×

พูดคุยเรื่องเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย ผ่านมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนด้วยไอเดีย

15.08.2021
  • LOADING...
เมืองสร้างสรรค์

THE STANDARD POP ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA, UNESCO (ประเทศไทย) และกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (Ministry of Culture, Sports and Tourism) สาธารณรัฐเกาหลี ชวนคุณทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ความสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่ง Creative City in Thailand Through the Eyes of the Next Generation เป็นการเสวนาต่อเนื่องในหัวข้อเมืองสร้างสรรค์ โดยหลังจากที่วิทยากรจาก UNESCO ได้ปูพื้นฐานทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าเมืองสร้างสรรค์ภายใต้บริบทปัจจุบันในศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว เสวนาครั้งนี้ เราได้พูดคุยต่อกับบุคคลที่มีบทบาทในประเทศไทยทั้งจากทางภาครัฐและเอกชน 

 

วิทยากรประกอบไปด้วย วรงค์ บุญอารีย์ (Re-imagining หมอลำค่ายเพลงราชบุตรสเตอริโอ), ยศพล บุญสม (ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเมือง ภูมิสถาปนิก และผู้บริหาร บริษัท ฉมา จำกัด), แพรวพร สุขัษเฐียร (ผู้ร่วมก่อตั้งและนักออกแบบ บริษัท ใจบ้านสตูดิโอ), ปราชญ์ นิยมค้า (นักออกแบบลวดลาย ผ้าย้อมสีธรรมชาติ และเจ้าของธุรกิจผ้าคราม Mann Craft), ชิดชนก ชิดชอบ (ผู้อำนวยการฝ่ายสินค้าที่ระลึกสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด), ฆฤณ กังวานกิตติ (นักพัฒนาเครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์อาวุโส สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ องค์การมหาชน หรือ CEA) และ ปริยาภา อมรวณิชสาร (เจ้าหน้าที่กองยุทธ์ศาสตร์และแผนงาน กระทรวงวัฒนธรรม)

 

ติดตามชมคลิปวิดีโอตัวเต็มได้ที่

 

 

จากเสวนาแรกที่เราได้พูดถึงโครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การ UNESCO หรือ UCCN ไปแล้วนั้น ปัจจุบันในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 4 จังหวัดที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ได้แก่ ภูเก็ต (Gastronomy), เชียงใหม่ (Craft & Folk Art), สุโขทัย (Craft & Folk Art) และกรุงเทพมหานคร (Design) แต่นอกเหนือจากนั้นทุกวันนี้ CEA ยังได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมากเพื่อวางแผนดำเนินการเพื่อออกแบบพื้นที่ของตัวเองให้มีการพัฒนาผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ว่าสุดท้ายพื้นที่จะยื่นเป็นหนึ่งในจังหวัดเครื่อข่าย UCCN หรือไม่ สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัด/พื้นที่ของตัวเองอย่างยั่งยืน  

 

สิ่งสำคัญของการดำเนินงาน 

ในการจะพัฒนาเมืองในขอบเขตของการเป็น ‘เมืองสร้างสรรค์’ นั้น เมืองต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ลงลึกทั้งเชิงนโยบาย ผู้ประกอบการ และชุมชน เพื่อหาอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ และนำไปพัฒนาต่อ เราสามารถเริ่มต้นได้จากการสร้างกลุ่มขับเคลื่อนในเมืองแต่ละจังหวัด มีเป้าหมายร่วมกันและแพลตฟอร์มกลางที่เปิดให้ทุกคนมีพื้นที่คุยกัน 

 

หัวใจของ ‘เมืองสร้างสรรค์’ คือการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยใช้มิติของศิลปะวัฒนธรรมเข้าไปช่วยขับเคลื่อนให้เกิดพลวัตที่ดี เกิดความเป็นอยู่ที่ดีที่ทุกคนมีส่วนร่วม การได้เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ไม่ใช่การได้รางวัลแล้วจบไป แต่หัวใจของมันคือคุณภาพชีวิตของผู้อยู่ที่ต้องเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

การพัฒนาเพื่อคนในพื้นที่อย่างแท้จริง 

ในการพัฒนาเมืองที่ผ่านมา เราไม่เคยตั้งคำถามว่า “เราจะพัฒนาให้คนในพื้นที่อยู่ดีได้อย่างไร” ยกตัวอย่างเชียงใหม่ ที่ผ่านมาเราพัฒนาบนคำถามที่ว่า “นักท่องเที่ยวจะแฮปปี้ได้อย่างไร” แต่ตอนนี้มันต้องเปลี่ยน คำถามที่มักจะถูกพูดถึงท้ายๆ คือ คนในพื้นที่จริงๆ จะอยู่อย่างไร คนที่เป็นต้นทางของงานคราฟต์ล่ะ เขาจะอยู่ในเมืองกับเราได้อย่างไร เด็กที่กำลังเติบโตขึ้นมาหรือเด็กที่ได้เข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อจบไปเขาจะยังสามารถอยู่ที่นี่ได้ไหม เขาจะมีส่วนร่วมดูแลเมืองได้อย่างไร เหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องให้ความสำคัญ และต่อให้เชียงใหม่จะอยู่ในฐานะ Craft & Folk Art ต่างก็เกี่ยวกับเมืองและสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งนั้น เพราะเราต้องอยู่ร่วมกันเลยต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน  


ความสำคัญของพื้นที่สาธารณะ 

การจะเป็นเมืองสร้างสรรค์ได้ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือการมีพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียว เพราะมันคือการทำให้คนมาเจอกันและมีปฏิสัมพันธ์กัน ทุกคนในที่นี้ต้องไม่ใช่แค่ดีไซเนอร์หรือนักออกแบบ แต่คือทุกคนในชุมชนจริงๆ การพัฒนาพื้นที่สาธารณะไม่จำเป็นต้องใหญ่ ตัวชี้วัดที่จะบอกว่าพื้นที่นี้ดีคือมันต้องตอบโจทย์การใช้งานของคนในชุมชน เขาต้องรู้สึกเป็นเจ้าของมัน และเมื่อเขาหวงแหน เขาก็จะอยากดูแลรักษามัน  

 

คนรุ่นใหม่คือตัวกลางในการเชื่อมต่อวัฒนธรรมเก่าแก่ให้ร่วมสมัย 

หนึ่งในปัจจัยของการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ คือหาอัตลักษณ์ของพื้นที่ให้เจอและนำมาสื่อสารอย่างร่วมสมัย กรณีวันนี้ยกตัวอย่างเช่น ราชบุตรสเตอริโอ จังหวัดอุบลราชธานี ค่ายเพลงหมอลำเก่าแก่ที่มีสินทรัพย์ทางดนตรีของภาคอีสานอยู่เยอะมาก ทุกวันนี้ผู้คนให้ความสนใจดนตรีหมอลำอย่างกว้างขวาง กุญแจสำคัญคือการเข้าไปจัดการข้อมูลและนำเสนอมันออกมา ให้คนรุ่นใหม่และคนในวงกว้างเข้าถึงได้ง่ายและคงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจของคนรุ่นหลัง 

 

เช่นเดียวกับนิทรรศการสกลเฮ็ด จังหวัดสกลนคร เทศกาลที่ต้องการบอกเล่างานฝีมือ ความสามารถของชาวสกลนครที่ได้พลังของคนรุ่นใหม่เข้าไปจัดการขับเคลื่อนให้กลายเป็นเทศกาลประจำปี เทศกาลที่เกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชนจริงๆ ที่ทำหน้าที่เล่าต่อเรื่องราวของสกลนครให้ดังออกไปในวงกว้าง 

 

ความสร้างสรรค์คือทรัพยากรที่มีไม่จำกัด

หลากหลายจังหวัดอาจมีทะเล ภูเขา หรือวัฒนธรรมให้พัฒนาต่อ แต่ ‘บุรีรีมย์’ คือโมเดลที่แสดงให้เห็นว่าความเป็นไปได้ของการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยความสร้างสรรค์นั้นสามารถทำได้ผ่านไอเดียที่ไม่จำกัด ด้วยความหลงใหลในเรื่องของกีฬาทำให้บุรีรัมย์ปั้น ‘บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด’ ให้กลายเป็นความภูมิใจระดับจังหวัด กีฬาประกอบไปด้วยนักฟุตบอล โค้ช และแฟนบอล ด้วยการสนับสนุนของทุกฝ่ายจึงทำให้ทีมแข็งแกร่ง นอกจากนั้นการหยิบเอางานฝีมือมาเป็นส่วนหนึ่งของของที่ระลึกสโมสร คือการผสานความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในจังหวัด ทำให้แฟนบอลและชุมชนเห็นว่า ฟุตบอลไม่ได้จบแค่ในสนาม แต่กลับไปสู่ชุมชนด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising