×

‘พาณิชย์’ ยืนยัน ไทยยังเป็นประเทศเงินเฟ้อระดับต่ำ แม้ตัวเลขเดือน มิ.ย. พุ่งแตะ 7.66%

05.07.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้ากรอบเงินเฟ้อปีนี้ไว้ที่ 4-5% แม้เงินเฟ้อเดือนมิถุนายนพุ่งแตะ 7.66% ทำสถิติสูงสุดในรอบหลายปีอีกครั้ง ยืนยันไทยยังเป็นประเทศเงินเฟ้อระดับต่ำ โดยอยู่ในลำดับที่ 87 จาก 123 ประเทศทั่วโลก

 

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยสาเหตุหลักยังคงมาจากราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม และอาหาร ซึ่งมีสัดส่วนถึง 61.83% และ 34.27% ในการคำนวณเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากฐานเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ต่ำ ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 ปรับเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว) ขยายตัว 2.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) ปี 2565 สูงขึ้น 5.61%

 

ทั้งนี้ สินค้า 3 หมวดสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิถุนายนอยู่ที่ระดับ 7.66% ประกอบด้วย

 

  1. กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 39.97% จึงส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนถึง 61.83% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มพลังงานประกอบด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง มีอัตราการเติบโตของราคา 39.45% ค่าไฟฟ้า 45.41% และราคาก๊าซหุงต้ม 12.63%

 

  1. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคา 6.42% จึงส่งผลให้กลุ่มอาหารมีสัดส่วน 34.27% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และเครื่องประกอบอาหาร สาเหตุที่กลุ่มอาหารมีราคาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารทุกขั้นตอน ตลอดจนเป็นต้นทุนโลจิสติกส์และราคาวัตถุดิบทั้งหมด

 

  1. สินค้าอื่นๆ มีสัดส่วน 3.9% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ เช่น สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ของใช้ส่วนบุคคล (สบู่ ยาสีฟัน) ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ (บุหรี่ เบียร์ สุรา) และค่าโดยสารสาธารณะ ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

 

ในทางกลับกันก็พบว่ามีสินค้าสำคัญอีกหลายรายการที่ราคาปรับลดลง เช่น

 

  1. กลุ่มข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 2.73% โดยเฉพาะราคาข้าวสาร เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก และการจัดโปรโมชันตามห้างสรรพสินค้า

 

  1. กลุ่มผลไม้สด ลดลง 2.53% เช่น เงาะ มังคุด ลองกอง ตามปริมาณผลผลิตที่มีค่อนข้างมาก

 

  1. กลุ่มการสื่อสาร ลดลง 0.08% เช่น ค่าส่งพัสดุไปรษณีย์และค่าเครื่องรับโทรศัพท์มือถือ

 

ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย (CPI) เดือนมิถุนายน 2565 เท่ากับ 107.58 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 (106.62) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.90% ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่สูงขึ้น 1.40% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่พยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ และผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรึงราคาขายปลีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยคำนึงถึงการได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค

 

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวสูงขึ้น 13.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 5.5% สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง เนื่องจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ทั้งน้ำมัน ถ่านหิน และอะลูมิเนียม

 

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ระดับ 44.3 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.7 สาเหตุเกิดจากความกังวลของประชาชนต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันซึ่งเกิดจากมาตรการคว่ำบาตรของประเทศพันธมิตรต่อประเทศรัสเซีย ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทย

 

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4.0-5.0% (ค่ากลางอยู่ที่ 4.5%) โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 3 ปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 2 แต่จะเริ่มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสที่ 4 ที่มีฐานการคำนวณเงินเฟ้อที่สูงในปีที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

 

รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า การคาดการณ์เงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปียังเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญหลายตัว เช่น การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ มาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐไทยเอง การส่งออก การท่องเที่ยว ทิศทางค่าเงินบาท ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์โควิดและผลผลิตทางการเกษตร

 

“เรายังคงคาดการณ์เงินเฟ้อไว้ในกรอบ 4-5% และจะยังไม่ปรับประมาณการจนกว่าปัจจัยหลายๆ ตัวจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ อย่างไรก็ดี หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกจะพบว่าเงินเฟ้อไทยไม่ได้สูงมากและไทยยังถูกจัดให้เป็นประเทศเงินเฟ้อต่ำ โดยในเดือนที่ผ่านมาระดับเงินเฟ้อของไทยอยู่ที่ 87 จากทั้งหมด 123 ประเทศ และล่าสุดธนาคารโลกก็คาดว่าเงินเฟ้อไทยทั้งปีนี้อาจจะอยู่ที่เพียง 5.2% เท่านั้น” รณรงค์กล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X