×

ทำไม THE STANDARD ต้องเสียเวลาไปทำคอนเทนต์วัฒนธรรมไกลถึงนิวยอร์ก ในยุคที่สื่อโดน disrupt

29.07.2019
  • LOADING...

คำว่า ‘อึดอัด’ ‘โลกที่สาม’ และ ‘จำเจ’ อาจเป็นคำในแง่ลบสำหรับหลายคน แต่สำหรับผมแล้ว 3 คำนี้คือแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างสรรค์โปรเจกต์ที่ชื่อ City Vibes: New York ของ THE STANDARD ที่ผมหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของการผลิตคอนเทนต์เชิงวัฒนธรรมสำหรับประเทศไทย และทำให้เห็นว่าในยุคที่ทุกอย่างถูกเล่นต่างๆ นานาว่า ‘Exclusive’ หรือ ‘ระดับโลก’ จริงๆ แล้วคอนเทนต์อะไรที่เหมาะสมกับคำเหล่านี้

 

เมื่อประมาณเดือนตุลาคม ปี 2018 ผมตกอยู่ในภวังค์ที่นั่งถามตัวเองเกือบทุกวันว่าเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรให้งานยังสนุกและท้าทายอยู่ตลอดเวลา เพราะ ณ ตอนนั้น THE STANDARD ก็ถือว่าเริ่มฮิตติดลมบน มียอดแชร์ ยอดเอ็นเกจเมนต์ และยอดวิววีดีโอแบบที่ทำให้รู้สึกว่างานที่เราทำออกไปมีคนเห็นจริงๆ แต่ในขณะเดียวกันผมก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในวัฏจักรของการทำอะไรเดิมๆ เขียนบทความ เขียนอัปเดตง่ายๆ พอให้หัวหน้าเห็นว่าเราก็มีงานส่ง ซึ่งหากเราจะเป็นอย่างนี้ต่อไปและอยู่ไปวันๆ เพราะอย่างไรก็ได้เงินเดือน ได้โบนัส ได้ไปออกอีเวนต์สวยหรู จิบแชมเปญ และมีแบรนด์ส่งของมาเพื่อให้เราถ่ายรูปขอบคุณลงในอินสตาแกรม… 

 

‘คุณค่า’ ของผมในฐานะสื่อจริงๆ แล้วคืออะไร และเราจะทำอย่างไรให้ไม่โดนสื่อด้วยกันเองมาตั้งคำครหาว่าได้ดีแค่เพราะแปลข่าวจากต่างประเทศ

 

ผมจึงมีไอเดียแบบเล่นใหญ่ว่าอยากไปหัวเมืองสำคัญรอบโลก และทำโปรเจกต์ที่เราจะมีโอกาสไปเจอและพูดคุยกับคนเบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ระดับโลกที่หมุนรอบตัวเรา ซึ่งเป็น Original Content เหมือน Netflix ที่มี Original Series โดยโปรเจกต์จะใช้ชื่อว่า City Vibes ที่ล้อกับคำว่า City Guides ซึ่งสมัยก่อนในยุคสื่อกระดาษเป็นหนึ่งเราจะคุ้นเคยกันดีว่าเมื่อไปเที่ยวประเทศไหนก็ต้องซื้อหนังสือท่องเที่ยวเมืองนั้นๆ

 

 

โดยเมืองแรกที่ผมเลือกก็คือมหานครนิวยอร์ก เพราะผมยังเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่หล่อหลอมวัฒนธรรมมนุษย์เรามากที่สุด โดยผมตั้งโจทย์ท้าทายตัวเองและทีมงานว่าถ้าเราต้องเลือกเมืองที่แมสที่สุดในโลก ที่มีคอนเทนต์มากมายในทุกแพลตฟอร์ม เราจะทำอย่างไรให้แตกต่างและลบคำสบประมาทว่าการเป็นสื่อประเทศโลกที่สามก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่สามารถไปทำคอนเทนต์ในประเทศโลกที่หนึ่งได้ และทำอย่างไรให้ออกมาอย่างมีชั้นเชิง มีคุณค่า และทำให้คนต่างชาติที่อาจเคยมองเราด้วยหางตากลับต้องมองอย่างจริงจังว่าเราทำอะไรได้

 

เกือบ 2 สัปดาห์ที่ผมและทีมงานอีก 4 คนไปทำงานที่นิวยอร์ก ผมสัมผัสได้เลยว่าที่นี่ไม่ใช่แค่เมือง American Dream ที่คนอเมริกันอยากไปใช้ชีวิต แต่เป็น Universal Dream ของคนทั้งโลกจริงๆ เราได้ไปพูดคุยกับ ฟิลลิป ลิม ดีไซเนอร์ระดับโลกที่เกิดในประเทศไทยและอพยพไปอเมริกา, พูดคุยกับ นิโคลา กลาส ดีไซเนอร์หญิงจากเมืองเล็กๆ ในไอร์แลนด์เหนือที่ตอนนี้กลายเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของ Kate Spade, พูดคุยกับพ่อลูกทายาทรุ่นที่ 5 ของ Moscot แบรนด์แว่นตาที่มีรากฐานมาจากการที่คุณทวดอพยพมาจากยุโรปโดยเรือ และพูดคุยกับ ดีใจ โกสิยพงษ์ ผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่หลายคนน่าจะรู้จักนามสกุล ซึ่งเธอก็ไม่ได้เกาะกระแสชื่อเสียงของคุณพ่อ แต่เลือกย้ายมาอยู่ที่นิวยอร์กเพื่อตามความฝันในการเป็นช่างภาพ 

 

มากไปกว่านั้น ในฐานะที่ผมเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในยุค Digital Disruption ที่แปรผันตัวเองมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ ผมก็รู้สึกดีใจว่าโปรเจกต์นี้เหมือนเป็นการกลับไปทำงานในจุดเริ่มต้นและรากฐานของตัวเองที่เราไม่ควรลืม ซึ่งเราได้มีเวลาคัดสรรคอนเทนต์ดีๆ ได้อยู่กับมันนานๆ พร้อมถกเถียงกับทีมงานจนเกิดเป็นรูปเป็นร่างที่เมื่อกลับมาอ่านหรือชมก็จะรู้สึกว่ามีคุณค่า ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในช่วงหลัง THE STANDARD และ THE STANDARD POP ได้ห่างหายจากการทำบทความฟีเจอร์ เพราะเราก็ต้องวิ่งตามเกมดิจิทัลและแย่งชิงพื้นที่สื่อ โดยเฉพาะเมื่อคนจับจ้องและพึ่งพาเรามากขึ้น

 

 

แต่เพราะความอยากเล่นใหญ่ของผม โปรเจกต์นี้ก็ทำตัวเองเจ็บหนักสาหัสเหมือนกัน โดยสิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้คือความเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองเป็นสิ่งที่ดี แต่อย่าให้มันข้ามเส้นจนกลายเป็นอีโก้และความหลงตัวเอง เพราะอยู่ในไทยเราอาจถูกสปอยล์และขอสัมภาษณ์ใครก็ได้ แต่เมื่อออกนอกประเทศ THE STANDARD ก็ถือว่าเป็น no one ในสายตาต่างชาติ เราไม่ได้มีภาษีเหมือนสื่อนิตยสารหัวนอกในไทยที่ส่งอีเมลไปขอสัมภาษณ์แล้วคนที่โน่นก็อาจสนใจเพราะชื่อ ซึ่งเราก็โดนหลายแบรนด์ใหญ่ปฏิเสธทันที บางแบรนด์ก็จะเหมือนสนใจและให้ความหวัง แต่ก็มาปฏิเสธภายหลัง หรือบางแบรนด์ที่เราได้สัมภาษณ์ก็ลงดีเทลเยอะและเจ้ากี้เจ้าการในทุกขั้นตอนจนเราต้องพลิกตารางการทำงานอยู่ทุกวัน ทั้งที่มีการวางแผนล่วงหน้ามาเป็นเดือนๆ

 

สุดท้ายนี้ผมคงไม่ได้หวังว่าโปรเจกต์ City Vibes: New York จะต้องฮิตถล่มทลาย เพราะหลายอย่างที่เราเสนอก็มีความเฉพาะกลุ่ม ผมได้แต่หวังว่าในยุคที่คอนเทนต์วัฒนธรรมและแฟชั่นถูกจำกัดความผ่านเฮดไลน์ Clickbait SEO แบบคะแนนเต็ม “สวยปัง ยืนหนึ่ง…สาวแฟต้องมี” เป็นส่วนใหญ่ (ที่ผมก็ทำเหมือนกัน) บางครั้งสิ่งที่ THE STANDARD นำเสนอออกไปกับโปรเจกต์ City Vibes: New York ก็อาจช่วยให้คนที่อยากสัมผัสไลฟ์สไตล์ของวงการเหล่านี้เห็นว่าจริงๆ แล้วเส้นทางสายนี้ก็ไม่ได้เดินตามแบบฉบับหนังนางมารร้ายใส่รองเท้าปราด้าอย่างเดียว แต่การที่จะก้าวมาสู่จุดนี้คุณก็ต้องอดทน รักในสิ่งที่ทำ และไม่ได้ทำไปเพื่อจะเด่นจะดัง แต่เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองสร้างสรรค์จะช่วยขับเคลื่อนสังคมและวัฒนธรรมได้ ซึ่งนั่นล่ะคือมูลค่าที่วัดได้จริง ไม่ว่าพรุ่งนี้โลกเราจะเดินไปในทิศทางไหน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X