×

ลำดับเหตุการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ระลอกใหม่ เข้าใจต้นสายปลายเหตุของการเผชิญหน้าครั้งรุนแรง

13.05.2021
  • LOADING...
อิสราเอล ปาเลสไตน์

สถานการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ปะทุรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายรูปแบบ ทั้งการใช้กำลังจู่โจมของเจ้าหน้าที่ตำรวจอิสราเอลในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์ และผู้ที่ประกอบพิธีทางศาสนาในมัสยิดอัลอักซอในช่วงเดือนรอมฎอน (ศาสนสถานสำคัญลำดับ 3 ของอิสลามในนครเยรูซาเลมตะวันออก) ตามมาด้วยการปะทะเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมและตำรวจอิสราเอลที่บุกเข้าไปในมัสยิด การยิงจรวดเข้ามาจากฉนวนกาซาโดยกลุ่มฮามาสและกองกำลังติดอาวุธอื่นๆ รวมทั้งการโจมตีของอิสราเอลเข้าไปยังฉนวนกาซาอย่างหนัก อีกทั้งยังมีการประท้วงก่อจลาจลขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วอิสราเอล ทำให้ขณะนี้มีพลเรือนชาวปาเลสไตน์ในกาซาเสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำกว่า 63 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ส่วนฝั่งอิสราเอลมีรายงานว่ามีทหารเสียชีวิตอย่างน้อย 6 นาย ขณะที่สถานการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติ แม้นานาชาติต่างเรียกร้องให้มีการหยุดยิงก็ตาม

 

ทั้งนี้ ต้นสายปลายเหตุของความขัดแย้งที่ปะทุครั้งล่าสุด มีที่มาจากคำตัดสินของศาลแขวงเมืองเยรูซาเลมในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่ตัดสินให้ครอบครัวชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 12 ครอบครัวในย่าน Sheikh Jarrah ออกไปจากบ้านที่อยู่อาศัยของตัวเอง และมอบบ้านเหล่านั้นให้กับครอบครัวชาวยิวที่ชนะคดี

 

ในคำสั่งมีผลให้ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 50 คน ย้ายออกไปภายในวันที่ 2 พฤษภาคม 2021 และคาดว่าในเดือนสิงหาคม 2021 จะมีการตัดสินคดีอีกชุดหนึ่งที่จะออกมาในลักษณะเดียวกันคือ ให้ชาวปาเลสไตน์ในย่านนั้นประมาณ 70 คนออกจากพื้นที่ด้วย

 

จากนั้นการประท้วงเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลังจากศาลไม่รับคำร้องอุทธรณ์ของชาวปาเลสไตน์ และต่อเนื่องมาเรื่อยๆ จนเข้าสู่เดือนเมษายน และครบกำหนดเส้นตายที่ต้องย้ายออก (วันที่ 2 พฤษภาคม) กองกำลังอิสราเอลได้เข้าจู่โจมบ้านเรือนเหล่านั้นใน Shiekh Jarrah บังคับให้ออกจากบ้าน ใช้แก๊สน้ำตาโยนเข้าไปในบ้านเพื่อให้คนที่อยู่ข้างในออกมาทั้งที่มีผู้สูงอายุด้วย ในขณะเดียวกันชาวยิวที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ได้โจมตีเจ้าของบ้านที่ประท้วงการใช้กำลังขับไล่พวกเขา

 

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ชาวปาเลสไตน์เป็นจำนวนมาก เพราะกองกำลังของอิสราเอลมาขับไล่ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ถูกร้องไปที่ศาลสูงสุด (Supreme Court) และยังอยู่ระหว่างการพิจารณา (กำหนดเดิมจะต้องตัดสินราวกลางเดือนพฤษภาคม แต่เลื่อนออกไปแล้ว)

 

วันที่ 4 พฤษภาคม จึงเริ่มมีการรวมตัวชุมนุมของชาวปาเลสไตน์มากขึ้นที่บริเวณทางเข้ามัสยิดอัลอักซอ การที่ผู้คนมารวมตัวกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งผู้คนจะนิยมมาปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนา มาละหมาดในยามค่ำคืนร่วมกัน แต่ถูกทางการอิสราเอลปิดกั้นการเข้ามายังสถานที่แห่งนี้ ยิ่งสร้างความไม่พอใจมากขึ้น จนท้ายที่สุดผู้ชุมนุมก็ไม่ยอม และรวมตัวเข้าไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจนได้ รวมถึงประท้วงด้วย

 

ในที่สุดอิสราเอลได้จู่โจมเพื่อสลายการชุมนุมด้วยกำลัง รวมทั้งยิงแก๊สน้ำตา ยิงกระสุนโลหะหุ้มยางเข้าไปในมัสยิดขณะที่มีการละหมาด ส่วนที่มักมีการใช้คำว่าเกิดการปะทะนั้นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง กระนั้นก็ตามยิ่งทำให้มีผู้มาร่วมชุมนุมมากขึ้นหรือประมาณ 8-9 หมื่นคน

 

เหตุการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 300 คน และส่อเค้าว่าจะหนักขึ้น กลุ่มฮามาสในกาซาได้ออกคำเตือนพร้อมกับขีดเส้นตายให้อิสราเอลยุติการใช้กำลัง และถอนกำลังออกจากมัสยิดอัลอักซอภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 10 ช่วงนั้นในไทยยังไม่เป็นข่าวมากนัก เพราะสื่อกระแสหลักอย่าง BBC, CNN, Fox News ไม่ค่อยนำเสนอ ต่างจากสำนักข่าวใหญ่อย่าง Al Jazeera, RT, TRT, M East Eye ที่นำเสนอเรื่องนี้อย่างละเอียดและต่อเนื่อง

 

เมื่อครบกำหนดเส้นตายอิสราเอลไม่หยุด ฮามาสจึงเริ่มยิงจรวดเข้ามาในอิสราเอล อิสราเอลก็โจมตีกลับไปอย่างหนักหน่วงเช่นกัน ตอนนี้เหละครับที่สื่อใหญ่ตะวันตกเริ่มนำเสนอเรื่องนี้มากขึ้น ประเด็นหลักของการนำเสนอจึงถูกเบนออกไปว่า “อิสราเอลยิงสกัดขีปนาวุธฮามาส หรือไม่ก็อิสราเอลใช้สิทธิป้องกันตนเองโจมตีกาซา” บางสื่อจะเน้นย้ำว่าโจมตีกลุ่มฮามาสหัวรุนแรง ยิ่งทำให้ดูสร้างความชอบธรรมมากขึ้น

 

เหตุการณ์ที่มาที่ไปและข่าวสารที่เป็นอยู่ก็มีลำดับอย่างที่กล่าวมา ถ้ากลับไปดูที่คำตัดสินของศาลแขวงซึ่งเป็นที่มาของความขัดแย้งล่าสุดจะพบว่า ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศและมติ UN ที่ผ่านๆ มา เช่น มติ 194, 181, 303, 478 และอื่นๆ โดยมติเหล่านี้ระบุให้เยรูซาเลมเป็นพื้นที่สากลภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ และการกำหนดสถานะสุดท้ายหรือการดำเนินการใดๆ ต้องมาจากการเจรจาระหว่างกัน รวมทั้งการคัดค้านความพยายามของอิสราเอลในการยึดครองเยรูซาเลม โฆษก UN ยังเรียกร้องให้อิสราเอลยุติการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากที่อยู่อาศัยของพวกเขา พร้อมกับเตือนว่าพฤติกรรมที่อิสราเอลทำอาจเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม”

 

อีกประเด็นที่มีการพูดถึงมาก คือเรื่องสิทธิในการป้องกันตนเอง (Self-Defense) ทั้งสองฝ่ายอ้างสิทธิในการป้องกันตนเอง ในประเด็นนี้มีความน่าสนใจมาก หากพิจารณาถึงการโต้ตอบระหว่าง เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กับนักข่าว เมื่อนักข่าวถามว่า การตอบโต้ของอิสราเอลไปยังกาซาเช่นนี้เข้าหลักสิทธิในการป้องกันตนเองหรือไม่

 

ไพรซ์ ตอบว่า “ผมไม่ค่อยอยากจะให้ความเห็นเกี่ยวกับปฏิบัติการต่างๆ นอกเหนือไปจากการยิงจรวดที่มีเป้าหมายชัดเจนคือพลเรือนผู้บริสุทธิ์ในอิสราเอล ดังนั้น ผมจึงไม่อยากไปพูดถึงปฏิบัติการที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่โดยหลักการกว้างๆ ของการป้องกันตนเองเป็นเรื่องที่เราสนับสนุนอิสราเอลและทุกประเทศอยู่แล้ว” เมื่อถูกถามย้ำอีกครั้ง เน็ด ไพรซ์ ตอบว่า “การป้องกันตนเองมักจะกระทำโดยใช้กำลังอยู่แล้ว” นัยของคำถามนี้อาจจะมองได้ว่าหากใช้สิทธิป้องกันตนเองตามหลักการแล้วจะต้องไม่ใช่เป็นฝ่ายที่เริ่มก่อน แต่กรณีของอิสราเอลอาจตีความได้ว่าเป็นฝ่ายกระทำก่อนในเหตุการณ์ที่เยรูซาเลม หรือแม้แต่การดำเนินการที่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศที่ไปขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกนอกพื้นที่ ในอีกด้านหนึ่งการตอบโต้ตามหลักแล้วต้องเป็นไปตามสัดส่วนที่เหมาะสม

 

นักข่าวอีกคนจึงถามขึ้นว่า “หลักการป้องกันตนเองตามที่คุณได้พูดถึง มันสามารถใช้ได้กับกรณีการป้องกันตนเองของชาวปาเลสไตน์ด้วยใช่หรือไม่ พวกเขามีสิทธิในการป้องกันตนเองหรือไม่ คนปาเลสไตน์มีสิทธิในการป้องกันตนเองหรือไม่?” ไพรซ์ ตอบอย่างเลี่ยงๆ ว่า “พูดแบบกว้างๆ คือ เราเชื่อในแนวคิดว่าด้วยการป้องกันตนเอง เราเชื่อว่ามันใช้ได้กับทุกรัฐ ผมไม่อยากให้คำพูดของผมถูกตีความว่า…” ซึ่งในความหมายนี้ ปาเลสไตน์ยังไม่มีอธิปไตยเป็นของตนเอง ถ้าจะตีความก็คงมองได้ว่าไพรซ์คงไม่เห็นด้วยกับการให้สิทธิในการป้องกันตนเองกับชาวปาเลสไตน์

 

ความขัดแย้งที่ปะทุล่าสุดอาจบานปลายรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่หากจะลำดับเหตุการณ์ให้ถูกต้อง ให้เห็นต้นสายปลายเหตุแบบชัดๆ อาจสรุปได้ตามลำดับเหตุการณ์ดังนี้


1. เริ่มจากสาเหตุคือการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเรือนของพวกเขา 

 

2. การชุมนุมประท้วง 

 

3. การสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา และกระสุนโลหะหุ้มยางของกองกำลังอิสราเอล 

 

4. การปะทะเผชิญหน้าระหว่างตำรวจกับผู้ชุมชุมชาวปาเลสไตน์ 

 

5. การยิงจรวดของกลุ่มฮามาสเข้าไปในอิสราเอลหลังพ้นกำหนดเส้นตาย เวลา 18.00 น. วันที่ 10 พฤษภาคม ที่กำหนดให้กองกำลังอิสราเอลต้องยุติการใช้กำลังกับชาวปาเลสไตน์ที่ชุมนุมประท้วง 

 

6. การตอบโต้ของอิสราเอลด้วยการโจมตีทางอากาศเข้าไปในกาซาอย่างหนักหน่วง 7. การประท้วงและจลาจลกำลังเกิดขึ้นหลายพื้นที่ในอิสราเอล

 

ภาพ: Mamoun Wazwaz / Anadolu Agency via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising