เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กลายข่าวใหญ่เมื่อ ซินดี้-สิรินยา บิชอพ ออกมาโพสต์คลิปเกี่ยวกับสิทธิสตรี และการแต่งกายอย่างเหมาะสมในช่วงวันสงกรานต์ และทำให้เกิดปรากฏการณ์แฮชแท็ก #DontTellMeHowToDress และ #TellMenToRespect ซึ่งถูกแชร์บนอินสตาแกรมของบุคคลมีชื่อเสียงมากมายที่ออกมาร่วมสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว
แต่หลังจากจบช่วงสงกรานต์ไปแล้ว ประเด็นของสิทธิสตรีที่เราควรพูดถึง และถูกจุดประเด็นขึ้นมาอย่างร้อนแรงอาจจะเงียบหายไป นั่นทำให้ ซินดี้ สิรินยา เลือกที่จะเดินหน้าประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิสตรี สิทธิการแต่งกายของผู้หญิง ความเท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงการรับมือคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดยร่วมมือกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริงในสังคมไทย
ชมวิดีโอต้นฉบับได้ที่: www.facebook.com/CindySirinyaBishop/videos/1971579239826655
ซินดี้ ได้เล่าถึงที่มาและเหตุผลว่าทำไมเธอจึงสนับสนุนประเด็นดังกล่าวอย่างเต็มตัว ซึ่งภายหลังก็ได้รับแรงสนับสนุนจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลอีกด้วย
“จุดเริ่มต้นมาจากคลิปที่ได้รับการตอบรับ รวมถึงการแชร์ที่ค่อนข้างกว้างไกล มันสะท้อนว่าผู้หญิงหลายๆ คนรู้สึกเหมือนกัน ที่ไม่ใช่แค่ตัวซินดี้เอง ว่าเออ ทำไมเราไม่มาพูดเรื่องปัญหาการคุกคามทางเพศกันจริงๆ เสียทีว่าเกิดมาจากอะไร และมีวิธีอื่นอีกไหมที่จะลดปัญหาตรงนี้ได้ โดยที่ไม่เกี่ยวกับการแต่งกายของผู้หญิง ซินดี้ก็เลยตัดสินใจใช้โอกาสที่คนพูดถึงเรื่องนี้ ตั้งแฮชแท็กที่ว่า #DontTellMeHowToDress #TellMenToRespect ขึ้นมา กลายเป็นข่าวทั่วโลกเลย
“ซึ่งพอหลังจากช่วงนั้นเสร็จแล้ว หมดช่วงสงกรานต์แล้ว ซินดี้ก็ไม่อยากให้มันหายไปจากการพูดถึง เพราะมันเป็นเรื่องที่เราต้องพูดกันอีกนาน และมันก็เป็นโอกาสที่ดีที่มีคนมาร่วมมือกัน ถ้าผู้หญิงเราลุกขึ้นมากล้าพูดเรื่องนี้มากขึ้น อาจจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ดี ทำให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้น และปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้หญิง
“หลังจากเป็นข่าว ทาง มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็เชิญให้ไปเสวนาเรื่องนี้ เพราะทางมูลนิธิเองก็รณรงค์เรื่องนี้อยู่แล้ว แค่อาจจะไม่ค่อยมีสื่อรู้จักมากนัก พอได้พูดคุยกันแล้ว มุมมอง นโยบาย อะไรทั้งหมดของเขาดี เขาทำจริงจัง ทำอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่ได้มีผลกระทบตรงนี้มากๆ”
ซินดี้จะสานต่อประเด็นดังกล่าวผ่านการจัด ‘Don’t tell me how to dress นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ’ ร่วมกับทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้าชมงานได้ฟรี ซึ่งภายในนิทรรศการจะมีการจัดแสดงเสื้อผ้าที่สวมใส่โดยผู้หญิงที่โดนลวนลาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าการแต่งตัวของผู้หญิงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเลย
“วันที่ซินดี้ไปเสวนา ก็เห็นว่าทางมูลนิธิเขาเอาเสื้อผ้าของผู้หญิงที่โดนลวนลามมาจัดแสดงด้วย ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมากจากนิทรรศการ What were you wearing? จัดที่ University of Kansas สหรัฐอเมริกาปีที่แล้ว ขนาดเขาแค่เอาเสื้อผ้าเหล่านี้มาแขวนในห้องประชุม มันยังทรงพลังมากๆ แค่มองก็ขนลุกแล้ว เพราะสุดท้ายแล้ว เสื้อผ้ากับกรณีผู้หญิงโดนคุกคามทางเพศมันไม่เกี่ยวกันเลย
“ซินดี้คิดว่าถ้าเราจัดนิทรรศการให้คนในสังคมได้เห็นชุดพวกนี้ ก็อาจจะเปลี่ยนความคิดได้ไม่มากก็น้อย แล้วเราค่อยมาร่วมกันหาทางออกของปัญหานี้ หรืออย่างน้อยๆ มันก็ช่วยแก้ไขมายาคติที่เกี่ยวกับกรณีลวนลามหรือคดีข่มขืน ซินดี้เลยติดต่อไปทางมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้เขาช่วยมาเป็นที่ปรึกษาให้ เพราะซินดี้ไม่เคยเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาก่อน แต่เมื่อได้เข้ามาทำแล้วก็อยากจะพูดสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ วิธีพูดที่ถูกต้องจริงๆ โดยทำงานร่วมกับองค์กรที่เขาทำหน้าที่ตรงนี้อยู่แล้ว เพื่อให้เสียงของพวกเราดังยิ่งขึ้น”
นี่คือภาพส่วนหนึ่งจากนิทรรศการ ‘What were you wearing?’ รวบรวมเสื้อผ้าของเหยื่อล่วงละเมิดทางเพศ 18 เรื่องมาจัดแสดงใน University of Kansas โดย Jen Brockman และ Dr. Mary A. Wyandt-Hiebert
สำหรับ ‘Don’t tell me how to dress นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศ’ ที่ซินดี้กำลังจัดขึ้นในประเทศไทย จะเป็นการจัดแสดงเสื้อผ้าของเหยื่อที่ถูกลวนลามเป็นนิทรรศการหลัก และยังมีผลงานภาพถ่ายของช่างภาพแถวหน้าอย่าง ณัฐ ประกอบสันติสุข โดยเป็นภาพถ่ายเซเลบริตี้ในวงการบันเทิงกว่า 15 คน อาทิ ปอย ตรีชฎา, ลูกเกด เมทินี, นก สินจัย, ใหม่ ดาวิกา งานนิทรรศการจะจัดขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้
แน่นอนว่าประเด็น #MeToo กำลังโด่งดังไปทั่วโลก และทรงอิทธิพลจนทำให้หลายประเทศมีความกระตือรือร้นต่อประเด็นดังกล่าวมากขึ้น อย่างเช่นที่ประเทศเกาหลีใต้เพิ่งออกมาเพิ่มมาตรการลงโทษคดีล่วงละเมิดทางเพศ หลังจากที่มีผู้หญิงออกมาฟ้องร้องเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานมากขึ้น รวมถึงข่าวการลาออกของ จุนอิจิ ฟุคะดะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังประเทศญี่ปุ่น เพื่อรับผิดชอบต่อการโดนข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว การรับผิดชอบต่อคดีดังกล่าวอาจยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก ซินดี้ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า
“กฎหมายบ้านเรายังไม่มีไปถึงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มต้นจากการลุกขึ้นมาต่อต้าน หรือลุกมาขอร้องให้มีกฎหมายตรงนี้เสียก่อน แต่เอาจริงๆ แค่กฎหมายที่มันมีอยู่ตอนนี้ ขอให้ได้ใช้จริงก่อน ซินดี้รู้มาว่า จากสถิติการข่มขืน 4,000 กว่ารายปีที่แล้ว มีน้อยกว่า 100 รายที่มีการดำเนินคดี มันน่ากลัวมาก เพราะพอผู้หญิงไปแจ้งความก็จะเจอเจ้าหน้าที่ผู้ชาย ต้องเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นหลายๆ รอบจนท้อใจ รู้สึกว่าตัวเองถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากการเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันหดหู่นะ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหามานานแล้ว เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่พูดถึง เพราะฉะนั้นมันก็ควรได้รับการแก้ไขไปจนถึงระบบและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ส่วนอีกประเด็นที่สำคัญคือการเปลี่ยนทัศนคติของสังคมโดยรวมที่ยังมีความคิดว่าผู้ชายเป็นใหญ่”
ในประเทศไทย กฎหมายหรือหน่วยงานที่ดูแลกรณีการล่วงละเมิดทางเพศยังมีน้อยเกินไป ทั้งยังไม่ได้รับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบอย่างแพร่หลาย ทำให้ผู้ตกเป็นเหยื่อไม่สามารถหาที่ปรึกษาหรือช่วยเหลือได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด
ซินดี้ได้แนะนำว่า หากพบเหยื่อหรือตกเป็นเหยื่อในการล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน หรือปัญหาอื่นที่เกี่ยวข้อง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้จาก
- มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล www.wmp.or.th หรือโทร 02 513 2889
