึกษาประสิทธิผลป้องกันอาการปานกลาง (การมาพบแพทย์ที่แผนกฉุกเฉิน) ระหว่างเดือนเมษายน 2564 – มกราคม 2565 (สายพันธุ์เดลตาและโอมิครอน) พบว่า
- ในเด็กอายุ 12-15 ปี วัคซีน 2 เข็ม ป้องกันได้ 83% หลังฉีดวัคซีนครบไม่เกิน 5 เดือน และลดลงเหลือ 38% หลัง 5 เดือนขึ้นไป
- ในเด็กอายุ 16-17 ปี วัคซีน 2 เข็ม ป้องกันได้ 76% หลังฉีดวัคซีนครบไม่เกิน 5 เดือน และลดลงเหลือ 46% หลัง 5 เดือนขึ้นไป
ประสิทธิผลของเข็มกระตุ้นเป็นเท่าไร
ตอนเริ่มฉีดวัคซีน 2 เข็มแรกให้กับเด็กกลุ่มนี้ หน่วยงานด้านสาธารณสุขมีเป้าหมายในการฉีดวัคซีน 3 ข้อ คือ
- การป้องกันสุขภาพของเด็ก ได้แก่ การติดเชื้อ อาการป่วย อาการรุนแรง/เสียชีวิต รวมถึงผลกระทบระยะยาวจากการติดเชื้อ เช่น MIS-C, Long COVID
- การกลับไปใช้ชีวิตตามปกติของเด็ก เช่น การไปโรงเรียน การรวมกลุ่มทำกิจกรรม
- การลดการแพร่เชื้อในครอบครัว/ชุมชน
สำหรับวัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีข้อมูลดังกล่าวไม่มาก โดยงานวิจัยที่อิสราเอล ศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนเข็มกระตุ้นในช่วงที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา พบว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันการติดเชื้อ 92% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และ 73% เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม (หมายความว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันการติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นอีก 73%) แต่ไม่มีข้อมูลการป้องกันอาการรุนแรง
อีกชิ้นเป็นงานวิจัยที่สหรัฐอเมริกาที่กล่าวถึงข้างต้น พบว่าในเด็กอายุ 16-17 ปี วัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันอาการปานกลางได้เพิ่มขึ้นเป็น 86% และในช่วงที่มีการระบาดของโอมิครอน วัคซีนเข็มกระตุ้นป้องกันได้เพิ่มขึ้นเป็น 81% จากเดิม 34% ในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มไม่เกิน 5 เดือน และจากที่ป้องกันไม่ได้เลยในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม 5 เดือนขึ้นไป
ต่างประเทศแนะนำเข็มกระตุ้นหรือไม่
ประเทศในยุโรปบางประเทศมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เช่น ออสเตรีย ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮังการี อิตาลี ส่วนสหราชอาณาจักรยังแนะนำเฉพาะ 16 ปีขึ้นไป ในขณะที่สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แนะนำให้เด็กอายุ 12-17 ปีควรได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ 5 เดือนหลังจากได้รับวัคซีน Pfizer ครบ 2 เข็ม
โดยคำแนะนำดังกล่าวมาจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสหรัฐฯ (ACIP) เนื่องจากในระลอกโอมิครอนอัตราป่วยของเด็กมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเด็กอายุ 12-17 ปีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมี ‘อัตราติดเชื้อ’ สูงกว่าเด็กที่ฉีดวัคซีนครบ 7 เท่า และมี ‘อัตรารักษาตัวในโรงพยาบาล’ สูงกว่า 11 เท่า นอกจากนี้วัคซีนยังลดผลกระทบต่อสุขภาพจิตจากการปิดโรงเรียนและการแยกจากเพื่อนด้วย
ส่วนผลข้างเคียงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ข้อมูลจากอิสราเอลพบว่า อัตราการเกิดภาวะนี้หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ต่ำกว่าที่พบหลังฉีดเข็มที่ 2 โดยในกลุ่มอายุ 12-15 ปี ไม่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนมากกว่า 6,000 โดส และในกลุ่มอายุ 16-19 ปี เพศหญิงพบ 1.6 รายต่อแสนโดส เพศชายพบ 6.5 รายต่อแสนโดส (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2564)
เมื่อพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านแล้ว ACIP จึงมีมติเสียงข้างมาก 13:1 แนะนำวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนกรรมการเสียงข้างน้อย Helen Keipp Talbot แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและรองศาสตร์จารย์จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลต์ เห็นว่าด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ เธอต้องการให้ความสำคัญกับเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมากกว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
ผู้ปกครองจะตัดสินใจอย่างไร
การตัดสินใจของผู้ปกครองขึ้นกับการประเมิน ‘ประโยชน์’ และ ‘ความเสี่ยง’ ของวัคซีน การฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มสามารถป้องกันการติดเชื้อและอาการรุนแรงได้ รวมถึงภาวะ MIS-C ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนหลังติดเชื้อ ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าวัคซีนป้องกันอาการรุนแรงได้นานเพียงใด แต่ภูมิคุ้มกันมีแนวโน้มลดลงหลังฉีดวัคซีนครบ 4-6 เดือน กระทรวงสาธารณสุขจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
นอกจากการป้องกันสุขภาพของเด็กแล้ว การฉีดวัคซีนยังทำให้เด็กสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติในช่วงเปิดเทอมได้ ในขณะที่ความเสี่ยงจากผลข้างเคียงรุนแรงพบน้อยกว่าเข็มที่ 2 ส่วนใหญ่หายเป็นปกติ กรมควบคุมโรคเตรียมฉีดวัคซีน Pfizer เข็มกระตุ้นขนาด ‘ครึ่งโดส’ (15 ไมโครกรัม) ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 หรือ ปวช./ปวส. ในเดือนพฤษภาคมนี้ ผู้ปกครองสามารถลงทะเบียนผ่านสถานศึกษา
ส่วนเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่อยู่นอกระบบการศึกษา, ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มที่ไม่ใช่วัคซีน Pfizer ทั้ง 2 เข็ม และนักเรียนที่ต้องการฉีดวัคซีน Pfizer ขนาด ‘โดสปกติ’ (30 ไมโครกรัม) สามารถเข้ารับวัคซีน Pfizer ผ่านสถานพยาบาลได้ สำหรับการเตรียมตัวก่อนรับวัคซีนให้ปฏิบัติตัวตามปกติ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามปกติ ผู้มีโรคประจำตัวสามารถรับวัคซีนได้และรับประทานยาตามปกติ
อ้างอิง:
- กรมควบคุมโรค เผยแผนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เข็มกระตุ้นในกลุ่มอายุ 12-17 ปี ผ่านระบบการศึกษา เริ่มต้น พ.ค. นี้ https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=24651
- แนวทางการให้บริการวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วงเป็นเข็มกระตุ้น ขนาดครึ่งโดสผ่านระบบสถานศึกษา สำหรับนักเรียน/นักศึกษาอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีประวัติการได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม https://ddc.moph.go.th/dcd/journal_detail.php?publish=12619
- COVID-19 vaccine effectiveness in adolescents aged 12–17 years and interim public health considerations for administration of a booster dose https://www.ecdc.europa.eu/en/publications-data/covid-19-vaccine-effectiveness-adolescents-and-interim-considerations-for-booster-dose
- Effectiveness of COVID-19 Pfizer-BioNTech BNT162b2 mRNA Vaccination in Preventing COVID-19–Associated Emergency Department and Urgent Care Encounters and Hospitalizations Among Nonimmunocompromised Children and Adolescents Aged 5–17 Years — VISION Network, 10 States, April 2021–January 2022 https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/71/wr/mm7109e3.htm
- COVID-19 Vaccine Recommendations for Children and Teens https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/vaccines-children-teens.html
- CDC recommends COVID vaccine boosters for adolescents ages 12-15 https://publications.aap.org/aapnews/news/19022/CDC-recommends-COVID-vaccine-boosters-for
- Covid-19: Booster jab bookings open for ages 16 to 17 in England https://www.bbc.com/news/uk-60011877
- Updates to the Evidence to Recommendation Framework: Pfizer-BioNTech vaccine booster doses in 12–15 year olds https://www.cdc.gov/vaccines/acip/meetings/downloads/slides-2022-01-05/06_COVID_Oliver_2022-01-05.pdf