×

ส่งออกจีนติดลบ 14.5% ในเดือนกรกฎาคม หนักสุดในรอบกว่า 3 ปี อีกสัญญาณตอกย้ำเศรษฐกิจจีนชะลอตัว

08.08.2023
  • LOADING...
ส่งออกจีน

จีนเผย ส่งออกในเดือนกรกฎาคมร่วงลง 14.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ถือเป็นการหดตัวหนักที่สุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 ขณะที่การนำเข้าก็ลดลง 12.4% ท่ามกลางภาวะอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอ นับเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลจีนกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศในช่วงที่เหลือของปี

 

วันนี้ (8 สิงหาคม) หน่วยงานศุลกากรของจีนเปิดเผยว่า ตัวเลขส่งออกในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าอยู่ที่ 2.81 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 14.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2020 หลังจากลดลง 12.4% ในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังลดลงหนักกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ติดลบ 4.8% อย่างมากด้วย

 

ในเดือนเดียวกัน การนำเข้าของจีนก็ลดลง 12.4% จากปีก่อนหน้า เหลือ 2.01 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากลดลง 6.8% ในเดือนมิถุนายน และต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ติดลบ 11.4%

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ‘Global Trade Recession’ จับสัญญาณโลกเข้าสู่ภาวะ ‘การค้าถดถอย’ ท่ามกลางความท้าทายครั้งใหญ่ ตั้งแต่เอลนีโญถึงสงครามการค้า: https://thestandard.co/global-trade-recession/
  • ส่งออกไทยติดลบ 9 เดือนติด! หดตัว 6.4% ในเดือนมิถุนายน ด้านพาณิชย์-สรท. มองเดือนกรกฎาคมมีโอกาสพลิกบวกได้: https://thestandard.co/thai-exports-were-negative-for-9-months/
  • Krungthai COMPASS – SCB EIC เตือนส่งออกไทยอาจยังเผชิญความเสี่ยงในครึ่งปีหลัง แม้มีแรงหนุนจากฐานต่ำ จับตาจีนฟื้นตัว: https://thestandard.co/krungthai-compass-scb-eic-export/

 

โดยการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของจีนและเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศผู้ให้การสนับสนุนหลักแก่ภาคการส่งออกของจีน เมื่อต้นปีนี้ลดลงถึง 21.43% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน

 

ขณะที่การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปก็ลดลง 20.62% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 แล้ว โดยอยู่ที่ติดลบ 23.12% ในเดือนกรกฎาคม

 

ด้านนักวิเคราะห์จาก Capital Economics กล่าวว่า “การส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคมหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มเกิดโรคระบาด แต่การลดลงล่าสุดส่วนใหญ่สะท้อนถึงมูลค่าที่ลดลงมากกว่าปริมาณ ซึ่งยังคงสูงกว่าแนวโน้มก่อนเกิดโรคระบาด

 

“เราไม่มั่นใจว่าจุดแข็งที่คงเหลืออยู่นี้ (ปริมาณการส่งออกที่ยังสูงกว่าช่วงก่อนโควิด) จะคงอยู่ได้ต่อไป จากหลักฐานที่กว้างขึ้นว่าอุปสงค์สินค้าทั่วโลกกำลังลดลง เนื่องจากผู้คนหันไปใช้จ่ายเงินกับบริการมากขึ้นแล้วหลังเกิดการระบาด และนโยบายการเงินที่ตึงตัวยังส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของบริโภค” Capital Economics ระบุ

 

นอกจากนี้อุปสงค์ในจีนก็ได้อ่อนแอเช่นกันเมื่อเร็วๆ นี้ โดยปริมาณการนำเข้าได้ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี ในเดือนกรกฎาคม การสนับสนุนด้านนโยบายจึงควรช่วยแก้ไขจุดอ่อนนี้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising