วันนี้ (13 มกราคม) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำทีม THE STANDARD ลงพื้นที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อตรวจดูการทำงานของเครื่อง Low Volume Air Samplers หรือเครื่องจัดเก็บตัวอย่างฝุ่นละอองในอากาศ
โดย รศ. ดร.สมพร จันทระ หัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า การทำงานของเครื่องเก็บฝุ่น Low Volume Air Samplers จะใช้วิธีการดูดอากาศเข้ามาภายในเครื่องผ่านท่อรับอากาศ โดยภายในเครื่องจะมีแผ่นกรองฝุ่น ซึ่งสามารถคัดกรองฝุ่นที่มีความละเอียดตั้งแต่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไปจนถึงน้อยกว่า 0.49 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ตัวอย่างฝุ่นละอองที่เก็บได้จะนำมาวิเคราะห์ต่อว่ามีสารเคมีชนิดใดปะปนอยู่กับฝุ่นบ้าง เพื่อเป็นการเฝ้าระวังให้ประชาชนที่จะต้องรับฝุ่นละอองดังกล่าวเข้าไปในร่างกาย
ส่วนสาเหตุที่ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมไม่ได้เก็บเฉพาะตัวอย่างฝุ่นละออง PM2.5 เพราะฝุ่นละอองที่ยิ่งมีความละเอียดมาก หรือมีขนาดเล็ก ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อร่างกาย จึงจำเป็นต้องสำรวจให้ครบถ้วนว่าค่าฝุ่นละอองแต่ละขนาดมีปริมาณเท่าใด
รศ. ดร.สมพร กล่าวต่อว่า ตามปกติแล้วศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจะจัดเก็บข้อมูลในช่วงฤดูแล้งของจังหวัดเชียงใหม่ หรือเดือนมีนาคม เนื่องจากมีการเผาไหม้ทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ในอากาศมีฝุ่นละอองเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละอองที่จังหวัดเชียงใหม่วันนี้ ณ เวลา 16.27 น. อยู่ที่ 26 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร