ผลพวงราคาโกโก้พุ่งสูงมากสุดในรอบ 46 ปี กระทบต้นทุนผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ M&M และขนมหวาน Cadbury ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ ย้ำ ไม่เปลี่ยนสูตร หวังรักษามาตรฐานธุรกิจระยะยาว แต่อาจต้องเพิ่มสินค้าใหม่เสริมพอร์ตโฟลิโอ
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ท่ามกลางวิกฤตสภาพอากาศเลวร้ายบวกกับโรคระบาด ทำให้โกโก้ราคาพุ่งขึ้นในรอบ 46 ปี ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าขนมช็อกโกแลตแบรนด์ M&M และขนมหวาน Cadbury ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่และอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้าในที่สุด
ย้อนไปในเดือนพฤษภาคม ราคาโกโก้ในตลาดสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11,000 ดอลลาร์ต่อตัน หรือ 3.7 แสนบาทต่อตัน จากเดิม 2,500 ดอลลาร์ต่อตัน สอดคล้องกับสิ่งที่ประเทศกานาในแอฟริกาตะวันตก ผู้ผลิตโกโก้รายใหญ่อันดับสองของโลกประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะชะลอการส่งวัตถุดิบมากถึง 3.5 แสนตัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สะเทือนใจ! ราคาช็อกโกแลตวาเลนไทน์พุ่งตามราคาโกโก้ที่สร้างนิวไฮ
- เตรียมเจอ ยุคโกโก้แพง! หลังราคาฟิวเจอร์พุ่งแตะระดับสูงสุดรอบ 46 ปี นักวิเคราะห์เตือน Rally ยังไม่จบ
- ช็อกโกแลตสั่นสะเทือน! โลกเผชิญวิกฤตโกโก้ร้ายแรงที่สุดในรอบ 60 ปี จนราคาพุ่ง 3 เท่า…
ขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าในปีนี้ราคาโกโก้จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตอย่างมาก โดยเฉพาะแบรนด์ช็อกโกแลตชื่อดังอย่าง M&M บริษัทมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังมีข้อดีที่ปีนี้บริษัทได้เซ็นสัญญาล็อกราคากับซัพพลายเออร์ให้ส่งวัตถุดิบโกโก้ระยะยาวไว้แล้ว แต่เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงในปี 2025 ก็ต้องมาบริหารจัดการราคาต้นทุนโกโก้อีกครั้ง
ด้าน Daniel Fachner เจ้าของแบรนด์ Dippin’ Dots, SuperPretzel และ ¡Hola! Churros กล่าวว่า สินค้าส่วนใหญ่ในพอร์ตโฟลิโอมี โกโก้ เป็นส่วนผสมหลัก แม้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่เราจะไม่ปรับสูตรหรือลดคุณภาพสินค้าแน่นอน แต่ต้องพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าล็อตใหม่ ซึ่งหลังจากขึ้นราคาแล้วต้องมาดูว่าผู้บริโภคจะให้การตอบรับมากน้อยแค่ไหน
Nik Modi นักวิเคราะห์ของ RBC Capital Markets กล่าวว่า บริษัทต้องมองหาวิธีแก้ปัญหาต้นทุนในระยะยาว ซึ่งหมายถึงการปรับสูตรผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อย่างการนำพืชตระกูลถั่ว, เมล็ดองุ่น และน้ำมันมะพร้าว มาใช้พัฒนาสินค้าใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาวัตถุดิบอย่างโกโก้
และอีกแนวทางหนึ่งคือต้องให้รัฐบาลช่วยควบคุมราคาวัตถุดิบ แต่จริงๆ แล้วการปรับตัวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 9 เดือน
ด้าน Luca Zaramella, CFO แบรนด์ Mondelez กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า จะดำเนินการลดต้นทุนแต่จะไม่เปลี่ยนสูตรเพื่อรักษามาตรฐานของธุรกิจให้ได้ในระยะยาว และก่อนหน้านี้เราได้กระจายความเสี่ยงพัฒนาสินค้าที่ไม่ใช่แค่ขนมช็อกโกแลตอย่างขนมรสเค็มและเยลลี่ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค
อ้างอิง: