×

‘จีน’ เทขายบอนด์สหรัฐฯ ต่อเนื่องสู่ระดับต่ำสุดรอบ 12 ปี หวังกระจายความเสี่ยงทุนสำรองระหว่างประเทศ

18.05.2022
  • LOADING...
บอนด์สหรัฐ

เว็บไซต์ Global Times รายงานว่า ทางรัฐบาลจีนได้ปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนมีนาคม คิดเป็นมูลค่ากว่า 15,200 ล้านดอลลาร์ ทำให้การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยรวมทั้งหมดของจีนอยู่ในระดับที่ต่ำสุดรอบ 12 ปี นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2010

 

บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปเพื่อลดการขาดทุน เนื่องจากราคาพันธบัตรรัฐบาลจีนปรับตัวลดลงเช่นกัน และเป็นการกระจายความเสี่ยงด้วยการกระจายการถือครองอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของจีนในระยะยาว

 

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าจีนอาจจะลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อไป หากอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังแย่ลง ขณะเดียวกัน ทางผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งของจีนยังเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างสินทรัพย์ในต่างประเทศและกระจายทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยง

 

ตามข้อมูลจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (16 พฤษภาคม) การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ของจีนลดลงเหลือ 1.039 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม โดยจีนยังคงเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รายใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 1.232 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม

 

ขณะเดียวกันมีรายงานว่าจีนมีแผนที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลที่ดีและยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนวิสาหกิจดิจิทัลให้เข้าจดทะเบียนในตลาดทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในโลกยุคดิจิทัล

 

การเปิดเผยในครั้งนี้มีขึ้นระหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ซึ่งจัดโดยคณะที่ปรึกษาทางการเมืองชั้นนำของประเทศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยหนึ่งในประเด็นการประชุมหลักๆ ก็คือการเพิ่มมาตรการสนับสนุนต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับบริษัทอินเทอร์เน็ตและดิจิทัลสัญชาติจีนให้มีความพร้อมในการเผชิญกับสภาพแวดล้อมการพัฒนาที่ซับซ้อนมากขึ้น

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ท่าทีดังกล่าวถือเป็นสัญญาณบวกที่ชัดเจนต่อแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตของจีนในการก้าวเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของการพัฒนา โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ช่วยส่งเสริมให้การพัฒนามีความมั่นคง ซึ่งมีความสำคัญต่อการยกระดับเศรษฐกิจโดยรวมของจีน ท่ามกลางแรงกดดันและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นของโลกในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising