×

การฝังยาคุมกำเนิดกับวัยรุ่นเป็นอย่างไร ข้อดี-ข้อเสียมีอะไรบ้าง

26.11.2021
  • LOADING...
contraceptive implant

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ยาฝังคุมกำเนิด เป็นหลอดบรรจุฮอร์โมนโปรเจสติน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 มิลลิเมตร ความยาว 4-4.3 เซนติเมตร ลักษณะนิ่ม งอได้ ฝังใต้ท้องแขน เมื่อฝังก็จะมีการปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ถือเป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวที่ระยะยาว 
  • สังคมไทยยังมีความขัดแย้งในความคิดเห็นเรื่องการคุมกำเนิดในวัยรุ่น ว่าเป็นการสนับสนุนให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหรือไม่ โดยเฉพาะการฝังยาคุม แม้จะเป็นการคุมกำเนิดระยะยาว นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในเมืองไทยที่ยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
  • หากดูบทเรียนจากประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าอยากให้การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลง ต้องเคารพสิทธิการตัดสินใจในการคุมกำเนิดของวัยรุ่น ให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดระยะยาว ให้เข้าถึงการคุมกำเนิดได้ง่ายขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลเรื่องการคุมกำเนิดต้องมีความรู้ มีเจตคติที่ดีในการคุมกำเนิดให้วัยรุ่น 

 

ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่า ยาฝังคุมกำเนิด เป็นหลอดบรรจุฮอร์โมนโปรเจสติน มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5 มิลลิเมตร ความยาว 4-4.3 เซนติเมตร ลักษณะนิ่ม งอได้ ฝังใต้ท้องแขน เมื่อฝังก็จะมีการปล่อยฮอร์โมนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ถือเป็นการคุมกำเนิดชั่วคราวที่ระยะยาว ในประเทศไทยมีสองยี่ห้อ ได้แก่ อิมพลานอน (Implanon) ฝัง 1 แท่งนาน 3 ปี และ จาเดล (Jadelle) ฝัง 2 แท่ง นาน 5 ปี ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าวิธีนี้สามารถยืนยันความพึงพอใจในวัยรุ่น และลดการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี 

 

แต่ในสังคมไทยยังมีความขัดแย้งในความคิดเห็น เรื่องการคุมกำเนิดในวัยรุ่น ว่าเป็นการสนับสนุนให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหรือไม่ โดยเฉพาะการฝังยาคุม แม้จะเป็นการคุมกำเนิดระยะยาว นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในเมืองไทยยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

 

ปัจจุบัน แม้ข้อมูลการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจะลดลง แต่ในปี 2562 ยังมีหญิงวัยรุ่นอายุ 10-14 ปี คลอดลูกจำนวน 2,180 คนต่อปี วัยรุ่นอายุ15-19 ปี คลอดลูกจำนวน 61,651 คนต่อปี ในขณะที่อัตราป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นและเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รายงานประจำปี 2563 สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์)

 

contraceptive implant

 

ส่วนสาเหตุของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้น งานวิจัยยืนยันว่าส่วนใหญ่เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้วางแผนและไม่พร้อม การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ส่งผลทางลบ ทั้งวัยรุ่นผู้ตั้งครรภ์ ผู้ปกครอง สังคมเศรษฐกิจ และประเทศชาติ การลงเอยด้วยการทำแท้ง อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของวัยรุ่น รวมถึงกระทบต่อสภาพสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของสังคม หากตั้งครรภ์ต่อก็ส่งผลเรื่องการเรียน เรียนไม่จบ ต้องลาออกจากการเรียน คลอดก่อนกำหนด คลอดยาก ตกเลือด มีปัญหาเรื่องการเลี้ยงดูบุตร ปัญหาเศรษฐกิจของครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชาติ ฯลฯ เด็กที่เกิดมาโดยไม่มีใครต้องการ ก็อาจกลายเป็นเด็กที่มีปัญหาในสังคม

 

contraceptive implant

 

ที่นี่ เรามาลองมาฟังตัวอย่างการแก้ปัญหาจากประเทศสหรัฐอเมริกากันค่ะ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 80 ของหญิงวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มีการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์

 

การสำรวจพบว่ามีแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ โดย 1 ใน 10 ไม่มีการคุมกำเนิดเลย ซึ่งมีโอกาสตั้งครรภ์ถึงร้อยละ 85 ภายใน 1 ปี การคุมกำเนิดที่นิยมถึงร้อยละ 97 คือการสวมถุงยางอนามัย ซึ่งมีข้อดีคือสามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่ทางปฏิบัติ ป้องกันการตั้งครรภ์ได้เพียงร้อยละ 70

 

การคุมกำเนิดยอดนิยมรองลงมาคือ การหลั่งนอก ซึ่งนอกจากป้องกันการตั้งครรภ์ได้ไม่ดี เพราะขึ้นอยู่กับประสบการณ์การควบคุมการหลั่งของฝ่ายชายแล้ว ยังไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าหนองในแท้ หนองในเทียม แผลริมอ่อน ซิฟิลิส เอชไอวี เอพีวี และอื่นๆ ได้เลย

 

แต่ปัจจุบันในอเมริกา การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะได้ใช้วิธีการเหล่านี้ในแก้ปัญหา 

 

  1. การคุมกำเนิด ถือเป็นสิทธิของวัยรุ่นที่ผู้ให้บริการต้องเคารพ ไม่จำเป็นต้องแจ้งผู้ปกครองในกรณีที่ขอให้ปิดเป็นความลับ วัยรุ่นจึงเข้าถึงการคุมกำเนิดได้ง่าย
  2. ราคาไม่แพง หรือ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
  3. เป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพ คุมได้ระยะยาว ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
  4. วัยรุ่นและบุคลากรทางการแพทย์ ต้องมีความรู้และเจตคติที่ดีในการคุมกำเนิด

 

หลังมีการวิจัยแบบไปข้างหน้า (Prospective Study) ตีพิมพ์ใน N Engl J Med 2014 ทำการศึกษาวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี จำนวน 1,404 คน ที่อาศัยอยู่ในเมือง โดยให้ได้รับความรู้เรื่องการคุมกำเนิดจนเข้าใจ และให้การบริการคุมกำเนิดโดยไม่คิดมูลค่า ถือเป็นสิทธิการตัดสินใจของวัยรุ่น เมื่อติดตามไปนาน 2-3 ปี พบว่าร้อยละ 75 ได้เลือกการคุมกำเนิดระยะยาวอย่าง การสวมห่วงคุมกำเนิด และ ยาฝังคุมกำเนิด ผลการวิจัยพบว่า วัยรุ่นในกลุ่มที่ศึกษามีอัตราการตั้งครรภ์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประเทศ 4-5 เท่า (34 ต่อ 158.5/1,000) มีการคลอดบุตรต่ำกว่า 4-5 เท่า (19.4 ต่อ 94/1,000) แท้งลูกต่ำกว่า 4-5 เท่าเช่นกัน (9.7 ต่อ 41.5/1,000)

 

ข้อดี-ข้อเสียของยาฝังคุมกำเนิด

 

contraceptive implant

 

สำหรับยาฝังคุมกำเนิด วิทยาลัยสูติ-นรีแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (ACOG) แนะนำและสรุปว่า เป็นวิธีที่เหมาะกับการคุมกำเนิดวัยรุ่นเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุผลดังนี้

 

  1. มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงถึงร้อยละ 99 เป็นการคุมกำเนิดระยะยาว 3-5 ปีงานวิจัยพบว่าวัยรุ่นมีความพึงพอใจและอัตราการคงใช้สูงกว่าการคุมกำเนิดระยะสั้น เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดกิน
  2. ไม่มีอันตรายใดๆ อาจมีผลข้างเคียง เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย ซึ่งเป็นเหตุผลอันดับหนึ่งที่วัยรุ่นขอเอาออก แต่สามารถแก้ไขได้ โดยผู้บริการต้องมีแนวทางปฏิบัติ
  3. เมื่อครบกำหนดหรือเมื่อต้องการมีลูก สามารถเอายาฝังออกได้โดยง่าย ตั้งครรภ์ได้ทันทีหลังเอายาฝังออก

 

สำหรับข้อห้ามในการใช้ยาฝังคุมกำเนิดก็พบไม่มากในวัยรุ่น ได้แก่

 

  1. มีโรคตับ การทำงานของตับบกพร่อง มีเนื้องอก หรือมะเร็งตับ (Hepatocellular Adenoma or Hepatoma) 
  2. มีเลือดออกจากช่องคลอดไม่ทราบสาเหตุ
  3. โรคแอสแอลอี (Systemic Lupus Erythematosus) ที่มีภูมิต้านทานต่อแอนตี้ฟอสโฟไลปิด (Antiphospholipid) หรือไม่ทราบผล
  4. สงสัยเป็น หรือมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม

 

เมื่อกลับมามองเมืองไทย การคุมกำเนิดในวัยรุ่นของรัฐ ไม่มีค่าใช้จ่าย เข้าถึงไม่ยาก หากดูบทเรียนจากประเทศสหรัฐอเมริกา ถ้าอยากให้การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลง ต้องเคารพสิทธิการตัดสินใจในการคุมกำเนิดของวัยรุ่น ให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดระยะยาว ให้เข้าถึงการคุมกำเนิดได้ง่ายขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลเรื่องการคุมกำเนิดต้องมีความรู้ มีเจตคติที่ดีในการคุมกำเนิดให้วัยรุ่น 

 

อย่างไรก็ตาม แม้วัยรุ่นจะเลือกการคุมกำเนิดด้วยยาฝัง แต่แนะนำว่าควรใช้ถุงยางอนามัยควบคู่กันไป เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X