ปัญหาอาหารเหลือทิ้งเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม อย่างรุนแรง โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประมาณการว่าทั่วโลกมีอาหารถูกทิ้งหรือสูญเสียไปประมาณ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตเพื่อการบริโภคของมนุษย์ ซึ่งการผลิตอาหารที่สูญเสียไปนี้คิดเป็น 8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก
ขณะที่ประเทศไทยก็เผชิญปัญหาร้ายแรงจากอาหารเหลือทิ้งคิดเป็น 64% ของขยะทั้งหมด โดยคนไทยทิ้งอาหารเฉลี่ย 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
ที่น่าสนใจคือ ภาคค้าปลีกมีบทบาทสำคัญในการสร้างและจัดการปัญหานี้ โดย ReFED (2020) พบว่า ภาคค้าปลีกในสหรัฐอเมริกามีส่วนในการสร้างอาหารเหลือทิ้งประมาณ 13% ของอาหารที่สูญเสียไปทั้งหมด ซึ่งเกิดจากการสั่งซื้อสินค้าเกินความจำเป็น การจัดการสต็อกที่ไม่มีประสิทธิภาพ และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพที่เข้มงวดเกินไป
ภาคค้าปลีกก็มีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาอาหารเหลือทิ้ง ซึ่งสำหรับในไทยนั้น เซ็นทรัล ฟู้ด กรุ๊ป (Central Food Group) มองเห็นเรื่องนี้และร่วมมือกับ SmartWay นำร่องทดสอบโซลูชันการจัดการอาหารเหลือทิ้งด้วยระบบดิจิทัลที่ร้าน Tops 5 สาขา ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
โครงการนำร่องนี้มีกำหนดเริ่มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 โซลูชันของ SmartWay ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการขับเคลื่อน ช่วยให้ทีมงานในร้านสามารถระบุสินค้าใกล้หมดอายุ กำหนดกลยุทธ์การลดราคา 20-40% และวางแผนการสั่งซื้อสินค้าได้อย่างแม่นยำ ซึ่งส่งผลดีต่อลูกค้า ช่วยเพิ่มกำลังซื้อและลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง ถือเป็นโครงการริเริ่มครั้งแรกในประเทศไทย
ลึกเข้าไปเหตุผลที่ธุรกิจค้าปลีกต้องให้ความสำคัญกับการจัดการอาหารเหลือทิ้งมีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่องหลัก ได้แก่
- ลดต้นทุน: การลดอาหารเหลือทิ้งหมายถึงการลดต้นทุนในการจัดซื้อ จัดเก็บ ขนส่ง และกำจัดสินค้าที่ไม่สามารถขายได้
- สร้างรายได้: อาหารที่ใกล้หมดอายุหรือมีตำหนิเล็กน้อย สามารถนำมาขายในราคาลดพิเศษหรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม
- เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดี: ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคม การแสดงความมุ่งมั่นในการลดอาหารเหลือทิ้งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความภักดีต่อแบรนด์
SmartWay ระบุว่า AI จะทำให้ทุกภาคส่วนได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ร้านค้าปลีกได้ลดปริมาณอาหารเหลือทิ้ง เพิ่มรายได้ให้กับร้านค้า พนักงานจะสามารถทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึง 4 เท่า ด้วยคำแนะนำในการจัดการสินค้าใกล้หมดอายุ ส่วนลูกค้าก็จะได้รับประโยชน์ด้วยทางเลือกในการซื้อสินค้าลดราคาที่หลากหลายมากขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มกำลังซื้อ
“เซ็นทรัล ฟู้ด กรุ๊ป ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความยั่งยืนแห่งอุตสาหกรรมค้าปลีกในภูมิภาคเอเชีย โดยมีเป้าหมายอันท้าทาย ได้แก่ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 30% ภายในปี 2573 สนับสนุนผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงนำระบบการจัดการขยะมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายลดปริมาณขยะอาหารลง 30%” สเตฟาน คูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฟู้ด เซ็นทรัล รีเทล กล่าว
อย่างไรก็ตาม เซ็นทรัล ฟู้ด กรุ๊ป ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ได้ดำเนินโครงการ ‘FOOD for GOOD DEED อาหารปันสุข’ เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและลดปริมาณอาหารส่วนเกิน โครงการนี้ได้แจกจ่ายอาหารส่วนเกินที่ยังคงคุณภาพจากร้านค้า 129 สาขาของ Tops, Tops Food Hall และ Tops Daily รวมถึงจากศูนย์กระจายสินค้าสดให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน ปัจจุบันโครงการนี้ได้แจกจ่ายอาหารกว่า 5 ล้านมื้อให้แก่ชุมชนกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