×

ชวนเผย ม็อบหน้าสภา 17 พ.ย. นี้ทำได้ ขอให้ชุมนุมโดยสงบ เชื่อ ส.ส.-ส.ว. ลงมติอิสระ ไร้แรงกดดัน

โดย THE STANDARD TEAM
16.11.2020
  • LOADING...
ชวนเผย ม็อบหน้าสภา 17 พ.ย. นี้ทำได้ ขอให้ชุมนุมโดยสงบ เชื่อ ส.ส.-ส.ว. ลงมติอิสระ ไร้แรงกดดัน

วันนี้ (16 พฤศจิกายน) ที่รัฐสภา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เปิดเผยถึงการชุมนุมของผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ บริเวณรอบอาคารรัฐสภาว่า ทางสภาและรัฐบาลได้มีการประสานงานกันในเรื่องการรักษาความปลอดภัย โดยแบ่งหน้าที่การดูแลพื้นที่ ซึ่งภายในรัฐสภาเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ส่วนภายนอกให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาล โดยทางสภาไม่มีสิทธิ์ที่จะไปดูแลภายนอก ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะตัดสินใจอย่างไรจึงเป็นเรื่องของฝ่ายรัฐบาล

 

อย่างไรก็ตาม ตามหลักการนั้นใครจะเดินทางมาชุมนุมก็สามารถมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เห็นบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย การชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ทางสภาก็ไม่ประมาท โดยได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดูแลความเรียบร้อยภายในสภา ตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก ส่วนภายนอกเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะดูแล ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลได้ ส่วนที่บอกว่าฝ่ายความมั่นคงจะปิดล้อมบริเวณโดยรอบรัฐสภานั้น ตัวเองยังไม่ทราบเรื่องนี้

 

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายวุฒิสภามีความกังวลในการชุมนุม เพราะจากประสบการณ์ครั้งที่ผ่านมาที่มีการใช้คำหยาบ รวมถึงบางคนถูกขูดรถ ซึ่งตัวเองก็ได้บอกว่าที่นี่เป็นศูนย์กลางของความเป็นประชาธิปไตย การชุมนุมสามารถทำได้ แต่ขอให้ปราศจากอาวุธและไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งโดยส่วนตัวไม่ได้มีความเป็นห่วงอะไรเป็นพิเศษ เพราะเป็นสิ่งที่เจออยู่บ่อยๆ ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ขออย่าใช้วิธีการรุนแรง

 

ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจํานวน 7 ฉบับในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้จะมีมติออกมาอย่างไรนั้น ตัวเองยังไม่ทราบ แต่อยากบอกทางผู้ชุมนุมว่าอย่าคาดคั้นให้มีการลงมติแบบใด ปล่อยให้การลงมติเป็นไปโดยอิสระ ซึ่งมองว่าคนระดับนี้เขาก็คงไม่กลัวที่จะมีการกดดัน เชื่อว่าเขาจะตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยมองว่าการใช้เหตุผลเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งผลการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละประเด็นก็มีความแตกต่างกัน จึงขอให้ทางสมาชิกรัฐสภามีโอกาสได้พิจารณา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ตกลงเรื่องเวลาว่าจะใช้ระยะเวลานานเท่าใด แต่ทางวุฒิสภาไม่ต้องการให้ลงมติในช่วงกลางคืน

 

ทั้งนี้ สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่าง หากไม่รับหลักการก็ถือว่าญัตติตกไป ส่วนหากมีการรับหลักการไม่ว่าจะกี่ฉบับก็ตาม ก็จะต้องนำฉบับใดฉบับหนึ่งมาเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งจะไม่ตั้งกรรมาธิการปลีกย่อยในแต่ละร่าง แต่จะมีคณะกรรมาธิการพิจารณาในชั้นแปรญัตติเพียงชุดเดียว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising