×

กูรูชี้เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณหดตัว เข้าสู่ภาวะ Stagflation หลังดัชนีภาคการผลิตลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

01.11.2021
  • LOADING...
Stagflation

ผู้เชี่ยวชาญชี้การฟื้นตัวและขยายตัวเติบโตของเศรษกิจจีนในปีนี้เริ่มส่งสัญญาณหดตัว หลังดัชนีภาคการผลิตของประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองแล้ว 

 

ความเห็นข้างต้นมีขึ้นหลังจากที่ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนออกมาเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ซึ่งแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวในภาคการผลิตของจีนที่พบว่า ดัชนี PMI ของจีนประจำเดือนตุลาคม ลดลงมาอยู่ที่ 49.2 จากระดับที่ 49.6 ในเดือนกันยายนก่อนหน้า โดยตัวเลขที่อยู่สูงกว่า 50 นั้นบ่งชี้ถึงการขยายตัว ขณะที่สถิติที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงการหดตัวลง

 

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ดัชนี PMI จีนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในครั้งนี้ ทาง จ้าวชิงเหอ นักสถิติอาวุโสของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน กล่าวว่า ตัวเลขที่ชะลอตัวลงดังกล่าวเกิดจากอุปทานด้านพลังงานที่ยังคงตึงตัว และราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

 

นอกจากนี้ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ดัชนีย่อยที่ใช้วัดราคาวัตถุดิบหลักเพิ่มขึ้น 8.6% จากระดับเดือนกันยายนก่อนหน้า มาแตะที่ 72.1 ส่วนดัชนีราคา Ex-factory ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 61.1 เพิ่มขึ้น 4.7% จากสถิติเดือนก่อน

 

ส่วนดัชนีย่อยสำหรับการผลิต ปรับตัวลง 1.1% แตะ 48.4 สะท้อนให้เห็นความต้องการด้านการผลิตและตลาดในภาคการผลิตนั้นอ่อนตัวลงในเดือนที่แล้ว

 

ด้าน จื่อเว่ยจาง (Zhiwei Zhang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Pinpoint Asset Management กล่าวเสริมว่าดัชนีภาคการผลิตของจีนในขณะนี้ ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ที่มีการเผยแพร่ดัชนีดังกล่าวในปี 2005 โดยไม่นับรวมช่วงเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008-2009 และช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2020 

 

ตัวเลขข้างต้นยังสวนทางกับดัชนีราคาผลผลิต หรือ Output Price Index ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุบสถิติแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการเผยแพร่ดัชนีดังกล่าวในปี 2016 

 

ความเคลื่อนไหวข้างต้นถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ยืนยันว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังมุ่งหน้าสู่สภาวะ ‘Stagflation’ เรียบร้อยแล้ว และเป็นความท้าทายของรัฐบาลจีนในการค้นหามาตรการแก้ไข โดยผลสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญของสำนักข่าว Reuters ซึ่งพบว่า ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีแนวโน้มจะยังไม่ลดปริมาณสำรองเงินสดของภาคธนาคารเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศจนกว่าจะสิ้นสุดไตรมาสแรกของปี 2022                                                                          

 

โจวฮ่าว (Zhou Hao) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Commerzbank กล่าวว่า การที่ภาคการผลิตของจีนยังคงอ่อนแอ แสดงให้เห็นว่าความต้องการบริโภคภายในของจีนยังไม่อาจฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ทำให้รัฐบาลจีนยังจำเป็นต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายต่อไปอีกสักระยะ                                                          

 

ขณะเดียวกัน จีนยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลังมีแนวโน้มว่าไวรัสโควิดส่งสัญญาณกลับมาระบาดระลอกใหม่ในช่วงเดือนตุลาคม โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ จนหลายฝ่ายเกรงว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้อาจไม่สามารถฟื้นตัวและขยายตัวได้ตามที่หวังไว้ 

 

ทั้งนี้ ดัชนี PMI ของจีนประจำเดือนตุลาคม ซึ่งรวมการผลิตทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ ขยับลดลงมาอยู่ที่ 50.8 ในเดือนตุลาคม จากระดับคะแนนที่ 51.7 ในเดือนกันยายนก่อนหน้า  

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising