ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมปี 2565 เราคงได้เห็นตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 1 แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโตต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 4 /64 แต่ต้องยอมรับว่า การระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ และผลกระทบจากราคาพลังงานและสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง มีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นได้จากการที่ศูนย์วิเคราะห์หลายสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชนล้วนต่างมีการปรับประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยลง เนื่องจากความกังวลในสองประเด็นที่กล่าวมาเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีพัฒนาการของเศรษฐกิจโลกเกิดขึ้นในประเทศจีนที่อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลต่อเศรษฐกิจอื่นๆ ทั่วโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทย คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศจีน ที่ยังคงมีการระบาดต่อเนื่องในปัจจุบันเป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน ซึ่งทางการจีนได้ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด โดยมีนโยบาย Zero-COVID ที่ออกคำสั่งล็อกดาวน์ภาคธุรกิจและระงับการเดินทางของประชาชน ซึ่งปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่เมืองเซี่ยงไฮ้ที่เป็นศูนย์กลางการระบาดของโรคโควิดในครั้งนี้และบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้ประชาชนอย่างน้อย 30 ล้านคนอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์
บทความที่เกี่ยวข้อง
-
ชมคลิป: นายกฯ จีนเตือน วิกฤตตลาดงานซับซ้อน รุนแรง เซ่นพิษโควิด ทำเศรษฐกิจจีนโตสะดุด
-
แบงก์ชาติจีนงัด 23 มาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจและช่วยเหลืออุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์
ข้อมูลตัวเลขการค้าของประเทศจีนในเดือนเมษายนของปีนี้ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ชัดเจนของมาตรการล็อกดาวน์ภายในประเทศ โดยตัวเลขการส่งออกในเดือนเมษายน สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเติบโต 3.9% เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งถือว่าหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญจากการเติบโตในเดือนมีนาคม ที่การส่งออกเติบโต 14.7% ทำให้การส่งออกในเดือนเมษายนชะลอตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2563 นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าจากจีนยังหดตัวลงในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เยอรมัน โดยเฉพาะประเทศรัสเซีย มีการหดตัวของการส่งออกสูงสุดที่ 26%
สาเหตุหลักของการหดตัวของการส่งออกจีนในครั้งนี้ สอดคล้องกับมาตรการในเมืองเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นเมืองที่มีท่าเรือขนาดใหญ่ เป็นจุดสำคัญของการขนส่งสินค้าเข้า-ออกประเทศจีน เมื่อมีการปิดโรงงานผลิตสินค้าและระงับการเคลื่อนย้ายสินค้า จึงส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ยอดมูลค่าการส่งออกหดตัวลง ในขณะเดียวกัน แม้มูลค่าการนำเข้าในเดือนเมษายนของจีนจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงปี 2564 โดยมีอัตราการเติบโตที่ 0.1% แต่มูลค่าการนำเข้าได้รับการสนับสนุนจากราคาพลังงานทั้งน้ำมันและถ่านหิน รวมถึงราคาสินค้าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น แท้จริงแล้วปริมาณสินค้าที่นำเข้าสู่ประเทศจีนในเดือนเมษายนจึงมีอัตราการเติบโตที่หดตัวลง
นอกเหนือจากการส่งออกนำเข้า ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นในเดือนเมษายนปี 2565 ก็ส่งสัญญาณความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดยดัชนีภาคการผลิต PMI (Purchasing Managers’ Index) ที่คำนวณจากการสอบถามภาคธุรกิจ พบว่าแนวโน้มกิจกรรมการผลิตในประเทศจีนในเดือนเมษายนปรับตัวลดลงระดับต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 โดยดัชนี Manufacturing PMI ในเดือนเมษายนปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 47.4 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนมีนาคม
การชะลอตัวของภาคการผลิตในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกเคยกังวลเป็นอย่างมากในช่วงเริ่มต้นการระบาดของโรคโควิดในประเทศจีนช่วงปี 2563 โดยการชะลอตัวในด้านการผลิตและการส่งออกมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังวงกว้างต่อภาคการผลิตในประเทศอื่นๆ ที่พึ่งพาวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนประกอบจากประเทศจีน ถือเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องภายในระบบซัพพลายเชนในหลายอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาการผลิตในประเทศจีนในระดับต้นๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร เสื้อผ้า
สำหรับประเทศไทย ประเทศจีนถือเป็นคู่ค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา แม้การส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนในช่วงไตรมาส 1/65 จะยังคงเติบโตได้ดี โดยเติบโต 14% จากผลของการเติบโตในสินค้ากลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ส่วนประกอบ แต่หากประเมินสถานการณ์ในอนาคตที่การผลิตและการบริโภคภายในประเทศจีนชะลอตัวลง จึงมีความเป็นไปได้สูงที่การชะลอตัวของภาคการผลิตในจีนอาจส่งผลให้ความต้องการนำเข้าวัตถุดิบพื้นฐาน เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตร มีความต้องการลดลง และส่งผลให้การส่งออกสินค้าของไทยในปี 2565 ต่ำกว่าระดับที่คาดไว้ ซึ่งการส่งออกที่ลดลงอาจส่งผลกระทบเพิ่มเติม ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงได้ในอนาคต
มาตรการ Zero-COVID มีแนวโน้มที่จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ภายหลังที่รัฐบาลจีนออกประกาศยืนยันแนวทางการดำเนินนโยบายอย่างเข้มงวดต่อไป ดังนั้น เศรษฐกิจจีนโดยเฉพาะในด้านการผลิตและการส่งออกมีโอกาสได้รับผลกระทบต่อเนื่อง และเป็นความเสี่ยงใหม่ต่อภาคธุรกิจทั่วโลก ซึ่งต้องติดตามและให้ความสำคัญในประเด็นนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป
ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD