ธนาคารกลางจีน (PBOC) ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 พฤศจิกายน) ระบุว่า ทางธนาคารกลางมีแผนที่จะใช้นโยบายทางการเงินเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่สถาบันการเงินที่จะออกสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีบทบาทหรือมีส่วนสำคัญในการช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หวังช่วยให้จีนบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์
Global Times สื่อท้องถิ่นของทางการจีน รายงานอ้างแถลงการณ์ของธนาคารกลางจีนที่โพสต์เผยแพร่บนเว็บไซต์ว่า ทาง PBOC ตั้งใจจะปล่อยสินเชื่อ 60% ให้แก่บริษัทองค์กรต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% ต่อปี
สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในครั้งนี้ หมายรวมถึง 3 อุตหกรรมหลักๆ คือ พลังงานสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน และการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการลดการปล่อยคาร์บอน
ด้านแนวทางการปล่อยกู้จะพิจารณาจากการที่อุตสาหกรรมดังกล่าวยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนา แต่มีศักยภาพมากในการลดการปล่อยมลพิษ ตัวอย่างเช่น การผลิตพลังงานลม การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้ไฮโดรเจน ตลอดจนเทคโนโลยีสำหรับการดักจับ การจัดเก็บ และการใช้คาร์บอน
ที่ผ่านมาจีนเดินหน้าผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างเต็มที่ เพื่อให้สามารถรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนที่ตั้งใจไว้ และทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 พฤศจิกายน) ทางคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีน (CPC) และสภาแห่งรัฐ ได้เผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่กำหนดเส้นทางสำหรับเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีการระบุถึงแนวทางเร่งด่วนในการการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ
รายงานระบุว่า ภายใต้แนวทางปฏิบัติ ภายในปี 2025 การปล่อยก๊าซคาร์บอนต่อหน่วยของ GDP จะลดลง 18% เมื่อเทียบกับปี 2020 ซึ่งจะช่วยให้สภาพแวดล้อมดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนภายในปี 2035 การใช้ระเบียบการทำงานและการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ปริมาณการปล่อยคาร์บอนจะมีเสถียรภาพมากขึ้น และการพัฒนาประเทศจีนอย่างยั่งยืนจะเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในที่สุด
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP