×

หุ้นจีนกลับมารีบาวด์ในรอบสัปดาห์ หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนชุดใหญ่ป่วน ตลาดผันผวนสูง ด้านดาวโจนส์ยืนเหนือ 43,000 จุดเป็นครั้งแรก

15.10.2024
  • LOADING...
หุ้นจีน

ตลาด หุ้นจีน กลับมาฟื้นตัว หลังนักลงทุนกังวลและประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากมาตรการของกระทรวงการคลังของจีน อีกทั้งตัวเลขมาตรการกระตุ้นยังคงไม่ชัดเจน

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เมื่อวานนี้ (14 ตุลาคม) ดัชนี CSI 300 ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นที่ใหญ่ที่สุด 300 อันดับแรกที่จดทะเบียนในจีนแผ่นดินใหญ่ ปิดตลาดที่ 1.9% ในรอบ 1 สัปดาห์ หลังตลาดผันผวนจากความกังวลต่อมาตรการของกระทรวงการคลังของจีน ถือเป็นการปิดท้ายสัปดาห์ที่ย่ำแย่ที่สุดตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ขณะที่ดัชนีอสังหาริมทรัพย์ของ Bloomberg Intelligence เพิ่มขึ้น 4% ก่อนที่จะปรับลงเล็กน้อย 1%

 

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของราคาสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง ขณะที่นักลงทุนกำลังรอรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการทางการเงิน 

 

ตามถ้อยแถลง Lan Fo’an รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้คำมั่นสัญญาว่าจะดำเนินการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ และระบุถึงแผนการกู้ยืมของรัฐบาลที่จะมีมากขึ้น แต่ยังไม่มีตัวเลขปรากฏที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการคลังที่เพิ่มขึ้นถือเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาการพุ่งขึ้นของตลาดหุ้น ซึ่งจุดประกายการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางในช่วงปลายเดือนกันยายน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

นักเศรษฐศาสตร์ของ HSBC Holdings Plc ระบุว่า แม้จะไม่มีตัวเลขกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมามากนัก แต่การแถลงข่าวของกระทรวงการคลังก็ยังถือเป็น ‘เรื่องเซอร์ไพรส์’ และดูเหมือนว่านโยบายจะอยู่ต่อไปอีกนาน ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและจะส่งผลต่อความมั่งคั่งทั้งในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ 

 

โดยจีนยังคงเผชิญปัญหาเงินฝืดที่เพิ่มขึ้นในเดือนกันยายน รวมทั้งราคาผู้บริโภคยังคงอ่อนแอ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ของจีนให้คำมั่นว่า รัฐบาลจะสนับสนุนนโยบายเพื่อกระตุ้นภาคธุรกิจมากขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศตลาดในฮ่องกงที่ค่อนข้างเงียบ โดยดัชนีหุ้นจีนที่จดทะเบียนซื้อขายลดลง 0.6% เมื่อเวลา 15.11 น.

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลท้องถิ่นจะได้รับอนุญาตให้ซื้อพันธบัตรพิเศษกับการซื้อขายบ้านที่ยังขายไม่ออก และยังเปิดทางในการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม อีกทั้งให้คำมั่นว่าจะบรรเทาภาระหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นสัญญาณว่าอาจมีการแก้ไขงบประมาณที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก และคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

 

ก่อนหน้านี้นักลงทุนและนักวิเคราะห์ของ Bloomberg ประเมินว่า จีนจะจัดสรรเงินกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่มูลค่า 2 ล้านล้านหยวน (2.83 แสนล้านดอลลาร์) ซึ่งรวมถึงเงินอุดหนุนและคูปองแจกเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และการสนับสนุนทางการเงินสำหรับครอบครัวที่มีบุตร

 

ทว่าความผันผวนของตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนการแถลงข่าวของกระทรวงการคลัง โดยดัชนี CSI 300 ลดลง 3.3% ในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่การพุ่งขึ้นเริ่มคลี่คลายลง โดยการฟื้นตัวครั้งล่าสุดอาจเป็นเพียงการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งตลาดติดอยู่กับวัฏจักรของการขึ้นและลงของกำไรและขาดทุนหลายครั้งก่อนหน้านี้ เนื่องจากแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไปของปักกิ่งทำให้เกิดการฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

Xin Yao Ng กรรมการฝ่ายการลงทุนของ abrdn Asia Limited ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ว่าการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนและคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ อาจทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ล่าช้าออกไปเป็นเดือนธันวาคมหรือหลังจากนั้น 

 

ตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิกผันผวน

  

CNBC ระบุว่า ตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิกยังคงผันผวน ซึ่งส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นหลังนักลงทุนประเมินการแถลงข่าวของกระทรวงการคลังจีน โดยดัชนี CSI 300 ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 2% ขณะที่ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงลดลง 0.4% ดัชนี Hang Seng Mainland Properties ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 3% ในขณะที่ดัชนี Hang Seng TECH ลดลง 0.7%

 

นอกจากนี้นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดของจีนที่รุนแรงขึ้นในเดือนกันยายน โดยราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบ 3 เดือน ที่ 0.4% จากปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบ 6 เดือน ที่ 2.8% ทั้งนี้ทั้ง 2 ตัวชี้วัดนั้นไม่ตรงตามที่นักเศรษฐศาสตร์สำรวจมากนัก โดยสำนักข่าว Reuters คาดการณ์ไว้ว่าดัชนี CPI จะเพิ่มขึ้น 0.6% และดัชนี PPI จะลดลง 2.5%

 

ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดทำการเนื่องในวันหยุด ดัชนี S&P/ASX 200 ของออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 0.47% ปิดที่ 8,252.8 จุด ตลาดหุ้นไต้หวันเพิ่มขึ้น 0.32% ปิดที่ 22,975.29 จุด ดัชนีหุ้น KOSPI กลุ่มบลูชิป ของเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นกว่า 1% ปิดที่ 2,623.29 จุด ขณะที่ดัชนีหุ้น KOSDAQ ปิดเกือบทรงตัวที่ 770.26 จุด

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาข้อมูลเศรษฐกิจ โดยจีนเตรียมเผยแพร่ข้อมูลการค้าประจำเดือนกันยายน โดยคาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้น 6% ซึ่งเติบโตช้ากว่า 8.7% ในเดือนสิงหาคม ขณะที่การนำเข้าคาดว่าจะเติบโต 0.9% เมื่อเทียบกับ 0.5% ในเดือนสิงหาคม

 

นอกจากนี้ยังมี GDP ไตรมาสที่ 3 ของจีน โดยจะเปิดเผยการเติบโตของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน ยอดค้าปลีก และอัตราการว่างงานสัปดาห์นี้

 

ฟากฝั่งตลาดสหรัฐฯ พบว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าหุ้นแทบไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากนักลงทุนรอที่จะประเมินผลกำไรของบริษัทชุดต่อไป

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีหลักทั้งสามปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน โดยดัชนี S&P 500 และดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์และปิดตลาดที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ตุลาคม)

 

ด้าน Paul Gambles ผู้ก่อตั้งร่วมของ MBMG Group กล่าวกับรายการ ‘Street Signs Asia’ ของ CNBC ว่าเขาคาดหวังว่าธนาคารกลางของจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่านี้ แต่มาตรการนี้อาจไม่ใช่การตอบสนองที่ตลาดต้องการ

 

ขณะที่ Tommy Xie กรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาคเอเชีย ธนาคาร OCBC กล่าวว่า การแถลงข่าวของกระทรวงการคลังเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 ตุลาคม) ‘เกินความคาดหมายของตลาดในแง่ของการสนับสนุนโดยรวม’

 

แม้ว่าการประกาศดังกล่าวจะมีรายละเอียดไม่มากนักก็ตาม การแถลงข่าวครั้งนี้ส่งสัญญาณว่าจีนกำลังจริงจังกับการแก้ไขปัญหาภาวะเงินฝืด (Deflation) และนี่คือสิ่งที่ตลาดรอคอย 

 

