×

โอกาสและความเสี่ยงที่มาพร้อมกัน ในวันที่ไทยเปิดบ้านให้ Alibaba

23.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • แจ็ค หม่า มาเยือนไทยพร้อมเซ็นข้อตกลง 4 ฉบับ ประกาศลงทุนกว่าหมื่นล้าน ดันไทยเป็น Smart Digital Hub
  • บางส่วนกังวลว่าไทยจะเสียเปรียบ สินค้าจีนทะลักเข้ามามากขึ้น โดยปี 2560 ไทยขาดดุลการค้าจีนถึงกว่า 5 แสนล้านบาท
  • นักวิชาการเชื่ออีคอมเมิร์ซมีผลดี ลดบทบาทคนกลาง เป็นโอกาสเชื่อมโยงตลาดจีน ภาครัฐต้องปกป้องผู้ประกอบการไทยอย่างเหมาะสม

การมาเยือนประเทศไทยของ แจ็ค หม่า เจ้าพ่ออาลีบาบา (Alibaba) รอบนี้ไม่ธรรมดา เพราะนอกจากจะมาจริงแล้ว ยังลงทุนจริงโดยประกาศอัดฉีดเม็ดเงิน 1.1 หมื่นล้านบาทในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อผลักดัน Smart Digital Hub ซึ่งถือเป็นการประเดิมโครงการขนาดใหญ่หลังจากที่รัฐบาลตั้งแผงขายทั้งโครงการและความหวังของสปริงบอร์ดแห่งความหวังนี้มานานสองนาน

 

 

คำมั่นสัญญาระหว่างแจ็ค หม่าและรัฐบาลไทย คือการเชื่อมโยงตลาดการค้าไทย-จีน โดยมีอาลีบาบาเป็นสะพาน และยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีนก็ยินดีที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการไทย แม้ว่าขณะนี้จะยังเร็วเกินไปที่จะสรุปเรื่องดังกล่าวว่าประเทศไทยได้คุ้มเสียหรือไม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือทัศนะที่หลากหลายของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ การค้า หรือกระทั่งตัวผู้นำประเทศก็ยังแตกต่างกันพอสมควร สำนักข่าว THE STANDARD จึงไล่เลียงทั้งโอกาสและความกังวลที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาให้ได้ติดตามกัน

 

 

เปิดข้อตกลงอาลีบาบากับรัฐบาลไทย ผู้เชี่ยวชาญกังวลรายเล็กอยู่ยาก

“ผู้คนหาเรื่องให้วิจารณ์กันได้หมดล่ะ แต่ขอให้รู้ว่าแจ็ค หม่าและทีมของเขาไม่เคยแคร์เรื่องนี้ เราแคร์ในสิ่งที่เราเชื่อและสิ่งที่เราควรจะเป็น”

 

เป็นประโยคเด็ดจากแจ็ค หม่า ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องการผูกขาดทางการค้า ในวันแถลงข่าวลงนามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและอาลีบาบา อีคอมเมิร์ซระดับโลกจากประเทศจีน ไม่เพียงแต่เป็นนักธุรกิจที่ฉลาดเป็นกรดเท่านั้น สังคมยังยอมรับเขาในฐานะนักพูดที่ยอดเยี่ยมด้วย

 

 

สำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและอาลีบาบามี 4 ส่วนคือ

 

1. โครงการ Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการค้ากับจีนและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีของอาลีบาบามาช่วยด้านโลจิสติกส์ผ่านไช่เหนี่ยว (Cainiao Network) ซึ่งเป็นธุรกิจด้านโลจิสติกส์ของอาลีบาบา เพื่อพัฒนาการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับจีน การขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนสู่ CLMV และจุดอื่นทั่วโลก คาดว่าจะเริ่มก่อสร้าง Smart Digital Hub ได้ภายในปีนี้ และเริ่มดำเนินการในปี 2562

 

2. โครงการส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการไทย โดย Alibaba Business School (ABS) จะทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการพัฒนา SMEs ไทย รวมถึงวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย โดยช่วยให้เข้าถึงตลาดจีน รวมถึงตลาดในภูมิภาคได้ คาดว่ารายได้จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตถึง 1.13 แสนล้านบาทในปีนี้ และจะขยับแตะ 1.8 แสนล้านบาท ในปี 2565

 

 

3. โครงการอบรมพัฒนาดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาคนเก่งหรือดาวเด่นด้านดิจิทัล (Digital Talent) ในประเทศไทย โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษา บุคลากรด้านการศึกษา รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมพัฒนาในด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งสร้างเครือข่าย (Networking) กับดาวเด่นทั่วโลกที่ประเทศจีน

 

4. โครงการความร่วมมือด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวดิจิทัล โดยร่วมมือกับฟลิกกี้ (Fliggy) บริษัทด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ของจีน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อผลักดันด้านดิจิทัลแบบครบวงจรตั้งแต่กระบวนการทางวีซ่า บริการหลังเดินทางแบบดิจิทัล การคืนเงินภาษีนักท่องเที่ยวผ่านระบบ Alipay ซึ่งคาดว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนและเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวได้มากขึ้น

 

แม้จะดูเหมือนประเทศไทยมีแต่ได้กับได้ ทั้งเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่จากต่างแดน หรือกระทั่งความรู้ด้านเทคโนโลยีและการจัดการธุรกิจ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้คนเลิกสงสัยและถามเรื่องโอกาสและภัยคุกคามทางการค้าที่เกิดขึ้นได้หลังจากที่ประเทศไทยอ้าแขนรับอาลีบาบาหวังจะใช้เป็นสะพานเชื่อมโยงสินค้าจากสยามประเทศไปสู่ดินแดนพญามังกรได้โดยง่าย

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอม อีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยเห็นว่า ผลดีจากกรณีดังกล่าวคือผู้ประกอบการจะมีช่องทางส่งออกสินค้าไทยไปขายในจีนได้มากขึ้น แต่สิ่งที่มองข้ามไม่ได้คือการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีของจีน ซึ่งขณะนี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ‘ลาซาด้า’ ของอาลีบาบาเข้าถึงคนไทยทุกระดับ เป็นช่องทางสำคัญในการซื้อสินค้าจากจีน ลาซาด้าจึงกลายเป็นตลาดออนไลน์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยที่มีขนาดใกล้เคียงกันยังไม่มี เป็นไปได้ที่ลาซาด้าในฐานะเจ้าของตลาดจะเป็นผู้คุมเกมเสียเอง จึงต้องดูให้ละเอียดว่าท้ายที่สุดประเทศไทยคุ้มค่าหรือไม่กับเรื่องดังกล่าว สิ่งที่ภาวุธกังวลคือ ผลกระทบกับผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า ธุรกิจขนาดเล็ก และเทรดเดอร์ที่นำเข้าสินค้าจากจีนมาขาย หรือผู้ผลิตสินค้าที่ถูกทดแทนได้ด้วยสินค้าจากจีน ซึ่งจะอยู่รอดได้ยากเมื่อสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น

 

 

ขณะที่ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งคำถามบทบาทของอาลีบาบากับประเทศไทยมาสักระยะแล้ว ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมาเมื่อ Ant Financial ผู้ให้บริการ Alipay ตัดสินใจลงทุน 4.2 พันล้านบาทใน Ascend Money บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งให้บริการ True Money บริการทางการเงินทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ซึ่งในอนาคตจะมีบริการด้านเงินกู้ ประกันภัย และการลงทุนอีกด้วย โดยเขามองว่าการร่วมมือกันของสองยักษ์ใหญ่นี้จะทำให้ผู้บริโภคสะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็เป็นห่วงผู้ประกอบการฟินเทครายอื่นที่จะแข่งขันได้ยาก รวมถึงการพัฒนาธุรกิจขนาดเล็กและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วย

 

กรณ์เห็นว่าประเทศไทยยังเน้นพึ่งพาการค้าขายระหว่างประเทศอย่างมาก ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่เป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็กกลับไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของตนเอง ซึ่งค่อนข้างน่ากังวลเมื่อไทยเชื่อมต่อกับตลาดจีนซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ผลิตสินค้าด้วยต้นทุนที่ตํ่ากว่า แล้วจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ นอกจากนี้ยังเห็นพ้องกับภาวุธเรื่องฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งข้อมูลบนโลกดิจิทัลของคนไทยทุกวันนี้ส่วนใหญ่อยู่บนแพลตฟอร์มต่างชาติแทบทั้งสิ้น จึงเป็นไปได้มากที่จะกระทบกับธุรกิจบริการทางการเงิน ซึ่งกรณ์เรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อรับมือกับส่วนนี้ด้วย

 

สิ่งที่สะท้อนความกังวลเรื่องนี้ได้ดีคือตัวเลขการค้า หากพิจารณามูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ปี 2560 มูลค่าสูงทะลุ 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งไทยนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท และส่งออกสินค้าไปยังจีนเกือบ 1 ล้านล้านบาท นั่นคือปีที่ผ่านมาไทยขาดดุลการค้าแก่จีนกว่า 5 แสนล้านบาท หรือขาดดุลมากขึ้นเกือบ 21% และถ้าขยับมาดูตัวเลขการค้าไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปี 2561 คิดเป็นมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกเกือบ 2.3 แสนล้านบาท และการนำเข้าเกือบ 3.8 แสนล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าแก่ประเทศจีนเกือบ 1.5 แสนล้านบาท นั่นคือไตรมาสแรกของปีนี้ขาดดุลการค้ามากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 40% เลยทีเดียว

 

ถ้ามองการรุกคืบของสินค้าจีนเป็นปัจจัยกดดันต่อภาคธุรกิจก็ไม่ถือว่าผิด

 

 

เมื่อจีนบุกตลาดโลก นักวิชาการชี้มีโอกาสต้องคว้าไว้ มองอีคอมเมิร์ซลดบทบาทคนกลาง

สำหรับกระแสวิจารณ์เรื่องทุนใหญ่จากจีนอาจจะเข้ามาผูกขาดตลาดไทย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร้องขอให้ประชาชนและภาคธุรกิจเปิดใจมองให้รอบด้านโดยเฉพาะสิ่งที่ไทยจะได้รับ โดยกำชับให้ฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาเรื่องสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติให้เหมาะสม ควบคุมดูแลสินค้านำเข้าเพื่อปกป้องผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศ ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ แนะนำให้นักธุรกิจไทยปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขัน ควรมองเป็นความท้าทาย เพราะคนไทยมีศักยภาพไม่แพ้ใครในโลก โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

 

ขณะที่ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีของมหาวิทยาลัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า ทุกวันนี้ธุรกิจจากจีนก็เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอยู่แล้วทั้งการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนมาจำหน่าย ตลาดอีคอมเมิร์ซอย่างลาซาด้า หรือกระทั่งการร่วมลงทุนของ JD.com กับธุรกิจค้าปลีกไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้

 

 

รศ.ดร.สมภพให้ข้อมูลว่า เศรษฐกิจของประเทศจีนไม่ได้เติบโตร้อนแรง 6-7%แบบที่เป็นมา สิ่งที่จีนต้องให้ความสำคัญคือการบริโภคภายในประเทศจีนเองซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ หากพิจารณาผู้ประกอบการขนาดเล็กในไทย โอกาสที่จะขยายธุรกิจหรือช่องทางการจัดจำหน่ายไปยังต่างประเทศถือเป็นเรื่องยาก ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้ซื้อในจีนจะติดต่อผู้ผลิต-ผู้ขายในไทยได้โดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางที่คอยกดราคาอย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งระบบของอีคอมเมิร์ซมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีทางเลือกให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญ

 

“ที่บอกว่ารายเล็กๆ อยู่ไม่ได้ ต้องไปดูว่าผู้ประกอบการรายเล็กๆ หรือเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซเล็กอยู่ไม่ได้กันแน่”

 

 

สิ่งที่ภาครัฐต้องใส่ใจคือการจัดระเบียบ การวางกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการของไทย ปัจจุบันมีข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนอยู่แล้ว สินค้าจากประเทศจีนก็ถูกนำเข้ามาจำหน่ายในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องปรับตัว พัฒนาสินค้า สร้างนวัตกรรม ไม่เพียงแต่การจำหน่ายในประเทศเท่านั้น แต่ต้องมองไกลไปถึงการขยายไปสู่ผู้บริโภคชาวจีนที่มีศักยภาพด้วย

 

รศ.ดร.สมภพ เสนอว่า ควรเปิดพื้นที่การแข่งขันให้กับอีคอมเมิร์ซทุกรายทั้งอาลีบาบา แอมะซอน JD.com ไม่ควรปิดกั้นหรือเลือกปฏิบัติ ซึ่งเมื่อเกิดการแข่งขันประโยชน์ก็จะเกิดกับผู้บริโภค โดยต้องกำกับ ดูแล และปกป้องธุรกิจไทยอย่างเป็นธรรมด้วย

 

ถือเป็นความเห็นที่แตกต่างกันต่อกรณีไทยเปิดบ้านต้อนรับอาลีบาบา ระหว่างที่จับตาดูทุกฝีก้าวของยักษ์ใหญ่จากจีนนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำหนีไม่พ้นการพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

 

และโอกาสเป็นของคนที่มองเห็นมันเท่านั้น

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising