×

เปรียบเทียบราคาคาร์บอนโลก vs. ไทย (ในอนาคต)

11.06.2024
  • LOADING...

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ประกาศออกมาแล้วว่า ไทยเตรียมเริ่มเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ภายในปีงบประมาณ 2568 (ซึ่งจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2567) ที่อาจทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ 2 ของอาเซียนต่อจากสิงคโปร์ที่เริ่มเก็บภาษีคาร์บอน

 

โดยในระยะแรกจะเริ่มเก็บจากสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เชื่อมโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อน สำหรับอัตราคาดว่าจะอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน (หรือราว 5.44 ดอลลาร์ ตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2567)

 

ดร.เอกนิติ ยืนยันว่า ในระยะแรกการเก็บภาษีคาร์บอนนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากเป็นการแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เก็บอยู่แล้วในปัจจุบันให้ไปผูกติดกับภาษีคาร์บอนเท่านั้น แต่กลับมีข้อดีหลายประการ โดยหลักๆ คือ อาจทำให้ราคาคาร์บอนในไทยไม่ต่ำจนเกินไป

 

👉 ราคาคาร์บอนเครดิตไทยปัจจุบันอยู่ที่เท่าไร?

 

ตามข้อมูลจากจดหมายข่าวเดือนเมษายน 2567 ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. แสดงให้เห็นว่า ช่วงสัปดาห์แรกของเดือนราคาคาร์บอนเครดิตของไทยผ่านศูนย์ซื้อขาย (Exchange) ต่างๆ อยู่ที่ระหว่าง 0.49-21 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอน

 

โดยระดับราคา 21 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนเป็นการเคลื่อนไหวของราคาสำหรับภาคการบินระยะที่ 1 (CORSIA Phase 1) ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 96.26% ขณะที่ด้านปริมาณซื้อขายคงอยู่ระดับต่ำ (ประมาณ 31,000 ตันคาร์บอน) โดยต่ำกว่าปริมาณรายสัปดาห์ของช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่เปิดตัวสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เหตุการณ์ปรับตัวขึ้นของราคาดังกล่าวเป็นสถานการณ์ Panic Buying จากอุปทานที่มีอยู่อย่างจำกัด

 

👉 IMF เสนอให้ทุกประเทศกำหนดราคาคาร์บอนเท่าไร?

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางนโยบายที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจูงใจเม็ดเงินการใช้จ่าย (Spending) และการลงทุน (Investment) ออกจากพลังงานสกปรก

 

อย่างไรก็ดี หลายประเทศยังมีความลังเลที่จะผลักดันการใช้นโยบายนี้ เนื่องด้วยกังวลว่าจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น เหล็กและเคมีภัณฑ์

 

เมื่อปี 2565 IMF เคยแนะนำว่า หนึ่งในวิธีที่จะทำให้กลไก Carbon Pricing เกิดขึ้นในหลายประเทศได้คือ การจัดทำข้อตกลงราคาคาร์บอนระหว่างประเทศ (International Carbon Price Floor: ICPF)

 

ทั้งนี้ ข้อตกลง ICPF ดังกล่าวถูกนำเสนอโดยเจ้าหน้าที่ IMF โดยระบุว่า ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงควรกำหนดราคาคาร์บอนระหว่าง 25-75 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนตามระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ (Level of Economic Development) ของแต่ละประเทศ

 

👉 เสนอเก็บราคาคาร์บอนตามระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ

 

ใน IMF ระบุว่า เพื่อจะทำให้มั่นใจได้ว่าต้นทุนของการเปลี่ยนผ่านจะถูกจัดสรรตามความรับผิดชอบที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ

 

ICPF จึงเสนอให้กำหนดราคาคาร์บอนขั้นต่ำที่ 25 ดอลลาร์ต่อตันสำหรับประเทศรายได้ต่ำ (Low-Income Countries) และ 50 ดอลลาร์สำหรับประเทศรายได้ปานกลาง (Middle-Income Countries) และ 75 ดอลลาร์สำหรับประเทศรายได้สูง (High-Income Countries) เพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น

 

👉 Carbon Pricing จะลดอุณหภูมิโลกได้ 2 องศาเซลเซียส 

 

IMF ยังได้จัดทำแบบจำลองโดยระบุว่า หาก ICPF ถูกนำมาใช้ในทุกประเทศ ‘พร้อมกัน’ จะทำให้เกิดประโยชน์สำคัญๆ หลายประการ เมื่อเปรียบเทียบกับแผนการอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายการลดอุณหภูมิโลกลง 2 องศาเซลเซียส

 

👉 การแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า

 

IMF ยังชี้อีกว่า การจัดทำข้อตกลงราคาคาร์บอนระหว่างประเทศ (ICPF) จะมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกเพียง ‘เล็กน้อย’ 

 

โดยตามการประมาณการของ IMF ระบุว่า ICPF จะฉุด GDP โลกลง 1.5% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่มีการกำหนดราคาคาร์บอน

 

ซึ่ง IMF มองว่า เป็นราคาที่คุ้มค่าที่จะสูญเสียไป เพื่อป้องกันค่าใช้จ่ายที่อาจสูงมากกว่า หากโลกไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ จนนำไปสู่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ตามที่ได้ระบุไว้ในรายงานล่าสุดของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ (IPCC)

 

👉 ICPF อาจลดมาตรการกีดกันการค้าได้

 

IMF ยังชี้ให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของ ICPF คือ ประเทศที่มีรายได้สูงไม่จำเป็นต้องกำหนดกำแพงภาษีอย่างมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Border Carbon Adjustment: BCA) ตัวอย่างเช่น CBAM ของสหภาพยุโรป

 

 

ภาพประกอบ: แพรวา บำรุงภักดิ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising