×

คอเนอร์ กัลลาเกอร์ เครื่องสังเวยให้นโยบายซื้อแหลกของเชลซี?

30.01.2024
  • LOADING...
Conor Gallagher

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • ในมุมของการทำธุรกิจแล้ว การขายกัลลาเกอร์ออกจากทีมเพื่อแลกกับเงิน 50 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นค่าตัวที่เชลซีต้องการ อาจมองเป็นการทำธุรกิจที่ดี
  • กัลลาเกอร์เหลือสัญญาในสแตมฟอร์ดบริดจ์อีก 18 เดือนด้วยกัน (หมดสัญญาเดือนมิถุนายน 2025) เป็นช่วงระยะเวลาที่สโมสรต้องตัดสินใจว่าจะต่อสัญญาใหม่หรือจะขายออกจากสโมสรเพื่อหารายได้กลับมา ซึ่งดูเหมือนสโมสรจะมองออปชันหลังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
  • โจ​ โคล อดีตนักเตะของเชลซี มองว่า การขายนักเตะที่เป็นสายเลือดของสโมสรอย่างกัลลาเกอร์ออกไปเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและเข้าใจไม่ได้

ในฤดูกาลที่เหมือนรถไฟเหาะตีลังกาหาความมั่นคงไม่ได้ของเชลซี หนึ่งในนักเตะที่ทำผลงานได้ดีและน่าประทับใจที่สุดคือ คอเนอร์ กัลลาเกอร์ มิดฟิลด์วัย 23 ปีที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ในการลงสนามทุกนัด

 

วัดกันด้วยความรู้สึกแล้ว กัลลาเกอร์ดูจะทำได้ดียิ่งกว่า เอนโซ เฟร์นานเดซ และ มอยเซส ไกเซโด สองกองกลางที่มีค่าตัวแพงที่สุดของพรีเมียร์ลีกด้วยซ้ำไป เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในนักเตะที่ เมาริซิโอ โปเชตติโน พร้อมที่จะส่งลงสนามเสมอ ถึงขั้นมอบปลอกแขนกัปตันทีมให้ใส่ในยามที่ รีซ เจมส์ กัปตันตัวจริง ประสบปัญหาอาการบาดเจ็บต่อเนื่อง

 

แต่วันนี้กลับมีข่าวอีกครั้งในน้ำหนักที่จริงจังมากขึ้นว่า เชลซีกำลังพิจารณาที่จะขายกัลลาเกอร์ออกไปจากทีมในช่วงตลาดการซื้อ-ขายรอบฤดูหนาวนี้ โดยทีมที่ให้ความสนใจยังคงเป็นท็อตแนม ฮอตสเปอร์ เจ้าเก่า ที่เคยพยายามตามจีบมาตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน โดยที่ถ้าได้ข้อเสนอที่ 50 ล้านปอนด์ก็พร้อมเปิดทางให้ทันที

 

คำถามที่น่าสนใจคือ นี่เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายที่ผิดพลาดของ ทอดด์ โบห์ลี

 

หรือนี่เป็นเรื่องปกติธรรมดาของธุรกิจวงการฟุตบอล

 

 

ชื่อของ คอเนอร์ กัลลาเกอร์ ในหมู่แฟนบอลเชลซีเป็นชื่อที่ได้ยินกันมายาวนานในฐานะผลผลิตของค็อบแฮม หนึ่งในอะคาเดมีที่ดีที่สุดของอังกฤษ และเป็นแหล่งรวบรวมดาวรุ่งฝีเท้าดีเอาไว้มากที่สุดสโมสรหนึ่งไม่ได้แพ้แมนเชสเตอร์ ซิตี้เลย

 

แต่กองกลางจอมลุยรายนี้มาแจ้งเกิดอย่างจริงจังในระหว่างการไปเล่นให้คริสตัล พาเลซ แบบยืมตัวในฤดูกาล 2021/22 ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เรียกว่าเด่นที่สุดคนหนึ่งของพรีเมียร์ลีกเลยในฤดูกาลดังกล่าว ก่อนจะกลับมาอยู่กับเชลซีอีกครั้งในฤดูกาล 2022/23

 

ปัญหาคือชีวิตในสแตมฟอร์ดบริดจ์ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับกัลลาเกอร์ เนื่องจากเชลซีเป็นทีมที่อุดมไปด้วยซูเปอร์สตาร์มากมาย ทำให้แทบไม่มีโอกาสที่จะได้ลงสนาม และทำให้เจ้าตัวพิจารณาถึงโอกาสที่จะย้ายออกจากทีมไปเริ่มต้นชีวิตการเล่นใหม่กับทีมอื่นอยู่เหมือนกัน

 

สเปอร์สที่ได้ แอนจ์ ปอสเตโคกลู เป็นทีมที่ให้ความสนใจอย่างจริงจังมากที่สุด แต่ทีมที่ยื่นข้อเสนออย่างจริงจังก่อนคือเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เพียงแต่เชลซีปฏิเสธข้อเสนอ 42 ล้านปอนด์ไปในช่วงปิดฤดูกาล เนื่องจาก โรเมโอ ลาเวีย กองกลางดาวรุ่งที่ตัดหน้าลิเวอร์พูลซื้อมาจากเซาแธมป์ตัน มีปัญหาอาการบาดเจ็บต้องพักการเล่นยาว

 

ตรงนี้เองที่กลายเป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ กัลลาเกอร์กลายเป็นหนึ่งในขุนพลที่ได้โอกาสจากโปเชตติโน ผู้จัดการทีมคนใหม่ในการพิสูจน์ฝีเท้าของตัวเอง

 

ถึงแม้ว่าฟอร์มการเล่นจะไม่ได้เข้าขั้นยอดเยี่ยมนัก ขาดความสม่ำเสมอบ้าง แต่อย่างน้อยที่สุดความทุ่มเทในการเล่นของกองกลางวัย 23 ปีก็มีส่วนช่วยเชลซีให้มีชีวิตชีวาขึ้นบ้าง ในฐานะห้องเครื่องที่เป็นตัวจุดประกายความร้อนแรงในการเล่นให้กับทีม

 

ที่สำคัญคือกัลลาเกอร์กลายเป็นนักเตะขวัญใจของแฟนๆ ที่ประทับใจกับหัวใจที่ร้อนแรง ซึ่งสวนทางกับนักเตะหลายๆ คนในทีมที่เล่นกันแบบซังกะตายและไม่มีทิศทาง ทั้งๆ ที่แต่ละคนมีค่าตัวในการย้ายทีมไม่ใช่น้อยๆ

 

 

ดังนั้นข่าวที่มิดฟิลด์จอมลุยอาจจะถูกขายออกจากสโมสรจึงเป็นเรื่องที่ช็อกความรู้สึกของแฟนฟุตบอลพอสมควร

 

มีคนอื่นที่เล่นแย่กว่าและควรจะถูกขายออกไปตั้งหลายคน!

 

อย่างไรก็ดี ในมุมของการทำธุรกิจแล้ว การขายกัลลาเกอร์ออกจากทีมเพื่อแลกกับเงิน 50 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นค่าตัวที่เชลซีต้องการ อาจมองเป็นการทำธุรกิจที่ดี

 

เพราะนักเตะรายนี้เป็นผลผลิตจากอะคาเดมีของสโมสรที่ใช้การลงทุนต่ำ การขายได้ถึง 50 ล้านปอนด์ถือเป็นผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า ซึ่งก็จะคล้ายกับกรณีของ เมสัน เมาท์ ที่สามารถขายให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้ถึง 70 ล้านปอนด์ในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา   

 

ความซับซ้อนอีกอย่างคือ เรื่องของกฎการเงิน Profit and Sustainability Rules (PSR) ที่มีความเข้มงวดขึ้น ซึ่งมีสโมสรที่ถูกลงโทษตัดแต้มถึง 10 แต้มไปแล้วอย่างเอฟเวอร์ตัน (จากความผิดจนถึงฤดูกาล 2021/22) และทีม ‘ทอฟฟี่สีน้ำเงิน’ มีโอกาสจะโดนลงโทษตัดแต้มเพิ่มอีกครั้ง พร้อมกับน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ที่ถูกตั้งข้อหาในเรื่องของการทำผิดกฎ PSR เหมือนกัน

 

เชลซีซึ่งใช้จ่ายเงินไปมากกว่า 1 พันล้านปอนด์นับตั้งแต่ได้ ทอดด์ โบห์ลี และ Clearlake Capital นำกลุ่มทุนเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรต่อจาก โรมัน อบราโมวิช เจ้าของเดิมที่ถูกบังคับให้ขายสโมสรออกไปจากกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นหนึ่งในสโมสรที่ถูกจับตามองว่าจะละเมิดต่อกฎนี้หรือไม่

 

ถึงแม้ว่าจะไม่มีการตั้งข้อหาในเวลานี้ แต่เชลซีก็มีคดีการเงินเดิมจากยุคของอบราโมวิชที่ถูกสอบสวนด้วยเช่นกัน และนั่นทำให้สโมสรจากเวสต์ลอนดอนพยายามจะหาทางเอาตัวรอดจากเรื่องนี้

 

หนึ่งในทางออกคือ การปล่อยนักเตะออกจากทีมเพื่อตกแต่งตัวเลขบัญชีให้สวยงามขึ้น

 

กลุ่มนักเตะที่ถูกมองว่าสามารถปล่อยตัวออกจากทีมได้ง่ายที่สุดคือ กลุ่มนักเตะอะคาเดมีของสโมสรที่มีค่าเหนื่อยไม่สูงมากนักและมีราคาที่สูง เนื่องจากเป็นกลุ่มนักเตะท้องถิ่น (Homegrown) ซึ่งมี 2 รายที่เข้าข่ายคือ อาร์มันโด โบรยา ศูนย์หน้าและกัลลาเกอร์ในตำแหน่งกองกลาง

 

ในขณะที่กลุ่มนักเตะใหม่ที่ซื้อเข้ามามากมายนั้นแทบทุกรายจะใช้ ‘มายากลทางการเงิน’ เรื่องของการยืดระยะเวลาการจ่าย (Amortization) ทำให้มีสัญญาระยะเวลาที่ยาวนาน 7-8 ปี ซึ่งเป็นผลดีกับตัวเลขบัญชีของสโมสร

 

 

สำหรับรายของกัลลาเกอร์เหลือสัญญาในสแตมฟอร์ดบริดจ์อีก 18 เดือนด้วยกัน (หมดสัญญาเดือนมิถุนายน 2025) เป็นช่วงระยะเวลาที่สโมสรต้องตัดสินใจว่าจะต่อสัญญาใหม่หรือจะขายออกจากสโมสรเพื่อหารายได้กลับมา ซึ่งดูเหมือนสโมสรจะมองออปชันหลังเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

 

การขายนักเตะที่เหลือสัญญา 18 เดือน โดยที่เป็นนักเตะจากอะคาเดมีให้ได้เงินกลับมา 50 ล้านปอนด์ ทำให้สถานะทางบัญชีของสโมสรดีขึ้นอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น

 

มองแบบนี้จะเห็นภาพอีกด้านว่าเป็นเรื่องของ ‘ธุรกิจ’ ที่ดี

 

แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง เหมือนที่ โจ​ โคล อดีตนักเตะของเชลซีที่แม้จะเป็นผลผลิตจากทีมเวสต์แฮม แต่ก็มาอยู่สแตมฟอร์ดบริดจ์ตั้งแต่แจ้งเกิดได้ไม่นานมองว่า การขายนักเตะที่เป็นสายเลือดของสโมสรอย่างกัลลาเกอร์ออกไปเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและเข้าใจไม่ได้

 

เพราะนักเตะแบบนี้เกิดและเติบโตมากับสโมสร รู้จักทุกสิ่งทุกอย่างของทีมเป็นอย่างดี

 

และเรื่องนี้ก็สะท้อนให้เห็นผ่านผลงานในสนามที่กัลลาเกอร์ทุ่มเทสุดชีวิตทุกนัดที่ได้ลงเล่น

 

นักเตะแบบนี้สมควรจะถูกนำมาสังเวยเพราะนโยบายการซื้อผู้เล่นแบบไม่คิดของสโมสรแล้วใช่ไหม?

 

เป็นคำถามที่แฟนสิงห์บลูส์จะทดไว้ในใจอย่างแน่นอน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising