วันนี้ (16 มิถุนายน) วัลยา วัฒนรัตน์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมเตรียมพิธีเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ครั้งที่ 1/2563 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม โดยในที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าและการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ของพิธีเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา (Chao Phraya Sky Park) ถือเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางสัญจรระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร พร้อมจุดชมวิวที่สวยงามกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้บนสะพาน ตลอดจนเป็นการส่งเสริมภูมิทัศน์ย่านกะดีจีน-คลองสาน
ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการไปเกือบ 100% แล้ว เหลือปรับและตกแต่งเพียงเล็กน้อยก็จะสามารถเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ เบื้องต้นที่ประชุมกำหนดให้มีการแถลงข่าวพิธีเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา การลงนาม MOU ระหว่างกรุงเทพมหานครและกรมทางหลวงชนบท การมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวดตั้งชื่อสวนสาธารณะดังกล่าว จากนั้นจะมีการจัดพิธีเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ โดยกรุงเทพมหานครจะเชิญนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานในพิธีเปิดสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา และเปิดให้ประชาชนใช้บริการสวนสาธารณะดังกล่าวได้ในช่วงเวลา 05.00-20.00 น.
สำหรับโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า หรือสะพานด้วน เกิดขึ้นจากการร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร โดยสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรมทางหลวงชนบท และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ในการปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานกว่า 30 ปี ให้กลายเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าที่มีทางเดินและทางจักรยานอยู่ด้วย ความยาว 280 เมตร ความกว้าง 8.50 เมตร มีการติดตั้งราวกันตกความสูง 2-3 เมตร พร้อมทั้งมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีการติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการที่มาใช้บริการอีกด้วย
ด้านภูมิสถาปัตยกรรม มุ่งเน้นการใช้งาน บำรุงรักษาง่าย โดยเลือกใช้พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร มีต้นมะกอกน้ำเป็นไม้ยืนต้นหลัก และพันธุ์พืชอีกนานาชนิด เช่น ชาข่อย, ใบต่างเหรียญ, รัก, หญ้าหนวดแมว, ยี่โถ, ชงโค, ต้อยติ่ง, เอื้องหมายนา ฯลฯ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ให้เมือง อีกทั้งพืชบนสวนลอยฟ้ายังมีประโยชน์กับแมลงและระบบนิเวศโดยรวมด้วย
สำหรับสวนดังกล่าวได้เชื่อมการสัญจรระหว่างฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนคร นอกจากจะใช้ประโยชน์เพื่อการพักผ่อนและออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นจุดชมวิวกลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และยังช่วยชูเสน่ห์ด้านการท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานคร รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวย่านกะดีจีน-คลองสาน คลองโอ่งอ่าง และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายด้านวัฒนธรรมด้วย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์