Xie ระบุอีกว่า คาดการณ์ว่าจีนอาจออกมาตรการเกี่ยวกับหนี้เพิ่มเติมสูงถึง 3 ล้านล้านหยวนในระยะใกล้ ขณะที่การกระตุ้นทางการคลังโดยรวมอาจสูงถึง 10 ล้านล้านหยวน ซึ่งจะกระจายไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เขาเรียกว่าเป็น ‘มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ที่แข็งแกร่งที่สุด’ ในรอบปี

 

ดาวโจนส์ยืนเหนือ 43,000 จุดเป็นครั้งแรก ดัชนี S&P 500 พุ่ง ATH อีกครั้ง 

 

ดัชนี S&P 500 และดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯ พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All Time High) อีกครั้งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 ตุลาคม) ขณะที่นักลงทุนรอฟังผลประกอบการของบริษัทหลายแห่งในอเมริกาสัปดาห์นี้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นของวอลล์สตรีทได้

 

ดัชนี S&P 500 พุ่งขึ้น 0.77% อยู่ใกล้ 5,860 จุด ดัชนี NASDAQ 100 เพิ่มขึ้น 0.8% ดัชนี Dow Jones Industrial Average ปรับตัวขึ้น 0.5% NVIDIA เป็นผู้นำหุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นในครั้งนี้ หุ้น Apple Inc. ก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่มองว่าเป็นขาขึ้น และบริษัท Tesla Inc. ฟื้นตัวหลังจากที่ร่วงลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัท Goldman Sachs Group Inc. และ Citigroup Inc. ปรับตัวเพิ่มขึ้นก่อนการประกาศผลประกอบการ

 

ข้อมูลของ Bloomberg Intelligence เผยให้เห็นว่า บริษัทที่อยู่ในดัชนี S&P 500 คาดว่าจะมีผลประกอบการที่อ่อนแอที่สุดในรอบ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 4.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ฤดูกาลรายงานผลประกอบการเริ่มต้นขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในวันศุกร์นี้ (18 ตุลาคม) นำโดยกลุ่มการเงินชั้นนำอย่าง JPMorgan Chase & Co. และ Wells Fargo & Company นอกเหนือจากธนาคารใหญ่อื่นๆ ที่จะรายงานผลประกอบการในสัปดาห์นี้แล้ว นักลงทุนยังจะจับตาดูผลประกอบการของบริษัทสำคัญๆ เช่น Netflix Inc. และ JB Hunt Transport Services Inc. อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

 

ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในขณะที่บิทคอยน์พุ่งขึ้น 5% ราคาน้ำมันร่วงลงมากกว่า 2% หลังจากกลุ่ม OPEC ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์ในปี 2024 เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน และตลาดน้ำมันยังขาดแรงจูงใจใหม่ๆ เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ซึ่งประเทศเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก รายงานล่าสุดของ OPEC คาดการณ์ว่าอุปสงค์จะเติบโตขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2024 ซึ่งลดลงจาก 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้ OPEC คาดว่าอุปสงค์จะเติบโตขึ้น 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2025 เมื่อเทียบกับ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในการคาดการณ์ครั้งก่อน

 

นักกลยุทธ์จาก Bank of America Corporation ระบุว่า ผลการเงินไตรมาสที่ 3 ที่ถูกเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ ในอเมริกาได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงในช่วงต้นของวงจรผ่อนคลายนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แรงกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงนั้นเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของการค้ำประกันหนี้ การยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย และกิจกรรมการรีไฟแนนซ์ รวมถึงสัญญาณของการแตะจุดต่ำสุดในภาคการผลิต 

 

Solita Marcelli จาก UBS Global Wealth Management ยังคงมุมมองเชิงบวกสำหรับหุ้นสหรัฐฯ ไว้ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำไรที่เติบโตขึ้นของบริษัทขนาดใหญ่ วงจรผ่อนคลายนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการเติบโตของ AI แม้ว่าการประเมินมูลค่าหุ้นจะสูง แต่เราคิดว่าสมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับภูมิหลังที่เอื้ออำนวย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising