×

ซานตง เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนที่สร้างเองในประเทศ เข้าประจำการในกองทัพอย่างเป็นทางการ

18.12.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • การนำเรือบรรทุกเครื่องบินที่พัฒนาเองในประเทศเข้าประจำการ เป็นก้าวย่างสำคัญของจีนสู่เป้าหมายการสร้างกองทัพระดับโลกของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง
  • แต่ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสร้างความหวาดระแวงให้กับสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านที่มีกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ เนื่องจากเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่มีฐานประจำการที่ซานย่า ซึ่งเป็นประตูทางเข้าสู่ทะเลจีนใต้โดยตรง
  • เรือซานตงสามารถบรรทุกเครื่องบินขับไล่แบบ J-15 ได้มากถึง 36 ลำ มีการอัปเกรดเรดาร์และระบบในสะพานเดินเรือที่ทันสมัยกว่าเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง

จีนนำเรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ที่ต่อเองในประเทศเข้าประจำการในกองทัพอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ (17 ธันวาคม) โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้เดินทางไปร่วมพิธีการที่จัดขึ้นในเมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน นับเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ของจีนในเวลานี้ และเป็นหมุดหมายความสำเร็จก้าวใหม่ของจีนในการสร้างกองทัพเรือให้ทันสมัยเพื่อท้าทายอิทธิพลของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

 

สื่อทางการจีนรายงานว่า เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่จะประจำการที่ฐานทัพเรือซานย่า ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถทางทหารของจีนในบริเวณหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ รวมถึงช่องแคบไต้หวัน แน่นอนว่าการขยับดังกล่าวถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงชาติพันธมิตรใกล้ชิดอย่างญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

 

ก่อนหน้านี้สีจิ้นผิงเคยประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าต้องการพัฒนากองทัพจีนให้ทันสมัยและก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางทหารของโลก ซึ่งการสร้างกองทัพเรืออันเกรียงไกรเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ เมื่อมองไปที่สหรัฐฯ ที่มีเรือบรรทุกเครื่องบินที่ใช้งานอยู่ในเวลานี้มากถึง 10 ลำ 

 

เรือบรรทุกเครื่องบินลำใหม่ของจีน (Type 001A) มีชื่อเรียกว่า ‘ซานตง’ (山东) ตั้งตามชื่อมณฑลซานตง โดยออกแบบอิงจากโครงสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่จีนซื้อซากเรือชั้น Admiral Kuznetsov (คู่แฝดของเรือบรรทุกเครื่องบินหนึ่งเดียวของรัสเซีย) มาจากยูเครน ก่อนนำมาบูรณะและนำเข้าประจำการ พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่จาก Varyag เป็น ‘เหลียวหนิง’ (辽宁)

 

นอกจากเหลียวหนิงและซานตงแล้ว จีนได้เริ่มต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 3 ที่อู่ต่อเรือใกล้กับนครเซี่ยงไฮ้ และมีแผนที่จะพัฒนาเรือลำที่ 4 ด้วย ซึ่งหากนำเข้าประจำการทั้งหมด จะทำให้จีนมีเรือบรรทุกเครื่องบินมากเป็นรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้น ขณะที่รัสเซียมีเพียงลำเดียว และเป็นลำที่ใช้งานมานานตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นสหภาพโซเวียตอย่าง Admiral Kuznetsov 

 

เรือลำใหม่ยังคงใช้ดาดฟ้าบินลาดเอียงแบบสกีจัมป์เหมือนกับเรือเหลียวหนิง แต่จีนมีแผนพัฒนาเรือที่ใช้ระบบดีดส่งเครื่องบิน หรือ Catapult แบบเดียวกับเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ในเรือลำถัดๆ ไป

 

ข้อมูลระบุว่า เรือซานตงมีระวางขับน้ำ 50,000 ตัน และ 70,000 ตัน เมื่อบรรทุกสิ่งของเต็มที่ มีความยาวทั้งหมด 315 เมตร และสามารถแล่นด้วยความเร็วสูงสุด 31 นอต หรือ 57 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

ซานตงสามารถบรรทุกเครื่องบินขับไล่แบบ J-15 ได้มากถึง 36 ลำ มากกว่าเรือเหลียวหนิงที่บรรทุกได้เต็มที่ 24 ลำ นอกจากนี้ยังมีการอัปเกรดเรดาร์และระบบในสะพานเดินเรือให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

 

 

นักวิเคราะห์มองว่าการเลือกซานย่าเป็นบ้านของเรือซานตงถือเป็นการส่งสัญญาณว่าจีนจะไม่ยอมถอยในกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ดินแดนทับซ้อนในทะเลจีนใต้ ขณะที่ Global Times สื่อทางการจีนภาคภาษาอังกฤษ ระบุว่า ซานย่าเป็นประตูทางเข้าสู่ทะเลจีนใต้ที่สะดวกสบาย และมีฐานทัพเรือที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย นอกจากนี้ยังเป็นบ้านของเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของจีนด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนตั้งคำถามว่า เรือบรรทุกเครื่องบินซานตงจะมีศักยภาพพร้อมสู้รบตามที่สื่อจีนรายงานหรือไม่ โดยเรือดังกล่าวเพิ่งออกทดสอบแล่นในทะเลในปี 2018 และเข้าประจำการล่าช้าจากกำหนดการเดิม เนื่องจากประสบปัญหามากมาย ขณะที่ผู้บริหาร China Shipbuilding Industry Corporation ในเมืองต้าเหลียน ซึ่งเป็นบริษัทที่ต่อเรือลำนี้ถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชัน และถูกตัดสินจำคุก 12 ปีในเดือนกรกฎาคม

 

แต่กระนั้นการที่จีนพัฒนากองทัพเรืออย่างรวดเร็วได้สร้างความหวาดระแวงให้กับสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก ถึงแม้เรือซานตงอาจเข้าประจำการล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม แต่ก็ยังถือว่าเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ฝั่งตะวันตกคาดการณ์ไว้หลายปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนมีความพร้อมด้านทรัพยากรและเทคโนโลยี และอาจเปลี่ยนดุลอำนาจทางทหารบริเวณเอเชียแปซิฟิกแบบเร็วผิดคาดชนิดที่สหรัฐฯ ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด 

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising