×

จีนกับสงครามยูเครน: ข้อเสนอเพื่อสันติภาพและการลงทุน

26.07.2023
  • LOADING...
จีนกับสงครามยูเครน

“แม้ว่าข้อเสนอสันติภาพของจีนอาจจะเหมือนกับตายในน้ำตั้งแต่ต้น แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็เป็นสัญญาณว่า ปักกิ่งมองบทบาทของตนเองในอนาคตอย่างไร”

Jo Inge Bekkevold (4 เมษายน 2023)

นักวิชาการอาวุโสแห่งสถาบัน Norwegian Institute for Defense Studies 

 

บทบาทของรัฐมหาอำนาจอย่างจีนกับปัญหาสงครามยูเครน เป็นข้อถกเถียงทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติ เนื่องจากหลายฝ่ายมีความคาดหวังว่า จีนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยจูงใจให้รัสเซียยอมลดระดับของปฏิบัติการด้วยความรุนแรง อันจะเป็นโอกาสที่นำไปสู่การเจรจาหยุดยิงในอนาคต

 

แต่ในความจริงแล้ว ความคาดหวังดังกล่าวอาจไม่ง่ายเช่นนั้น จีนยังดำรงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย แต่ก็ทำให้ชาติในยุโรปค่อนข้างหวาดระแวงต่อจีน ภาวะเช่นนี้ทำให้การวางบทบาทของจีนบนเวทีระหว่างประเทศต่อปัญหาสงครามยูเครนเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างยิ่ง

 

ดังนั้น บทความนี้จะนำเสนอถึงเรื่องบทบาทและความคาดหวังในการจัดวางบทบาทของจีนในปัญหาสงครามยูเครน

 

จีนกับสงครามยูเครน

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2022 ทำให้เกิดการจับตามองถึงบทบาทของจีนในฐานะรัฐมหาอำนาจของโลกอย่างมากว่า จีนจะแสดงบทบาทอย่างไรในการช่วยรักษาสันติภาพโลก เพราะสงครามยูเครนส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพของการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันอย่างมาก 

 

หากมองถึงการแสดงออกของจีนบนเวทีสหประชาชาติแล้ว เราจะพบว่าจีนได้แสดงจุดยืนต่อปัญหาสงครามยูเครนด้วยการ ‘งดออกเสียง’ ซึ่งการออกเสียงเช่นนี้ ด้านหนึ่งจึงเสมือนว่าจีนดำเนินนโยบายเป็นกลางที่จะไม่แสดงออกอย่างหนึ่งอย่างใดต่อสงครามที่เกิดขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อาจทำให้ถูกตีความได้ว่าจีนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะ ‘ประณามสงคราม’ ที่รัสเซียได้เป็นฝ่ายเริ่มต้นขึ้น ซึ่งด้วยพื้นฐานของความสัมพันธ์จีน-รัสเซียที่เกิดในยุคปัจจุบันนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จีนจะประณามรัสเซียบนเวทีระหว่างประเทศ เพราะทั้งสองประเทศมีมุมมองร่วมกันในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสหรัฐอเมริกาบนเวทีโลก

 

แต่จีนเองก็ถูกกดดันอย่างมาก โดยเฉพาะจากบรรดารัฐยุโรปว่า จีนควรจะมีบทบาทและความรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่านี้ในความเป็นรัฐมหาอำนาจ ด้วยการผลักดันให้เกิดสันติภาพในยูเครน หรืออย่างน้อยใช้ความใกล้ชิดที่มีต่อรัสเซียดำเนินการเพื่อให้เกิดการหยุดยิงในยูเครน เพราะในช่วงก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายมองว่าจีนพยายามลอยตัวจากปัญหาสงครามยูเครน และหลีกเลี่ยงที่จะแสดงท่าทีบนเวทีโลก เช่น การงดออกเสียงในปัญหาสงครามยูเครนบนเวทีสหประชาชาติ เป็นต้น

 

จนในที่สุดจีนจึงได้ประกาศถึงข้อเสนอของตนต่อปัญหาสงครามยูเครน หรือที่เราอาจเรียกว่า ‘แผนสันติภาพจีน’ ในวันครบรอบ 1 ปีของสงครามยูเครน ซึ่งข้อเสนอเช่นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะอย่างน้อยจะสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางและความต้องการของจีน รวมถึงการจัดวางบทบาทของจีนบนเวทีระหว่างประเทศ

 

จีนเสนออะไร

 

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2023 กระทรวงการต่างประเทศจีนได้นำเสนอแผนสันติภาพยูเครน หรือ ‘China’s Position on the Political Settlement of the Ukraine Crisis’ ซึ่งอาจเรียกว่า ‘ข้อเสนอของจีน 12 ประการ’ ต่อปัญหาสงครามยูเครน ซึ่งมีรายละเอียดในสาระสำคัญดังนี้

 

  1. ให้ความเคารพต่ออธิปไตยของทุกประเทศ
  2. ยกเลิกความรู้สึกนึกคิดในแบบสงครามเย็น (Cold War Mentality)
  3. ยุติความเป็นศัตรู
  4. หันกลับสู่การเจรจา
  5. แก้ปัญหาวิกฤตด้านมนุษยธรรม
  6. ให้ความคุ้มครองพลเรือนและเชลยศึก (POWs)
  7. ปกป้องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ให้ปลอดภัย
  8. ลดความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์ (Strategic Risks)
  9. ช่วยเหลือในการส่งออกธัญพืช
  10. ยุติการคว่ำบาตรฝ่ายเดียว (Unilateral Sanctions)
  11. รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่การผลิตและอุตสาหกรรม 
  12. สนับสนุนการฟื้นฟูสังคมในยุคหลังความขัดแย้ง (Post-Conflict Reconstruction) 

 

จีนคาดหวังอะไร

 

การนำเสนอแผนสันติภาพของจีนนำไปสู่ข้อถกเถียงอย่างมากว่า จีนคาดหวังที่จะเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในยูเครนเพียงใด ดังจะเห็นได้ว่าหลายฝ่ายมีความเห็นคล้ายคลึงกันว่า แผนนี้ค่อนข้างจะเป็นนามธรรม และไม่อาจทำหน้าที่เป็นโรดแมปที่จะยุติสงครามได้แต่อย่างใด

 

หากย้อนกลับไป นับตั้งแต่การระบาดของโควิดที่เริ่มต้นในปลายปี 2019 และเกิดการระบาดใหญ่ในช่วงต้นปี 2020 นั้น จีนเป็นจุดตั้งต้นของการระบาดและได้รับผลกระทบอย่างมาก อันส่งผลให้บทบาทของจีนบนเวทีระหว่างประเทศลดลงอย่างมาก และมุ่งอยู่กับการแก้ปัญหาการระบาดภายในสังคมจีน ดังจะเห็นได้จากนโยบาย ‘โควิดเป็นศูนย์’ (Zero-COVID Policy) ที่เป็นความพยายามแสดงให้โลกเห็นถึงขีดความสามารถในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในขณะนั้นจะเห็นถึงความล้มเหลวในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดในสังคมอเมริกันในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นภาพสะท้อนถึงความล้มเหลวของสหรัฐฯ

 

ข้อเสนอของจีนอาจมองได้ในอีกมุมหนึ่งว่า สิ่งนี้เป็นความพยายามในการสร้างบทบาทใหม่ของจีนบนเวทีโลก โดยจีนพยายามนำเสนอตนเองในฐานะของการเป็นผู้จัดการสันติภาพโลกในอนาคต การสร้างภาพเช่นนี้เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลปักกิ่งนำเสนอในเดือนเมษายน 2022 เรื่อง ‘ความริเริ่มด้านความมั่นคงของโลก’ (Global Security Initiative หรือ GSI) และอาจกล่าวได้ว่าข้อเสนอนี้คือการจัดทำ ‘สถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงของโลก’ (Global Security Architecture) ในอนาคตจากการออกแบบของจีน หรืออาจเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นแผนแม่บทของการกำหนดระเบียบโลกแบบจีน ซึ่งก็คือแนวทางของการจัดระเบียบโลกแบบจีนที่รัฐบาลปักกิ่งพยายามนำเสนอนั่นเอง

 

จีนพยายามนำเสนอบทบาทของตนเพื่อสร้างการยอมรับในหมู่ประเทศยากจน โดยเฉพาะกับประเทศที่อยู่ในโลกฝ่ายใต้ (The Global South) โดยจีนเสนอตัวว่าจะเข้ามาทำหน้าที่ในการปกป้องสันติภาพของโลก โดยใช้กระบวนการสนทนา พัฒนา และเจรจา (Dialogue, Development and Negotiation) การที่จีนผลักดันเช่นนี้เป็นไปในทิศทางที่สอดรับกับทิศทางของกลุ่มประเทศในซีกโลกใต้ที่มีมุมมองต่อสงครามยูเครนแตกต่างไปจากกลุ่มประเทศตะวันตก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะความหวาดระแวงตะวันตก หรือการต้องพึ่งพาพลังงานและธัญพืชจากรัสเซียก็ตาม

 

ที่จริงแล้วบทบาทของจีนกับประเทศในโลกฝ่ายใต้เป็นสิ่งที่มีมาแต่เดิม ดังจะเห็นได้จากยุคแห่งการปฏิวัติของประธานเหมาเจ๋อตุง ที่จีนพยายามมีบทบาทและอิทธิพลทางความคิดกับขบวนการทางการเมือง โดยเฉพาะกับขบวนปฏิวัติของประเทศในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกา โดยเฉพาะการสนับสนุนการเรียกร้องเอกราชของประเทศอาณานิคมในยุคนั้น ซึ่งในขณะนั้นอาจเป็นปัญหาการช่วงชิงการนำของค่ายสังคมนิยมระหว่างจีนกับสหภาพโซเวียต ทำให้จีนต้องขยายอิทธิพลของตนในกลุ่มโลกฝ่ายใต้

 

แต่ปัจจุบันเป็นปัญหาการแข่งอิทธิพลระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งจีนมองว่าการสร้างอิทธิพลของตนในกลุ่มประเทศเหล่านี้มีความสำคัญทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง ซึ่งจะเห็นถึงการที่จีนสร้างความสัมพันธ์กับประเทศในกลุ่มนี้ ด้วยเหตุผลเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ การใช้เป็นฐานสนับสนุนเสียงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และอาจใช้บางประเทศเป็นฐานทัพให้แก่จีน ซึ่งฐานทัพเช่นนี้จะมีความจำเป็นอย่างมากในการสร้างบทบาททางทหารของจีนบนเวทีโลก หรืออย่างน้อยฐานทัพ เช่น ในแอฟริกา จะเป็นที่รองรับต่อการขยายบทบาททางทหารของจีนเกินออกไปกว่าพื้นที่ของเอเชีย

 

ดังนั้น ข้อเสนอของจีนจึงมาพร้อมกันใน 3 เรื่องคือ การยุติความขัดแย้ง การลงทุน และการพัฒนาจากจีน ซึ่งก็คือการนำเสนอภาพของจีนในฐานะผู้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งบนเวทีโลก และการแก้ไขปัญหานี้จะตามมาด้วยการดำเนินการทางเศรษฐกิจจากจีน อันเป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน จึงทำให้จีนกลายเป็นรัฐผู้นำในระดับโลกที่พร้อมจะแก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอีกด้วย แต่หลายฝ่ายที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของจีนที่ทำให้เกิดปัญหา ‘กับดักหนี้’ (Debt Trap) ที่มักจะจบลงด้วยการที่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือจากจีนประสบภาวะเกือบล้มละลาย และจีนได้เข้ามาแบกรับภาระหนี้สินแทน แต่ก็ต้องแลกด้วยการที่ประเทศเหล่านั้นต้องอนุญาตให้จีนเข้าควบคุมและใช้ประโยชน์ในพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น การจัดตั้งฐานทัพเรือในประเทศดังกล่าว เป็นต้น

 

แนวทางจีน

 

ด้วยทิศทางเช่นนี้ จีนพยายามนำเสนอแผนสันติภาพยูเครน ผ่านเวทีการประชุมด้านความมั่นคงที่มิวนิก (The Munich Security Conference) อันเป็นการนำเสนอบทบาทของจีนในฐานะรัฐมหาอำนาจใหญ่ และในอีกด้านเป็นความพยายามที่จะเชื่อมจีนกับยุโรป เพื่อไม่ให้ยุโรปมีทัศนะโน้มเอียงไปทางสหรัฐฯ และมีมุมมองในการต่อต้านจีน จนทำให้จีนเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ในความสัมพันธ์กับยุโรป 

 

นอกจากนี้ นักการทูตจีนในระดับสูงจึงเสนอขายความคิดให้เกิดการสนทนาและพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐ พร้อมกับเสนอให้เลิกความรู้สึกนึกคิดแบบสงครามเย็น ซึ่งก็ดูจะเป็นสิ่งที่ผู้นำจีนเรียกร้องตลอดมา และมองว่าโลกตะวันตกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำยังดำรงชุดความคิดแบบสงครามเย็นไว้ อีกทั้งจีนพยายามนำเสนอตัวเองว่าจีนไม่ใช่ความท้าทายของยุโรป แต่ความท้าทายของยุโรปที่แท้จริงคือรัสเซีย ดังนั้น ยุโรปควรหันมาให้ความสนใจในความร่วมมือกับจีน และจีนอาจจะเป็นทางเลือกของยุโรป ดังการนำเสนอแผนสันติภาพยูเครน เพื่อให้สหภาพยุโรปได้เห็นถึงบทบาทของจีน

 

แผนสันติภาพนี้จึงเป็นความพยายามอย่างสำคัญที่จีนต้องการจัดความสัมพันธ์ใหม่ (Reset) กับยุโรป และเป็นความหวังอย่างมากว่าจีนจะสามารถดึงเอายุโรปไว้กับจีน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมาภายใต้เงื่อนไขของการหวนคืนของสงครามเย็นใหม่นั้น ทำให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวทรุดตัวลงอย่างมาก การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่ยิ่งทำให้โอกาสที่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ จะหวนคืนสู่ภาวะปกตินั้นคงเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการมีปัญหาไต้หวันเข้ามาเป็นประเด็นสำคัญด้วย และขณะเดียวกันก็ฉุดลากให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับยุโรปตกต่ำตามไปด้วย

 

ความต้องการจีน

 

ในด้านหนึ่งแผนสันติภาพของจีนคือภาพสะท้อนถึงความพยายามอย่างมากของจีนที่จะซื้อใจยุโรป แต่ในอีกด้านจะเห็นถึงความต้องการของจีนที่จะเสนอตัวเป็นผู้บูรณะยูเครนในยุคหลังสงคราม ซึ่งจีนในขณะนี้มีขีดความสามารถอย่างมากในอุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งเศรษฐกิจจีนเติบโตมากจนเปิดโอกาสให้จีนทุ่มงบพัฒนาได้เป็นจำนวนมาก ดังเช่นที่จีนดำเนินการกับประเทศในโลกฝ่ายใต้ และนำไปสู่การขยายอิทธิพลจีนด้วยการให้ประเทศผู้รับความช่วยเหลือเข้าไปติดกับดักหนี้ดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะกับประเทศยากจนในแอฟริกาและเอเชีย

 

หากสงครามยูเครนยุติลงจริงในอนาคต จีนจึงมีความหวังที่จะเข้าไปทำหน้าที่บูรณะฟื้นฟูยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องยอมรับว่าจีนมีเงินเป็นจำนวนมากที่จะทุ่มได้เพื่อการสร้างอิทธิพลแข่งกับสหรัฐฯ และเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าสถานะทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่ได้ดีมาก จนสามารถนำส่วนเกินทางเศรษฐกิจมาใช้ให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศได้ 

 

ขณะเดียวกัน หลังจากจีนเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลในประเทศเป้าหมายแล้ว ลำดับต่อมาก็ใช้พื้นที่ของประเทศผู้รับความช่วยเหลือนั้นเป็นดังหัวหาดสำหรับการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคดังกล่าว อีกทั้งหัวหาดจีนเช่นนี้จะเป็นดังสปริงบอร์ดที่จะใช้ในการสร้างบทบาทและขยายอิทธิพลของจีนโดยตรง ดังปรากฏให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้รับความช่วยเหลือจากจีนในทวีปแอฟริกา 

 

ปัญหาคือผู้นำยูเครนคิดอย่างไรกับความช่วยเหลือดังกล่าวจากจีนในการฟื้นฟูประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต เพราะความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่จีนมี และจีนเองก็พร้อมที่จะเป็นรัฐผู้ให้ (Donor State) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างและขยายอิทธิพลจีนในระยะยาว และในทางกลับกันก็น่าคิดว่าถ้าจีนตัดสินใจทำเช่นนั้นแล้ว ผู้นำรัสเซียจะคิดอย่างไรกับการขยายอิทธิพลจีนในพื้นที่ดังกล่าว 

 

แต่ในอีกมุมของสงคราม เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลจากสงครามที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ยูเครนมองว่าจีนเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญของรัสเซีย และแสดงบทบาทเป็นพันธมิตรหลักของรัสเซียในการทำสงครามในยูเครน ในทำนองเดียวกัน สงครามครั้งนี้ทำให้ยุโรปเองก็ไม่มีทางไว้ใจจีนได้เลย ฉะนั้น บทบาทของจีนในการเป็นผู้ยุติศึกในสงครามยูเครนจึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และท้าทายอีกด้วยว่า จีนเองคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จในการเสนอแผนสันติภาพครั้งนี้มากน้อยเพียงใด!

 

ภาพ: KurKestutis / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising