×

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้องชั้นตรวจคำฟ้อง 5 กสทช. ไม่ผิด ม.157 มีมติรับทราบให้ควบรวมกิจการ ‘TRUE-DTAC’

โดย THE STANDARD TEAM
01.03.2023
  • LOADING...
TRUE-DTAC

วันนี้ (1 มีนาคม) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาชั้นตรวจคำฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ อท 199/2565 ระหว่าง ธนิกานต์ บำรุงศรี ยื่นฟ้อง ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ต่อพงศ์ เสลานนท์, พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ, พิรงรอง รามสูต และ ศุภัช ศุภชลาศัย ทั้งหมดเป็นกรรมการ กสทช. จำเลยที่ 1-5 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

 

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องสรุปว่า โจทก์เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS จึงเป็นผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิจาก กสทช. วันที่ 20 ตุลาคม 2565 จำเลยทั้งห้าร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในคราวประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วาระการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค

 

ผลการประชุมปรากฏว่า จำเลยทั้งห้ามีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง ลงมติรับทราบการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค โดยจำเลยทั้งห้าจัดให้มีการประชุมและลงมติโดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และรับฟังความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด) เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

 

จําเลยที่ 2 ไม่มีความเป็นกลางและมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัททรู จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ลงมติรับทราบเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการมิชอบ การที่จำเลยที่ 3 ในฐานะประธาน กสทช. เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ใช้สิทธิลงมติ 2 ครั้ง ในการประชุมวาระการพิจารณา เรื่อง การรวมธุรกิจระหว่างบริษัทรูกับบริษัทดีแทค เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

 

การที่จำเลยที่ 3 ใช้สิทธิลงมติงดออกเสียงในการประชุมในวาระดังกล่าว เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ การออกมาตรการเฉพาะของจำเลยทั้งห้าที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูกับบริษัทดีแทคขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขอให้ลงโทษจําเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

 

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยดังนี้

 

  1. พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 28 บัญญัติให้ กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลเป็นการใช้บังคับทั่วไป แต่สำหรับกรณีการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค เป็นการพิจารณาเพื่อมีมติหรือมีคำสั่งเกี่ยวข้องหรือผูกพันเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตเฉพาะราย คือบริษัททรูและบริษัทดีแทคเท่านั้น ไม่ได้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป จำเลยทั้งห้าจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสียหลักก่อน ส่วนกรณีไม่นำรายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบและการรับฟังความคิดเห็นของที่ปรึกษาอิสระ จำเลยทั้งห้าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการแล้ว

 

  1. จําเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณา จึงไม่มีเหตุต้องห้ามมิให้พิจารณา เรื่องทางปกครองไม่ปรากฏว่ากลุ่มบริษัททรูมีพฤติการณ์แทรกแซงการทำงานของจำเลยที่ 2 จนขาดอิสระในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. จำเลยที่ 2 จึงสามารถเข้าร่วมประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาและมีมติเกี่ยวกับการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคได้

 

  1. การรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคไม่ใช่เป็นการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด หรือบางส่วน เพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น แต่เป็นการรวมธุรกิจ ที่บริษัทจํากัด (มหาชน) 2 บริษัทขึ้นไป ควบรวมกันแล้วนำไปจดทะเบียนเป็นบริษัทจํากัด (มหาชน) ขึ้นใหม่ โดยบริษัททรูและบริษัทดีแทคสิ้นสภาพจากการเป็นนิติบุคคลเดิม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และมาตรา 22 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจ กสทช. ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตรวมธุรกิจของผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด เพียงแต่ให้อำนาจ กสทช. เฉพาะในเรื่องการกำหนดมาตรการการป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาดเท่านั้น และที่ผ่านมา กสทช. เคยพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด 9 กรณี และ 9 กรณีดังกล่าวได้มีการลงมติเพียงรับทราบรายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตทั้งสิ้น ไม่มีกรณีใดที่ กสทช. มีมติอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 เเละ 2 ลงมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

 

  1. การประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วาระการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค กรณีจึงต้องบังคับตามข้อ 41 วรรคสาม ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2555 โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานของคณะกรรมการ กสทช. ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ กสทช. มีเสียงของผู้เห็นด้วยว่าการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน การลงมติของจําเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทําที่ถูกต้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

 

  1. พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กําหนดให้การประชุมการลงมติและการปฏิบัติงานของ กสทช. ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กสทช. กำหนด ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ มิได้มีข้อกำหนดให้กรรมการ กสทช. ต้องออกเสียงทุกครั้งทุกคราวที่มีการประชุม และมิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการงดออกเสียงไว้ การที่จำเลยที่ 3 งดออกเสียงในการประชุมพิจารณาการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่น จึงไม่มีเหตุแห่งการที่จะพิจารณาว่าจำเลยที่ 3 กระทำการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

 

  1. มาตรการเฉพาะที่จําเลยทั้งห้ากําหนดเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูกับบริษัทดีแทคได้พิจารณาข้อกังวลในหลายประเด็น ได้แก่ อัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ การเข้าสู่ตลาดและประสิทธิภาพการแข่งขันและการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย คุณภาพ การให้บริการ การถือครองคลื่นความถี่ การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 (มาตรา 77) วรรคสาม ทั้งยังเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และ 22

 

ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำผิดตามฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบกับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องต่อไป พิพากษายกฟ้อง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริง 3 นัด และให้คู่ความชี้แจง รวมระยะตั้งแต่วันฟ้องถึงวันอ่านคำสั่งหรือคำพิพากษาเวลา 3 เดือน 17 วัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising