Q: ผมเปลี่ยนงานบ่อย เฉลี่ยแล้วอยู่ได้ประมาณหนึ่งปีก็ลาออก บางทีหกเดือนก็ลาออกแล้ว เพราะรู้สึกว่าทำแล้วไม่ใช่ก็ไม่อยากเสียเวลา ขณะเดียวกันผมก็ไม่รู้ว่างานแบบไหนใช่สำหรับผม ผมเริ่มเบื่อกับการเปลี่ยนงาน แต่ก็ไม่อยากอยู่กับงานที่ไม่ใช่สักที ไม่รู้ว่าผมจะได้เจองานที่ใช่สักทีไหม ผมควรทำอย่างไรดีครับ ป.ล. งานปัจจุบันที่ผมทำ ผมก็ชักจะเริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่แล้วเหมือนกัน แหะๆ ผมควรลาออกไหมครับ
A: สิ่งที่น้องรู้สึกอยู่ตอนนี้ มีหลายคนรู้สึกว่างานที่ทำอยู่มัน ‘ไม่ใช่’ แล้วก็อยากจะเปลี่ยนงาน แต่เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกก็ยังไม่เจองานที่ ‘ใช่’ เสียที ทีนี้จะทำอย่างไรดีล่ะนี่ พี่เจอคำถามเรื่องนี้แทบจะทุกวัน เพราะฉะนั้น น้องไม่ต้องกลัวว่าจะโดดเดี่ยวแน่นอน
เอาทีละเรื่องก่อน เรื่องแรก งานแบบไหนที่ ‘ใช่’ และ ‘ไม่ใช่’ สำหรับเรา
หลายคนคิดว่าถ้าเราเจองานที่ ‘ใช่’ แล้วแปลว่าจบแล้ว Happy Ending แน่นอน เราไม่ต้องค้นหาอีกต่อไป เราจะทำงานนี้ด้วยความสุขและไม่เจอปัญหาอะไรอีก แต่ในมุมมองของพี่ งานที่เราคิดว่า ‘ใช่’ ในวันนี้ อาจจะกลายเป็นงานที่ ‘ไม่ใช่’ สำหรับเราในอนาคตก็ได้ เพราะสิ่งที่ใช่ในตอนนี้มันใช่เพราะบริบทในชีวิตเป็นแบบนี้ งานที่ใช่ตอบโจทย์ชีวิตเราได้บนเงื่อนไขที่เรามีตอนนี้เท่านั้น มันไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่ามันจะใช่สำหรับเราตลอดไป
พูดง่ายๆ ก็คือ พี่ไม่อยากให้น้องไปยึดติดว่างานที่ใช่ก็ต้องเป็นงานที่ใช่ตลอดไป เมื่อบริบทในชีวิตเปลี่ยน เราอาจจะต้องการบางอย่างในชีวิตที่เปลี่ยนไป ถ้างานเดิมมันยังตอบโจทย์ความต้องการของเราได้ งานนั้นก็ยังใช่อยู่ แต่ถ้างานนั้นมันไม่ตอบโจทย์ มันก็ไม่ใช่ เท่านั้นเอง
เวลาที่เรามองงานให้เรามองงานเป็น ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด มีดีมีเสีย ไม่อยู่นิ่งตายตัว มีความหลากหลายที่ทั้งซับซ้อนและเรียบง่ายในคนเดียวกัน ไม่ต่างกับเราที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ถ้าเรามองแบบนี้ได้ เราจะเข้าใจว่า งานที่ใช่วันหนึ่งก็อาจกลายเป็นงานที่ไม่ใช่ได้ และงานที่ไม่ใช่ก็อาจกลายเป็นงานที่ใช่สำหรับเราก็ได้เหมือนกัน งานเองก็เปลี่ยนไป และต้องการคนทำงานที่เปลี่ยนไปตามสิ่งที่งานนั้นจะต้องการ เช่นเดียวกับคนทำงานที่เปลี่ยนไป ก็ต้องการงานที่เปลี่ยนไปตามคนที่เปลี่ยนเหมือนกัน ถ้าบนการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ ทั้งคนและงานสามารถปรับตัวสอดรับการเปลี่ยนแปลงของกันและกันได้ เราก็อยู่ด้วยกันได้ แต่ถ้าไม่สอดรับกัน อยู่กันต่อไปก็จะยากหน่อย
คีย์เวิร์ดมันคือคำว่า ‘ปรับตัว’ ต่อให้เป็นงานที่ใช่ เมื่อโลกเปลี่ยนไป เราก็ยังต้องปรับตัว หรือถ้าเราเริ่มรู้สึกว่างานมันชักจะไม่ใช่สำหรับแล้ว เราก็ต้องปรับตัว ต้องจูนกัน มีอะไรที่จะปรับกันได้บ้าง ต้องมาคุยกัน
ถ้ามองงานเป็นคน การที่เราจะรู้ว่าใครใช่หรือไม่ใช่สำหรับเรา เราต้องให้เวลากันและกันในการเรียนรู้ คำถามก็คือ เราได้ให้เวลาในการเรียนรู้และปรับตัวแล้วหรือยัง เราได้พยายามอย่างถึงที่สุดแล้วหรือยัง
เรื่องต่อมา มันจะมีงานที่ ‘ใช่’ สำหรับเราสักทีไหม
พี่บอกได้เลยว่า มันไม่มีงานไหนที่เพอร์เฟกต์สำหรับเรา ไม่มีงานไหนที่ฟิตพอดีกับเรา 100% ต่อให้เป็นงานที่เราเป็นเจ้าของ เราก็ไม่สามารถทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ดังใจเราได้ทั้งหมดและในทันที
เพราะอะไรครับ เพราะเราควบคุมทุกอย่างในโลกไม่ได้
พี่คิดว่าคำว่า “เราควบคุมทุกอย่างในโลกไม่ได้” เป็นคำที่สำคัญมากในการใช้ชีวิต ไม่ใช่แค่เรื่องงานนะครับ สามารถเอาไปใช้ได้กับทุกเรื่องในชีวิตได้เลย เพราะคำนี้มันบอกเราอยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือ “เราควบคุมทุกอย่างไม่ได้ แต่เราควบคุมบางอย่างได้นะ” และ “ปล่อยวางบ้างก็ได้นะเธอ”
มันไม่มีงานที่ใช่สำหรับเราทั้ง 100% แต่…มันมีแต่งานที่อยู่ตรงหน้าเรา และเราทำให้มันเป็นงานที่ใช่เท่าที่เราทำได้ นั่นแหละครับคือสิ่งที่เราควบคุมได้
แน่นอนว่าเราไม่สามารถรอให้บริษัทมาทำให้งานที่เราทำเป็นงานที่ใช่สำหรับเราทั้ง 100% แต่เราสามารถทำให้งานที่เราทำอยู่กลายเป็นงานแบบที่ใช่ได้มากที่สุดสำหรับเรา
เมื่อเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างในชีวิตได้ เราก็ต้องปล่อยวาง และเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งตรงหน้าเรา จัดการกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้
เราเปลี่ยน ‘การทำงาน’ ง่ายกว่าเปลี่ยน ‘งาน’ นะครับ
งานที่น้องรู้สึกว่าไม่ใช่ในตอนนี้ก็เหมือนกัน ลองกลับมาดูครับว่า ก่อนที่จะไปถึงการแก้ปัญหาด้วยการลาออก น้องได้ลองพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะทำให้งานนั้นเป็นงานที่ใช่สำหรับเราได้บ้างหรือยัง มีปัญหาอะไรบ้างที่เราพอจะแก้ไขได้ด้วยตัวเอง มีอะไรบ้างที่เราต้องพยายามเพิ่ม และมีอะไรบ้างที่ ณ เวลานี้เราอาจจะยังแก้ไขไม่ได้ แต่เรายังพอจำกัดความเสียหายได้อยู่ให้มันมีผลกับงานที่เราทำน้อยที่สุด
ยิ่งเราย้ายงานบ่อยเกิน และย้ายในเวลาที่เร็วมาก พี่คิดว่าที่ไหนๆ ก็คงมีคำถามแหละว่า น้องจะอยู่ได้นานแค่ไหน รับน้องมาแล้วน้องจะไม่เปลี่ยนใจแน่หรือ อันนี้แหละจะเป็นปัญหา ไม่ได้บอกว่าห้ามย้ายนะครับ แต่การจะตัดสินใจอะไรน้องคงต้องคิดถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างถี่ถ้วนครับ
เรื่องสุดท้ายคือ เลือกงานผิดแล้วรู้สึกเสียดายเวลา
พี่คิดว่าทุกการตัดสินใจของเรา ไม่ว่าจะเลือกผิดหรือเลือกถูก มันมีบทเรียนให้เราเรียนรู้ได้เสมอ
มันจะเรียกว่าเป็นการเสียเวลาถ้าน้องไม่ได้บทเรียนอะไรเลย แต่มันจะเรียกว่าประสบการณ์ ถ้าน้องได้บทเรียนจากทุกการเลือกของน้อง
อย่างที่พี่บอกครับว่า ไม่มีงานไหนใช่ 100% สำหรับเรา แต่อยากแนะนำให้น้องลองทบทวนว่า ในทุกงานที่ผ่านมา รวมทั้งงานที่ทำอยู่ตอนนี้ มีอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่ ‘ใช่’ สำหรับเรา และสิ่งที่ ‘ไม่ใช่’ บ้าง แล้วงานแบบไหนบ้างที่น้องคิดว่า ‘ใช่’ และคิดว่า ‘ไม่ใช่’ ไม่ต้องไล่ลิสต์มาเป็น 100 ข้อนะครับ พี่คิดว่าเอาแค่ Top 5 สิ่งที่น้องต้องการในงาน และสิ่งที่น้องจะไม่ยอมรับในงาน แล้วเอาทั้งหมดทั้งมวลนี้มาประมวล น้องจะเข้าใจตัวเองว่า อะไรคือ ‘ใช่’ และ ‘ไม่ใช่’ สำหรับน้อง
ปัญหาที่หลายคนเจอก็คือ รู้สึกว่างานไม่ใช่ แต่ไม่แยกแยะแจกแจงปัญหาว่า สิ่งที่คิดว่าไม่ใช่นั้นมันไม่ใช่ในจุดไหน และแต่ละจุดนั้นเราจะทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
การเข้าใจตัวเองจะทำให้ก้าวต่อไปของน้องไม่สะเปะสะปะ น้องจะรู้ว่าน้องต้องการอะไรในชีวิต และไม่ต้องการอะไรในชีวิต ที่สำคัญ พอรู้ว่าต้องการอะไรแล้ว กลับมาดูตัวเองด้วยว่า ความสามารถที่เรามีมันไปด้วยกันกับความต้องการในชีวิตของเราบ้างหรือเปล่า ทีนี้น้องจะรู้แล้วว่าอะไรคือจุดแข็งของน้อง อะไรคือคือสิ่งที่น้องต้องพัฒนา เพื่อให้สิ่งที่น้องเป็นสามารถบรรจบกับงานที่น้องมีหรือมองหาได้
สิ่งที่น้องต้องกลับมาดูก็คือ แล้วงานที่ผ่านมาน้องได้เรียนรู้อะไรบ้าง มีประสบการณ์หรือทักษะอะไรบ้างที่น้องได้ติดตัวมา
ไม่ต้องเสียใจที่คิดว่าตัวเองเลือกผิด โลกทุกวันนี้ต้องการคนที่มีทักษะและประสบการณ์ที่หลากหลาย ยิ่งกว้างยิ่งดี เอาเป็นว่าอย่างน้อยถ้าน้องตกผลึกให้ได้ว่า งานแต่ละที่ที่น้องทำมา น้องได้ทักษะและประสบการณ์อะไรที่ติดตัวมาบ้าง และทำให้น้องมีความแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร พี่คิดว่ามันก็เป็นต้นทุนสำคัญในการทำงานและการใช้ชีวิตของน้องครับ
เข้าใจตัวเอง จัดการสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทำสิ่งที่เรามีอยู่ให้กลายเป็นสิ่งที่ใช่เท่าที่เราทำได้ งานที่ใช่อาจจะอยู่ในมือน้องแล้วก็ได้ครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์