ตลอดช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา กระแสความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นในประชาคมโลก มีองค์กร นักเคลื่อนไหว และกลุ่มผู้สนับสนุนจำนวนมากออกมาแสดงพลัง สร้างความตระหนักรู้และเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในสังคมหันมาใส่ใจประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สิ่งแวดล้อมโลกกำลังส่งสัญญาณสีแดง เตือนภัยถึงอันตรายครั้งใหญ่ที่ใกล้จะมาถึง
COP27 คืออะไร
COP27 คือเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 โดยจะจัดขึ้นที่เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2022
โดยเวที COP เป็นการประชุมภาคี (Conference of Parties) ด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ปี 1992 ที่รัฐภาคีเกือบ 200 ประเทศทั่วโลกจะส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุมหารือกันเป็นประจำทุกปี
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ชี้ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกได้เพิ่มสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว ถ้าหากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.7-1.8 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม ประชากรโลกราวครึ่งหนึ่งจะได้รับผลกระทบจากความร้อนและความชื้นที่อาจถึงขั้นเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต
หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของเวทีการประชุมนี้ นับตั้งแต่ที่รัฐภาคี 194 ประเทศลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 คือร่วมมือกันจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรม
การประชุมในปีนี้ นับเป็นการประชุม COP ครั้งที่ 5 ที่จัดขึ้นในทวีปแอฟริกา โดย IPCC มองว่า แอฟริกาถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดในโลก ขณะนี้ผู้คนกว่า 17 ล้านคนในแอฟริกาตะวันออกกำลังประสบกับปัญหาความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร เนื่องจากภาวะภัยแล้งรุนแรง
บรรดารัฐบาลในภูมิภาคแอฟริกา รวมถึงเจ้าภาพจัดงานอย่างอียิปต์ หวังว่าเวทีการประชุม COP27 ในครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ และทำให้ทุกรัฐบาลโดยเฉพาะชาติที่มั่งคั่ง หันมาแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น
แต่กระนั้น การเลือกอียิปต์ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP27 ในปีนี้ ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย เกี่ยวกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง บรรดานักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม จึงเรียกร้องให้ทางการอียิปต์เปิดพื้นที่พูดคุยและปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง ก่อนที่การประชุม COP27 จะเปิดฉากขึ้น
เบื้องต้น ผู้นำประเทศบางส่วนเริ่มทยอยตอบรับเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้แล้ว ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย และประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ยังไม่ได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมการประชุมที่อียิปต์ในปีนี้แต่อย่างใด หลายฝ่ายหวังว่าทั้งสองประเทศจะส่งผู้แทนระดับสูงมาเข้าร่วม หากผู้นำไม่สามารถเดินทางมาด้วยตนเองได้
ทำไมเวที COP27 จึงสำคัญ
หลายพื้นที่ทั่วโลกกำลังประสบกับ ‘ภาวะโลกรวน’ และเผชิญหน้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอย่างหนัก ภัยพิบัติทางธรรมชาติในพื้นที่ต่างๆ มีแนวโน้มรุนแรงและเกิดต่อเนื่องยาวนานยิ่งขึ้น เช่น สหราชอาณาจักรตรวจวัดอุณหภูมิได้ 40 องศาเซลเซียส เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับหลายประเทศในแถบยุโรป รวมถึงวิกฤตแม่น้ำหลายสายในจีนแห้งขอด และวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกาหลีใต้และปากีสถาน เป็นต้น
วารสารชั้นนำทางการแพทย์อย่าง The Lancet Countdown ฉบับล่าสุด รายงานว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรโลกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การที่ประชาคมโลกยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในมิติความไม่มั่นคงทางอาหาร โรคระบาด รวมถึงความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อน
รายงานฉบับนี้ยังระบุอีกว่า สภาพอากาศสุดโต่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันและสร้างความท้าทายให้กับงานบริการด้านสาธารณสุขโลก ควบคู่ไปกับการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งยอดผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศที่ร้อนจัดทั่วโลกนั้นเพิ่มขึ้นราว 66% ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างของสัญญาณที่บ่งชี้ว่า เวทีพูดคุยหารือเกี่ยวกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้
ประเด็นน่าจับตามองใน COP27 มีอะไรบ้าง
ที่ประชุม COP27 จะหารือกันในประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น
- การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยแต่ละประเทศจะต้องส่งมอบแผนการปรับลดก๊าซเรือนกระจกระดับชาติ (NDC) ที่สะท้อนความทะเยอทะยานที่จะนำพาประเทศให้บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เคยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้
- การให้ความช่วยเหลือประเทศต่างๆ ให้สามารถเตรียมความพร้อม และรู้วิธีรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้
- การสนับสนุนเงินทุนให้แก่บรรดาประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้สามารถรับมือกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ได้รับการพูดคุยหารือมาอย่างยาวนานในหลายเวทีการประชุม
ในการประชุม COP15 ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อปี 2009 บรรดาประเทศพัฒนาแล้วต่างให้คำมั่นที่จะส่งมอบเงินสนับสนุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 3.8 ล้านล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศเปราะบางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งประเทศเหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก
แต่คำมั่นสัญญาดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นจริง เงินสนับสนุนในแต่ละปีไม่เคยถึง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐตามที่เคยให้คำมั่นไว้ ก่อนที่จะมีความพยายามขยับขยายขอบเขตระยะเวลา จากเดิมที่จะต้องทำให้ได้ภายในปี 2020 เปลี่ยนเป็นปี 2023 แทน โดยผู้แทนจากสหภาพยุโรปต่างเห็นพ้องที่จะใช้เวที COP27 หารือในประเด็นนี้เพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังอาจมีความพยายามที่จะก่อตั้งตลาดคาร์บอนโลกที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการแสวงหามติที่ประชุมที่จะปรับลดการพึ่งพาพลังงานจากถ่านหินและหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาด
แต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า บรรดาผู้นำโลกปล่อยให้ปัญหานี้เรื้อรังจนสายเกินไปแล้ว ไม่ว่าผลการประชุม COP27 ในปีนี้จะเป็นอย่างไร ความพยายามที่จะจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสก็จะไม่บรรลุเป้าหมายอยู่ดี ขณะที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่น้อยยังคงเชื่อมั่นว่า การร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในประชาคมโลกจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้
ภาพ: rafapress / Shutterstock
อ้างอิง:
- www.bbc.com/news/science-environment-63386814
- https://www.lancetcountdown.org/2022-report/
- http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/page/ndc-nationally-determined-contribution-198
- https://www.bbc.com/news/science-environment-63316362
- https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/59363
- ในที่ประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อปี 2021 รัฐบาลไทยประกาศเป้าหมายใหญ่ ตั้งเป้าเป็นประเทศเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065
- ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม COP28 ในช่วงปลายปี 2023