- มูลนิธิพิทักษ์สตรี www.facebook.com/AATSaveGirls หรือโทร 09 4403 7037
- ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 1300thailand.com หรือโทร 1300
อย่างไรก็ตามซินดี้ยังให้ข้อมูลว่า เร็วๆ นี้อาจมีการรวมตัวกันของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งแคมเปญ ‘Safe City Bangkok’ กรุงเทพฯ เมืองปลอดภัยสำหรับผู้หญิง ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานภายในกรุงเทพฯ เป็นที่แรก ก่อนที่จะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ของประเทศ
“มีคนรณรงค์เรื่องสิทธิสตรีเยอะมากนะ แต่ทำกันแบบเงียบๆ ไม่ได้หวือหวา ไม่ได้มีแสงแฟลชนู่นนี่นั่น แต่พอซินดี้มาอยู่ตรงนี้ คือเราสามารถเรียกสื่อ เรียกความสนใจได้บ้าง เมื่อมาเจอกัน ร่วมมือกันก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีความหวัง จากจุดเริ่มต้นที่เราของขึ้น ออกไปพูดในประเด็นที่เราต้องพูด จนถึงตอนนี้เราได้ลงมาทำจริงแล้ว ในปีนี้มีหลายอย่างที่จะทำ ทั้งการเวิร์กช็อป หนังสือ สอนเด็กๆ ว่าอะไรคือการถูกเนื้อต้องตัวที่ถูกต้อง”
ซินดี้ ได้ทิ้งท้ายประเด็นการถูกเรียกว่าเป็น ‘เฟมินิสต์’ ในยุคนี้เอาไว้ว่า
“ซินดี้ไม่ชอบการใช้คำนี้มาอธิบายทุกสิ่งอย่างที่เราเป็น เพราะ ‘เฟมินิสต์’ หมายความถึงการเป็นคนคนหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งที่เห็นพลังของผู้หญิงคนอื่น และก็เห็นคุณค่าของความเป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นคุณค่าที่ควรได้รับเกียรติ สุดท้ายแล้วเรามีความรู้สึกว่าผู้หญิงไม่ได้เหนือกว่าผู้ชาย เราเท่าเทียมกัน และควรได้รับเกียรติเหมือนกัน”
อ้างอิง:
- Don’t tell me how to dress นิทรรศการพลังสังคมหยุดคุกคามทางเพศโดยซินดี้ สิรินยา และมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน ถึง 1 กรกฎาคม ที่สยามพารากอน หลังจากนั้นทางมูลนิธิฯ จะนำไปสานต่อโดยย้ายไปจัดนิทรรศการที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ต่ออีก 2 สัปดาห์ พร้อมจัดกิจกรรม งานเสวนา และเวิร์กช็อปสำหรับกลุ่มเยาวชน เพื่อเปิดโอกาสให้คนในสังคมเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว
- การล่วงละเมิดทางเพศ หมายถึง พฤติกรรมที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นในเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นคำพูด สายตา และการใช้ท่าที รวมไปจนถึงการบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้หญิงเป็นหลัก การกระทำใดๆ ก็ตามที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกอับอาย เป็นการล่วงเกินความเป็นส่วนตัว และผู้หญิงไม่ยินยอมพร้อมใจให้ทำ ถือเป็นการล่วงละเมิดทางเพศทั้งสิ้น
ข้อ 1. การล่วงละเมิดทางเพศทางคำพูด ได้แก่
- การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย ที่ส่อในทางลามก
- การเล่าเรื่องตลกลามก เรื่องสองแง่สองง่าม
- การตามจีบ ตามตื๊อ เกี้ยวพาราสี ทั้งๆ ที่รู้ว่าอีกฝ่ายไม่ชอบ
- การพูดจาแทะโลม
- การใช้คำพูดเพื่อกระตุ้นอารมณ์เพศ เป็นต้น
ข้อ 2. การล่วงละเมิดทางเพศทางการกระทำที่ไม่ถูกเนื้อต้องตัว ได้แก่
- การจ้องมองของสงวน
- การโชว์ภาพโป๊ หรือภาพที่ส่อไปในทางเพศ
- การแอบดูตามห้องน้ำ (ถ้ำมอง)
- การแอบถ่ายภาพ (ตามห้องลองเสื้อ ห้องน้ำ)
- การโชว์อวัยวะเพศ
- การเผยแพร่ภาพถ่ายทางอินเทอร์เน็ต
- สื่อลามก
- คลิปวิดีโอ เป็นต้น
ข้อ 3. การล่วงละเมิดทางเพศที่เป็นการกระทำชัดแจ้ง ได้แก่
- การแตะต้องเนื้อตัวที่ไม่พึงประสงค์
- การกระทำอนาจาร (การกระทำต่อเนื้อตัว หรือต่อร่างกายของบุคคลอื่น เช่น กอด จูบ ลูบ คลำ ร่างกายของหญิงเป็นการแสดงความใคร่ทางเพศ)
- การขอมีเพศสัมพันธ์ การบังคับให้มีเพศสัมพันธ์
- การข่มขืน เป็นต้น