×

จันทรายาน-3 ของอินเดีย ลงจอดขั้วใต้ของดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก

โดย Mr.Vop
23.08.2023
  • LOADING...
Chandrayaan

ยาน ‘วิกรม’ ซึ่งเป็นยานลงจอดหรือยานแลนเดอร์ในโครงการ ‘จันทรายาน-3’ ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ISRO) กลายเป็นยานลำแรกของโลกที่สามารถลงจอดบนพื้นที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จ และถือเป็นประเทศที่ 4 ของโลกนับจากสหภาพโซเวียต สหรัฐฯ และจีน ที่สามารถชะลอความเร็วลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างสมบูรณ์ (Soft Landing)

 

หลังยานลงจอดหรือยานแลนเดอร์​ ‘วิกรม’ ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันในภารกิจ ‘จันทรายาน-2’ ล้มเหลวจากการตกกระแทกพื้นดวงจันทร์เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 จากนั้นตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทางอินเดียก็ไม่ละความพยายามในการส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์อีกครั้ง โดยทางทีมงานได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุการตกของยานวิกรมในภารกิจ ‘จันทรายาน-2’ แล้วนำข้อบกพร่องต่างๆ มาปรับปรุงแก้ไข หลักๆ คือการตัดเครื่องยนต์ขับดันแบบปีกผีเสื้อตรงกลางซึ่งไม่สามารถปรับมุมได้ออกไป ทำให้ยานวิกรมในภารกิจ ‘จันทรายาน-3’ มีเพียง 4 เครื่องยนต์แทนที่จะมีถึง 5 เครื่องยนต์เหมือนยานวิกรมในภารกิจ ‘จันทรายาน-2’ นอกจากนี้ยังมีการปรับตัวเครื่องยนต์ให้มีความสามารถในการเปลี่ยนมุมขับเคลื่อนที่ได้ไวขึ้น จาก 10 องศาต่อวินาที เป็น 25 องศาต่อวินาที รวมทั้งมีการเพิ่มกล้อง Laser Doppler Velocimetry (LDV) เพื่อให้สามารถวัดระยะห่างได้แบบ 3 ทิศทาง เพิ่มความแข็งแรงที่ส่วนขาของยานเพื่อให้รับแรงกระแทกได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการอัปเดตซอฟต์แวร์และระบบฉุกเฉินอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

 

และแล้วในที่สุดความพยายามก็ประสบผล เส้นทางของจันทรายาน-3 ในครั้งนี้เป็นไปตามแผนการด้วยดีทุกขั้นตอน ตั้งแต่ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม เข้าสู่วงโคจรดวงจันทร์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม จนถึงขั้นตอนที่ยานวิกรมแยกตัวออกจากโมดูลขับดันเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม และได้ไปถึงจุดที่มีการส่งสัญญาณทักทายกับโมดูลโคจรของจันทรายาน-2 เมื่อวานนี้

 

หลังเวลา 19.15 น. ของวันนี้ (23 สิงหาคม) ยานวิกรมเข้าสู่ขั้นตอนติดเครื่องยนต์ชะลอความเร็วแนวนอนที่ความสูง 30 กิโลเมตรจากผิวดวงจันทร์ เพื่อลดความเร็วจาก 1.68 กิโลเมตรต่อวินาทีจากความเร็วโคจร จนยานสามารถผ่านความสูง 2.1 กิโลเมตรจากพื้น ซึ่งเคยเป็นจุดที่ยานลำเดิมเกิดปัญหา ยานวิกรมปรับตัวเป็นแนวตั้งที่ความสูง 800 เมตรจากผิวดวงจันทร์ ได้ติดเครื่องยนต์เพื่อต้านแรงโน้มถ่วงจนสามารถลงแตะผิวดวงจันทร์ได้อย่างนิ่มนวล ท่ามกลางความยินดีของทีมงานและทุกคนที่สนใจ

 

หลังจากนี้ยาน ‘วิกรม’ จะปฏิบัติหน้าที่สำรวจทางวิทยาศาสตร์ต่อไปอีก 1 วันดวงจันทร์ ซึ่งยาวนานเท่ากับ 14 วันโลก รวมทั้งจะมีการปล่อยยานโรเวอร์ 6 ล้อ ‘ปรัชญาณ’ ออกมาวิ่งสำรวจเพิ่มเติมด้วย

 

ภาพ: R.Satish BABU / AFP

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising