×

ทำไมบริษัทเอาแต่พูดเรื่องกำไร ไม่เห็นพูดเรื่องความสุขของพนักงานเลยคะ

25.07.2019
  • LOADING...
ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ความสุขของพนักงาน

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • บทความของ Harvard Business Review เรื่อง Making joy a priority at work โดย อเล็กซ์ หลิว บอกว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ผู้บริหารทุ่มงบประมาณกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้องค์กร เพื่อจะเชื่อมการทำงานระหว่างพนักงาน ลูกค้า และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กรให้ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน องค์กรก็กำลังเผชิญกับปัญหาของวัฒนธรรมองค์กร ทั้งการมีลำดับขั้นในที่ทำงานเยอะ และการมีพนักงานที่ขังตัวเองไว้ใน Comfort Zone จนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันโลก ไม่ยอมทำงานแบบใหม่ๆ ไม่ยอมเรียนรู้วิถีการทำงานแบบใหม่
  • อเล็กซ์ หลิว ลองเอาวิธีการทำงานของนักกีฬามาใช้กับการสร้างทีมในบริษัท และพบว่า มี 3 คำที่เป็นคีย์เวิร์ดของการสร้างทีมที่มีความสุข ได้แก่ Harmony, Impact และ Acknowledgement ซึ่งพนักงานที่มีความสุขมีแนวโน้มที่จะรู้สึกถึง 3 คำนี้ในองค์กร มากกว่าพนักงานที่ไม่มีความสุข
  • ความสุขของพนักงานเกิดจากการที่เขารู้ว่างานที่เขาทำนั้นมีความหมาย พนักงานที่รู้สึกว่าองค์กรของตัวเองมีส่วนขับเคลื่อนสังคมไปในทางบวก และรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในการผลักดันองค์กรให้ทำสิ่งนั้นสำเร็จ จะเป็นคนที่มีความสุขในงานมาก

Q: ความสุขของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญไหมคะ ทุกวันนี้ทำงานแล้วรู้สึกทุกข์ใจมาก มองไปรอบตัวก็เห็นทีมที่กำลังทุกข์อยู่ มาทำงานก็เจอแต่หัวหน้าบี้งานให้ได้ตาม KPI ไม่เคยถามลูกน้องเลยว่ามาทำงานแล้วมีความสุขไหม ถ้าต้องเลือกระหว่างกำไรกับความสุขของพนักงาน บริษัทควรเลือกอะไรมาก่อนคะ 

 

A: อย่างแรก ผมบอกตรงนี้เลยว่า ดีใจมากที่คุณมาแชร์กับผมว่า คุณอยากเห็นทีมมีความสุข เพราะในที่ทำงานนั้น เรามารวมตัวกันก็เพื่อทำงาน แต่บางคนโฟกัสที่งานอย่างเดียว จนลืมไปว่า คนที่ทำงานเป็นมนุษย์ที่มีความรู้สึก บี้แต่งานอย่างเดียว แต่ลืมคิดถึงหัวใจของคนทำงาน ก็จะไม่มีทางได้งานที่ดีได้หรอกครับ

 

ในมุมของผม ความสุขมันยิ่งใหญ่กว่าความสำเร็จอีกนะครับ มีความสำเร็จอย่างเดียวก็อาจจะไม่มีความสุขก็ได้ เคยไหมครับ ทีมประสบความสำเร็จด้านตัวเลข ฟาดยอดขายถล่มทลาย แต่คนในทีมแตกเป็นเสี่ยงๆ คนในทีมแย่งลูกค้ากัน แทงหลังกัน โยนขี้ใส่กัน ต่อให้ได้รางวัลมา ได้เสียงปรบมือกึกก้องแค่ไหน แต่ทีมไม่มีความสุข มันก็ไม่ใช่การทำงานที่ประสบความสำเร็จหรอกครับ

 

เพิ่งได้อ่านบทความของ Harvard Business Review เรื่อง Making joy a priority at work โดย อเล็กซ์ หลิว มา แล้วรู้สึกว่าน่าสนใจมาก เลยอยากมาแบ่งปันให้คนทำงานได้เรียนรู้ร่วมกันไปด้วยครับ

 

อเล็กซ์ หลิว บอกว่า ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ผู้บริหารทุ่มงบประมาณกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้องค์กร เพื่อจะเชื่อมการทำงานระหว่างพนักงาน ลูกค้า และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในองค์กรให้ได้มากขึ้น ขณะเดียวกัน องค์กรก็กำลังเผชิญกับปัญหาของวัฒนธรรมองค์กร ทั้งการมีลำดับขั้นในที่ทำงานเยอะ (ผมชอบเรียกว่ามี ‘ขนมชั้น’) และการมีพนักงานที่ขังตัวเองไว้ใน Comfort Zone จนไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันโลก ไม่ยอมทำงานแบบใหม่ๆ ไม่ยอมเรียนรู้วิถีการทำงานแบบใหม่ บริษัทใครเป็นบ้างครับ ผมว่ายกมือกันพรึ่บ!

 

‘ความสุข’ สามารถเป็นทางออกในการแก้ปัญหาเหล่านี้จาก 2 เหตุผลครับ เหตุผลแรกคือ มนุษย์ใฝ่หาความสุขอยู่แล้ว และสอง การมีความสุขเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงมนุษย์ด้วยกันได้ทรงพลังกว่าประสบการณ์ใดๆ ของมนุษย์เลยล่ะครับ

 

ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราดูกีฬา เวลาที่ทีมนักกีฬาแข่งขันกันสุดฝีมือ ก้าวข้ามผ่านทุกความท้าทายได้ ไม่ใช่แค่นักกีฬานะครับที่มีความสุข แต่พลังมันส่งมาถึงคนดูรอบสนามยันคนดูนอกสนามด้วย และนั่นแหละครับที่ทำให้ทีมยิ่งไปได้ไกลกว่าเดิม ในทางหนึ่ง ความสำเร็จสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้ และความสุขก็สามารถผลักดันให้เกิดความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้เช่นกัน

 

ในมุมของผม เราจำเป็นต้องประสบความสำเร็จก่อนไหมถึงจะเกิดความสุขได้ ผมคิดว่า เวลาเราตั้งนิยามความสำเร็จไว้เหมือนการพิชิตยอดเขา แล้วเราคิดว่าเราต้องขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุดก่อนถึงจะมีความสุขได้ มันดูไกลจังครับกว่าเราจะมีความสุขได้ แล้วเอาเข้าจริง พอปีนป่ายไปถึงยอดเขาแล้ว เราจะมีความสุขได้นานขนาดไหนกันครับ 

 

ผมคิดว่า เราน่าจะมีความสุขได้ตั้งแต่ระหว่างทางแล้ว ไม่ต้องรอให้มีความสุขที่ยิ่งใหญ่มากก่อนค่อยสุขทีเดียว ไม่ต้องไปรอหรอกครับให้ถึงเส้นชัยก่อนแล้วค่อยดีใจมีความสุข แต่ละวันเราควรมองหาความสุขให้เจอ ไม่ว่าจะอยู่ตีนเขา หลงทาง เจอเส้นทางใหม่ ไปได้ครึ่งทาง หรือแม้กระทั่งก้าวแรก เราควรมีความสุขได้หมด

 

เหมือนการเดินทางน่ะครับ ความสุขมันเริ่มต้นตั้งแต่เราวางแผนการเดินทาง เปิดเว็บไซต์โรงแรมก็ตื่นเต้น ดูที่ท่องเที่ยวตรงนั้นก็น่าไป ตรงนี้ก็น่าไป ดีใจอีกที่ไปได้ลายแทงของกินหรือร้านลับเฉพาะมาได้ จัดชุดก็สนุกว่าจะเอาใส่ชุดไหนไปดี ฯลฯ แล้วพอเดินทางจริงก็สุขได้ต่อ เราสุขตั้งแต่ยังไม่ออกเดินทางด้วยซ้ำ 

 

ว่าก็ว่าเถอะครับ รอไปมีความสุขตอนไปถึงยอดเขาก่อนนี่ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าชีวิตคนเราจะ ‘ทัน’ ได้ไปถึงตรงนั้นไหม มันอาจจะเกิดความไม่แน่นอนอะไรกับชีวิตก็ได้ สร้างความสุขให้เกิดตั้งแต่ตอนนี้ดีกว่า

 

อเล็กซ์ หลิว ลองเอาวิธีการทำงานของนักกีฬามาใช้กับการสร้างทีมในบริษัท และพบว่า มันมี 3 คำที่เป็นคีย์เวิร์ดของการสร้างทีมที่มีความสุขครับ

 

Harmony คือความสามัคคี สมาชิกในทีมแต่ละคนมีบทบาทต่อความสำเร็จ ทุกคนสำคัญหมด เหมือนทีมฟุตบอลที่การจะทำประตูได้ไม่ได้เกิดจากกองหน้าเพียงคนเดียว แต่เกิดจากการทำงานที่สอดประสานกันหมด ตั้งแต่ผู้เล่นในสนามยันโค้ชและสมาชิกนอกสนาม ทุกคนทำหน้าที่ต่างกัน แต่สามัคคีกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน เอาความเก่งของแต่ละคนมาผนึกกำลังกันได้ยิ่งดี

 

Impact คือการสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ ความสามัคคีนำไปสู่พลังที่ยิ่งใหญ่นี่แหละครับ ยิ่งสามัคคีกันมาก ยิ่งเหนียวแน่นกันมาก ก็จะยิ่งรักกัน ยิ่งเข้าขากัน ต่อให้มีความสำเร็จแม้เพียงน้อยนิด แต่ความสุขก็ยังเต็มเปี่ยมในทีมได้ 

 

Acknowledgement คือการยอมรับยกย่องให้ความสำคัญ ทุกคนต้องการได้รับการชื่นชมผลงาน คนไหนทำดี ทุกคนต้องชื่นชม ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความหมายต่อทีม

 

ถ้าจะเสริม อเล็กซ์ หลิว ผมนึกถึงเวลาดูวอลเลย์บอลครับ ผมสังเกตว่าทีมเก่งๆ นี่เวลาทีมทำคะแนนได้ ทุกคนก็กอดกัน ยินดีร่วมกัน แต่เวลาใครทำเสียแต้ม ผมก็ยังเห็นสมาชิกในทีมวิ่งไปตบบ่า วิ่งไปกอดกันเหมือนเดิม ไม่มีใครฟึดฟัดอารมณ์เสียว่าเสียแต้ม เช่นเดียวกัน คนที่ทำเสียแต้ม ผมก็ยังเห็นว่าเขาหันไปขอโทษคนในทีมเสมอ

 

ในเกมการแข่งขัน สถานการณ์มันเครียดมากนะครับ แต่ถ้าบริหารทีมนักกีฬาดีๆ เราจะเห็นว่าเขายังยิ้มออกได้เสมอ ทีมทำงานอย่างพวกเราก็เหมือนกันครับ

 

A.T.Kearney ได้ทำวิจัยสำรวจในเดือนธันวาคม ปี 2018 กับมนุษย์ออฟฟิศทั้ง 5 ทวีป จำนวน 500 คน ในกลุ่มบริษัทที่มีผลประกอบการมากกว่า 2 พันล้านในอุตสาหกรรมที่หลากหลายกันไป พบว่า พนักงานที่มีความสุขมีแนวโน้มที่จะรู้สึกถึง Harmony, Impact และ Acknowledgement ในองค์กร มากกว่าพนักงานที่ไม่มีความสุข

 

ตัวอย่างเช่น หมวด Harmony พบว่า พนักงานที่มีความสุข 74% เข้าใจบทบาทของตัวเองและคนอื่นในทีม ในขณะที่พนักงานที่ไม่มีความสุข 48% ไม่เข้าใจบทบาทของตัวเองและคนอื่นในทีม พนักงานที่มีความสุข 72% รู้สึกผูกพันแนบแน่นกับคนในทีม ในขณะที่พนักงานที่ไม่มีความสุข 48% ไม่รู้สึกเช่นนั้น

 

หมวด Impact พบว่า พนักงานที่มีความสุข 74% รู้สึกว่าได้ใช้ความสามารถของตัวเองอย่างเต็มประสิทธิภาพ ในขณะที่พนักงานที่ไม่มีความสุข 39% รู้สึกตรงข้าม พนักงานที่มีความสุข 74% รู้สึกว่าตัวเองมีบทบาทต่อความสำเร็จของทีม แต่พนักงานที่ไม่มีความสุข 44% ไม่รู้สึกแบบนั้น ฯลฯ

 

หมวด Acknowledgement พบว่า พนักงานที่มีความสุข 75% บอกว่ามีการแชร์ความสำเร็จร่วมกันในทีม ในขณะที่พนักงานที่ไม่มีความสุข 50% บอกว่าไม่มี พนักงานที่มีความสุข 69% บอกว่าเพื่อนร่วมงานยกย่องคนในทีมว่ามีส่วนต่อความสำเร็จในทีม แต่พนักงานที่ไม่มีความสุข 44% บอกว่าไม่

 

งานวิจัยชิ้นนี้บอกเราว่า ความสุขของพนักงานเกิดจากการที่เขารู้ว่างานที่เขาทำนั้นมีความหมาย พนักงานที่รู้สึกว่าองค์กรของตัวเองมีส่วนขับเคลื่อนสังคมไปในทางบวก และรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในการผลักดันองค์กรให้ทำสิ่งนั้นสำเร็จ จะเป็นคนที่มีความสุขในงานมาก

 

ผมมีโอกาสได้คุยกับน้องๆ ที่เป็นทาเลนต์หรือกลุ่มพนักงานความหวังขององค์กร (จะเรียกว่าเป็นความหวังของหมู่บ้านก็ได้) เขามองหาองค์กรที่ทำสิ่งที่มากไปกว่าธุรกิจ มองหาองค์กรที่ขับเคลื่อนทางสังคมด้วยวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ ว่ากันง่ายๆ คือ บรรดาทาเลนต์เขาไม่ได้อยากอยู่กับองค์กรที่ทำกำไรสูงๆ อย่างเดียว แต่อยากอยู่กับองค์กรที่ได้ทำอะไร เพื่อให้สังคมเดินไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นเอาตัวเลขกำไรบริษัทมาคุยกับพวกเขามันไม่ได้เซ็กซี่อีกแล้วครับ เขาต้องการ Purpose ขององค์กรที่ใหญ่กว่านั้น ใหญ่กว่าการทำธุรกิจ เขาถึงจะรู้สึกว่างานที่เขาทำมีความหมาย และนั่นแหละครับ ความสุขของเขา

 

ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องกลับมามองความสุขของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ โดยไม่ใช่มองแค่ความสุขที่เป็นตัวเงินอย่างเดียวแบบแต่ก่อน แต่ต้องมองความสุขของพนักงานเป็นการทำให้เขามีคุณค่า การที่ทำให้เขารู้สึกว่ามาทำงานแล้วมีความหมาย ได้ใช้ศักยภาพตัวเองเต็มที่ ได้มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับคนในทีม และที่สำคัญคือ ได้มีส่วนผลักดันขับเคลื่อนสังคมที่มากไปกว่าในมุมธุรกิจ

 

ลองทำให้พนักงานเห็นสิครับว่า สิ่งที่เขาทำอยู่ทุกวันมันไปเปลี่ยนแปลงชีวิตคนอื่นให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ถ้าเขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่แค่การทำงาน แต่เป็นการเปลี่ยนชีวิตคนอื่นให้ดีขึ้น เขาก็จะมีความสุขและอยากทำงาน เพื่อทำให้คนอื่นมีความสุขไปด้วยครับ

 

ถ้าให้เจ๋งเลยนะครับ ผมอยากเห็นองค์กรที่เอาความสุขของพนักงานเป็น KPI ของผู้บริหาร นอกจากตัวเลขกำไร เราจะดูแลลูกค้าให้มีความสุขได้อย่างไร ถ้าพนักงานของเรายังไม่มีความสุขเลย เราจะมีกำไรไว้ทำไม ถ้าทำตัวเลขได้ถึง แต่พนักงานรู้สึกทุกข์เหลือเกิน เพราะโดนบีบโดนบี้เรื่องยอดขายอยู่ตลอดเวลา

 

พอกำหนดเป็น KPI ของผู้บริหารแล้วว่า ต้องทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุขด้วย คุณว่าเราจะยังมีวัฒนธรรมองค์กรที่หัวหน้ารังแกลูกน้องไหมครับ เราจะมีหัวหน้าที่ชอบเห็นลูกน้องทำงานดึกๆ ไหม เราจะมีหัวหน้าที่พูดจาไม่ดีกับลูกน้องไหม เราจะมีการแทงข้างหลังในที่ทำงานไหม เราจะมีการเมืองในที่ทำงานไหม ฯลฯ สิ่งที่เราจะได้เห็นคือ ผู้บริหารจะใส่ใจพนักงาน ส่งเสริมพนักงาน เห็นความสำคัญของพนักงาน (เสียที)   

 

และมันเด็ดตรงให้พนักงานนี่แหละครับเป็นคนประเมินผู้บริหาร ผมว่าดีออก!

 

แล้วหัวหน้าทั้งหลายครับ ถ้าพนักงานเขามีความสุข คุณไม่ต้องกลัวเลยครับว่าเก้าอี้คุณจะสั่น คุณเป็นผู้ให้ก่อน คุณก็จะได้รับกลับมาด้วยเหมือนกัน ได้ทีมที่มีความสุข ทีมที่รักกัน ทีมที่เขามองหัวหน้าว่าหัวหน้ารักเขา ให้ความสำคัญกับเขา ให้ต้องไปสู้กับอะไรก็สู้ไม่ถอยแล้วล่ะครับ

 

มีพนักงานที่มีความสุขนี่แหละครับ กำไรของบริษัท ไม่ใช่แค่กำไรเฉพาะปีนั้นนะครับ แต่เป็นกำไรระยะยาว ต่อให้วันหนึ่งเขาจะลาออกไป แต่บริษัทเราทำให้มนุษย์คนหนึ่งมีความสุขและกลายเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงได้ เขาไปอยู่ไหน เขาก็เติบโตและไปสร้างความเจริญได้หมด และไม่ว่าเขาอยู่ที่ไหน เขาจะคิดถึงองค์กรของเรา แม้เขาจะลาออกไปแล้ว แต่เขาจะพูดถึงองค์กรเราในทางที่ดี คุณว่ามันเจ๋งแค่ไหนล่ะที่เราสามารถทำให้คนที่ลาออกไปแล้วยังพูดถึงบริษัทเก่าด้วยความชื่นชมตลอด 

 

ถ้าลองเขียนเป้าหมายขององค์กรเป็นแบบนี้ล่ะครับ “เราจะทำให้พนักงานมีความสุข เพื่อที่เราจะได้ให้พนักงานที่มีความสุขนี่แหละไปทำประโยชน์ให้องค์กร ไปดูแลลูกค้า ไปขับเคลื่อนสังคมให้ทุกคนมีความสุข” 

 

มีบริษัทไหนอยากเปลี่ยน KPI เป็นความสุขของพนักงานบ้างไหมครับ

 

ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising