×

ทำไมเราถึงกลัวแมลงสาบ

18.09.2019
  • LOADING...
ทำไมเราถึงกลัวแมลงสาบ

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • หาคำตอบว่าทำไมเราถึงกลัวแมลงสาบ และความรู้สึกรังเกียจแมลงของคนเรานั้นเกิดจากการเลี้ยงดูบอกต่อที่สั่งสมกันมา มากกว่าเกิดจากความรู้สึกตามธรรมชาติจริงหรือ
  • 4,600 คือตัวเลขสายพันธุ์ของแมลงสาบขาเยอะรอบโลก และบางสายพันธุ์ก็ทำให้เกิดภูมิแพ้หอบหืดเอาได้ แม้หน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention) ของอเมริกาจะบอกว่ามีหลักฐานเพียงเล็กน้อยที่เชื่อมโยงก็ตาม
  • คุณลักษณะหลายๆ อย่างของแมลงสาบกระตุ้นความรู้สึกขยะแขยงในตัวเราความกลัวและความรู้สึกรังเกียจเป็นอารมณ์เชิงลบสองประการของมนุษย์ อันหนึ่งชี้ว่าเกิดเหตุอันตรายฉับพลัน และอีกอันบอกว่ามีแนวโน้มทำให้เป็นโรคคือติดเชื้อ และเมื่อสองความรู้สึกนั้นผนวกเข้าด้วยกัน ความรู้สึกจึงทวีคูณยิ่งขึ้น 

เพลงใหม่เพราะพริ้งของ Honne เปิดคลอเป็นฉากหลัง คุณกำลังง่วนอยู่กับการทำความสะอาดห้องน้ำ คิดกับตัวเองว่าวันนี้ช่างเป็นวันที่ไม่เลวเลย ทันใดนั้น กลิ่นไม่พึงประสงค์ก็ลอยมาจากที่ไหนสักแห่ง คุณคุ้นเคยกับกลิ่นชวนเบ้ปากนี้ดี และทันทีที่มองหา คุณก็ได้สบตากับแขกหนวดกระดิกไม่ได้รับเชิญที่ปรากฏตัวจากไหนก็ไม่รู้ 

 

‘แมลงสาบ’ ปรากฏตัวอยู่ตรงหน้าคุณแล้ว

 

 

คงมีแค่ใน Wall-E (2008) ที่แมลงสาบ ‘เหมือนจะ’ น่ารักได้

 

ดิฉันเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ใจเด็ดพอคว้าแตะหนีบ หรือหนังสือพิมพ์ใกล้ตัวจัดการมัน คนกลุ่มนี้ไม่ผงะถอยหลังหรือวิ่งแจ้นไปตามคนมาช่วย แต่ทำไมล่ะ? แมลงสาบตัวใหญ่สีน้ำตาลเป็นมัน แถมยังไต่ยั้วเยี้ยเป็นมาเฟียเจ้าแห่งกองขยะและท่อน้ำอับชื้น รูปร่างที่ไม่ได้สวยระหงดุจผีเสื้อของมันเพิ่มความสยดสยองเข้าไปใหญ่ ทั้งยังอยู่บนโลกนี้มานับล้านปีตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ และที่พีกที่สุด พวกมัน บิน! ทั้งยังมีหลักฐานเชื่อว่าแม้นิวเคลียร์จะถล่มโลกกวาดล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ แต่พวกมันจะดำรงอยู่ต่อไป โบยบินครองโลกมนุษย์ได้อย่างเสรี

 

 

 

แต่ทำไมเราถึงกลัวแมลงสาบ

 

เมื่อพูดถึงอันตรายที่พวกมันนำพามาสู่สุขภาพของมนุษย์แล้ว เทียบกับงู จระเข้ กระทั่งหมี ปฏิกิริยาตอบสนองของเราต่อแมลงสาบนั้นไม่เป็นเหตุเป็นผล เจฟฟรีย์ ล็อกวูด (Jeffrey Lockwood) ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยไวโอมิงของสหรัฐฯ เผยกับนิตยสาร Time เขาเป็นผู้เขียนหนังสือ The Infested Mind: Why Humans Fear, Loathe, And Love Insects ทั้งยังเสริมว่า ความรู้สึกรังเกียจแมลงของคนเรานั้นเกิดจากการเลี้ยงดูบอกต่อที่สั่งสมกันมา มากกว่าเกิดจากความรู้สึกตามธรรมชาติ

 

“เด็กเล็กมีแนวโน้วที่จะสัมผัสหรือเข้าไปเล่นกับแมลงอย่างใกล้ชิดกว่าผู้ใหญ่” เขากล่าว แต่ในฐานะที่เกิดและเติบโตในเมืองไทย พวกเราเรียนรู้ตั้งแต่เด็กว่าแมลงสาบไม่ใช่สัตว์เลี้ยง (แม่คงไม่ปลื้มแน่ถ้าคุณเอามาใส่กรงเลี้ยง) และไม่ใช่แขกที่น่าต้อนรับเหมือนกับเต่าทองหรือผีเสื้อ แถมยังเป็นพาหะนำโรคที่ควรอยู่ห่างให้ไกล จึงไม่แปลกใจที่ทันทีที่เจ้าหลายขาปรากฏตัว เราจึงรู้สึกว่าควรกำจัดมันเสีย

 

 

 

หรือความกลัวของเราเกิดจากการเรียนรู้กันแน่

 

ฉันลองสอบถามคนรอบตัวที่เกลียดและกลัวแมลงสาบพอๆ กัน คนเกือบทั้งหมดตอบเป็นเสียงเดียวว่าเกิดจากประสบการณ์ที่ฝังใจในวัยเด็ก บ้างแมลงสาบไต่หน้า บินเข้าใส่ ไต่อยู่ในจุดไม่พึงประสงค์ กระทั่งทอดกรอบร่วมอยู่กับจานอร่อยในร้านข้าวต้มปากซอย และยังพบอีกว่าเมื่อยิ่งกลัว ก็ยิ่งพบเจอ

 

ในลิสต์ของความกลัว (phobia) ยอดฮิต หนึ่งในนั้นคือกลัวตัวตลก ซึ่งแท้จริงแล้วคนอาจไม่กลัวตัวตลกนัก ก่อนที่นักเขียนชื่อดัง สตีเฟน คิง (Stephen King) จะเขียนเรื่อง It จนตีแผ่ความน่ากลัวนำมาทำเป็นภาพยนตร์ที่คนผวาไปทั่วโลก

 

แม้ โน้ต-อุดม แต้พานิช จะตั้งชื่อเอาไว้อย่างน่ารักเมื่อหลายเดี่ยวไมโครโฟนมาแล้ว ความขยาดเจ้า ‘ปีเตอร์’ ที่บ้างอาจมองว่าไม่ค่อยมีเหตุผล (พ่อของดิฉันคนหนึ่งล่ะ) แต่เจฟฟรีย์บอกว่าความกลัวแมลงสาบอาจไม่ได้เป็นเรื่องไร้สาระเสียทั้งหมด

 

4,600 คือตัวเลขสายพันธุ์ของแมลงสาบรอบโลก และบางสายพันธุ์ก็ทำให้เกิดภูมิแพ้ หอบหืดเอาได้ แมลงสาบยังเป็นพาหะนำโรคจากแบคทีเรียได้ แม้ว่าหน่วยงานควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention) ของสหรัฐอเมริกาจะบอกว่ามี ‘หลักฐานเพียงเล็กน้อย’ ที่เชื่อมโยงพวกเข้ากับการระบาดของโรคก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับแมลงที่ ‘ทำร้าย’ คุณได้จริงๆ แล้ว ปีเตอร์กลับมีแนวโน้มความอันตรายที่ต่ำมาก “คุณอาจเถียงได้ว่าแท้จริงแล้วยุงกลับเป็นแมลงที่อันตรายที่สุดในโลก” เจฟฟรีย์เสริมอีก “แต่เห็นได้ชัดว่าปฏิกิริยาที่เรามีเมื่อเห็นยุงไม่เหมือนที่เราเห็นแมลงสาบ”

 

 

 

ถ้าอย่างนั้นอะไรเกี่ยวกับแมลงสาบที่ทำให้เราขนลุกขนพองล่ะ

 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า คุณลักษณะหลายๆ อย่างของแมลงสาบกระตุ้นความรู้สึกขยะแขยงในตัวเรา “ความกลัวและความรู้สึกรังเกียจเป็นอารมณ์เชิงลบสองประการของมนุษย์ อันหนึ่งชี้ว่าเกิดเหตุอันตรายฉับพลัน และอีกอันบอกเราว่ามีแนวโน้มทำให้เป็นโรคหรือติดเชื้อได้” เขาอธิบาย และเมื่อสองความรู้สึกนั้นผนวกเข้าด้วยกัน ความรู้สึกจึงทวีคูณยิ่งขึ้น 

 

“แมลงสาบตัวมันย่องและมีน้ำมันอยู่ในตัว นั่นเป็นสัญญาณหนึ่งที่ชวนให้รู้สึกขยะแขยง โดยเฉพาะเมื่อคุณเหยียบมัน เสียงบี้ ความรู้สึกและคราบสกปรกจากปัสสาวะที่ทิ้งเอาไว้ยิ่งทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมคนเราถึงไม่ชอบพวกมัน” เจฟฟรีย์กล่าว

 

นอกจากนั้นยังมีกลิ่นเหม็น อันเกิดจากการเก็บกรดยูริคในร่างกายอันเป็นองค์ประกอบสำคัญของปัสสาวะมนุษย์ และยิ่งใช้เวลาในท่อมากเท่าไร พวกมันก็ยิ่งทวีความเหม็นฉี่สะสมกับกลิ่นที่อยู่ในท่อมากขึ้นเท่านั้น ที่สำคัญ “พวกมันยังเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับแมลงมีปีกชนิดอื่นๆ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน แมลงสาบอาจจัดว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่รวดเร็วที่สุดในโลก” เขาเสริมต่อ มีการทดลองจับเวลาแมลงสาบอเมริกันเคลื่อนไหวอยู่ที่ 3.5 ไมล์ต่อชั่วโมง (เทียบแล้วพอๆ กับมนุษย์ผู้ใหญ่ที่วิ่งเร็วกว่า 200 ไมล์ต่อชั่วโมงด้วยกัน) จะว่าไปพวกมันก็ไม่ต่างกับผีในหนังสยองขวัญ คุณเพิ่งเห็นมันอยู่บนพื้น และไม่ทันไรมันก็สร้างความขวัญผวามาขยับหนวดอยู่บนเสื้อคุณแล้ว

 

และดังที่คนกลัวแมลงสาบรู้กัน พวกมันไวและแอบเก่งเป็นเลิศ ทั้งยังพรางตัวเก่งเพื่อเลี่ยงการถูกจับ ไม่ว่าจะซอกเฟอร์นิเจอร์ หลังตู้เย็น หรือใต้ตู้แคบๆ กระทั่งพื้นที่ส่วนตัวสุดๆ ของมนุษย์ เมื่อรวมลักษณะของพวกมันเข้าด้วยกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมเราถึงมองว่ามันช่างเป็นสัตว์ที่น่าขยะแขยง

 

ผู้เขียนหนังสือ The Infested Mind: Why Humans Fear, Loathe, And Love Insects ยังบอกอีกว่า “ผมมองว่าความกลัวของเราไม่ได้มาตั้งแต่เกิด แต่มาจากการเรียนรู้ที่จะรู้สึกกลัว และแมลงสาบก็เป็นหนึ่งในนั้นจากคุณลักษณะที่ชวนน่ากลัวของพวกมัน” เขายังเผยอีกด้วยว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวให้คนกลัวหรือแขยงกระต่ายน้อยหรือลูกหมา แม้สมมติว่าพรุ่งนี้มีการเปิดเผยครั้งใหญ่ว่าพวกมันเป็นพาหะนำโรคร้ายก็ตาม

 

 

 

แสดงว่าเรากลัวแมลงสาบเพื่อความอยู่รอดสินะ

 

“ถ้าเราไม่กลัวสัตว์ร้าย เราก็สูญพันธุ์ ความกลัวนี่แหละที่ทำให้เรามีวิวัฒนาการ” นายแพทย์พร ทิสยากร อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้บริหารกายใจคลินิกบอกกับฉัน พร้อมกับตั้งคำถามต่อ

 

“คำถามคือถ้ามนุษย์ไม่กลัวแมลงสาบ จะเกิดอะไรขึ้นกับเผ่าพันธุ์มนุษย์ ถ้าเราจัดให้มันอยู่หมวดเดียวกับเต่าทอง เราปล่อยให้มันยั้วเยี้ยเต็มบ้าน จะเกิดอะไรขึ้นกับวิวัฒนาการของมนุษย์บ้าง” บ้านที่ยั้วเยี้ยไปด้วยแมลงสาบคงไม่ใช่บ้านที่น่าอยู่เป็นแน่ ทั้งมีแนวโน้มที่จะเต็มไปด้วยเชื้อร้ายและแบคทีเรียสั่งสมที่ทำให้เกิดโรค ดังนั้นเราอาจป่วยมากขึ้นเหตุเพราะแมลงสาบเป็นสัตว์ที่นำโรคเมื่อเทียบกับเต่าทองหรือจิ้งจก ตุ๊กแก “และถ้ามันนำโรค เราก็มีเหตุผลว่าทำไมเราถึงมองว่ามันน่ากลัว” 

 

เขายังตั้งคำถามอีกว่า “ถ้ามีข้าวจานหนึ่งอยู่แล้วมีเต่าทองบินมาอยู่ในจาน คุณปัดทิ้ง คุณจะกินมันต่อไหม แล้วถ้าเปลี่ยนเป็นแมลงสาบล่ะ คุณจะกินต่อไหม” คำตอบที่ได้สื่อถึงความสกปรกจากเชื้อโรคที่พวกมันพกมาฝากจากบ้าน ซึ่งทำให้เรารู้สึกถึงอันตรายได้ นอกจากนั้นยังรวมถึงความไม่แน่นอน คาดเดาไม่ได้ เพราะยากจะรู้ว่าเจ้าหนวดจะถอยหน้า ถอยหลัง หรือพุ่งเข้าหาคุณกันแน่

 

“เราไม่ได้ถูกสอนในห้องเรียนให้กลัวแมลงสาบ แต่เป็นสัญชาตญาณของเราในระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่ใช่การเรียนรู้ปลูกฝังแต่อย่างเดียว” นายแพทย์พรบอก “มีการทดลองที่น่าสนใจหนึ่งที่ถ้าหากทำในปัจจุบันถือว่าผิดจริยธรรม แต่ให้ข้อมูลกับเราได้ นั่นคือการทดลอง Little Albert Experiment ที่นำเด็ก 9 เดือนมาอยู่ข้างๆ กระต่ายขนฟูหรือหนูแฮมสเตอร์น่ารักๆ ซึ่งเด็กก็เล่นด้วยดี จากนั้นจึงตีฉาบทุกครั้งเมื่อเด็กสัมผัสกับสิ่งน่ารักพวกนั้น จนจุดหนึ่งเด็กแสดงความกลัวสิ่งขนฟูเหล่านั้นขึ้นมา ซึ่งเกิดจากการขยายของความกลัวหรือการจับคู่ของความกลัว นี่คือการเรียนรู้ให้กลัว หรือ Nurture แต่ในแง่ของแมลงสาบแม้จะเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะเรากลัวแมลงสาบจากสัญชาตญาณธรรมชาติ นั่นคือ Nature ทำให้เรากลัวแมลงสาบโดยอัตโนมัติ” 

 

ทั้งนี้คุณหมอกล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่ผมพูดมาผมอาจจะ bias ก็ได้ เพราะผมเองก็กลัวแมลงสาบ”

 

แม้จะอ่านหมดนี่แล้ว คุณอาจได้คำตอบว่าทำไมเราถึงขยาดกลิ่นสาบ ขายึกยือ และหน้าท้องสยองจากยุคล้านปีของปรปักษ์ร่วมโลก แต่ครั้งหน้าที่เจ้าสัตว์ประหลาดในห้องน้ำปรากฏตัว เราก็ได้แต่ขอให้คุณขยับร่างไว คว้าดีดีทีที่ยังไม่หมดขวดได้ทันท่วงทีเช่นเคย

 

 

 

อ่านเรื่อง งานวิจัยระบุ ยาฆ่าแมลงสาบอาจใช้ไม่ได้ผล หลังพบแมลงสาบดื้อยา-สร้างภูมิต้านทานอย่างรวดเร็วได้ที่นี่

 

ภาพเปิด: กริน ลีราภิรมย์

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X