×

นวัตกรรมเปลี่ยนโลก: เปลี่ยนอย่างไร ทำไมประเทศไทยต้องแคร์? [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
25.07.2018
  • LOADING...

ใน 4-5 ปีมานี้ ข่าวการปรับตัวหนีตายของธุรกิจชั้นนำจากคลื่นยักษ์ที่เรียกว่า Digital Disruption ได้สร้างกระแสตื่นตัวไปทั่วโลก สมาร์ทโฟนที่มีราคาถูกลง และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และทำแทบทุกกิจกรรมบนโลกออนไลน์ภายในเสี้ยววินาที เช่น สืบค้นข้อมูล ฟังเพลง ดูหนัง โอนเงิน เรียกแท็กซี่ หรือแม้แต่เปิดกิจการของตนเอง การพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ยิ่งตอกย้ำกฎของมัวร์ที่ว่า เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกๆ 2 ปี ในราคาที่ถูกลง

 

เราข้ามผ่านยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมไอน้ำครั้งแรกและครั้งที่ 2 มาสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเปิดประตูพรมแดนการสื่อสารทั่วโลก ทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 200 ปี แต่เรากำลังจะก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ด้วยอัตราเร็วกว่านั้นมาก

 

วันนี้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาเร็วจนถึงขั้นที่เริ่มเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ผู้ช่วยส่วนบุคคลอัจฉริยะ Alexa ของ Amazon สามารถพูดคุย รับคำสั่ง และช่วยจัดการชีวิตของเราให้ง่ายขึ้น เช่น เตือนนัดประชุม ปรับอุณหภูมิห้อง ปิดไฟ หรือแม้แต่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์เมื่อของในตู้เย็นหมดสต็อก บริษัท Cisco ผู้นำทางด้านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระดับโลกคาดว่า ภายในปี 2020 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั่วโลกจะเชื่อมต่อกันกว่า 5 หมื่นล้านชิ้นเลยทีเดียว

 

 

เรย์ เคิร์ซวีล สุดยอดนักคิดชาวอเมริกัน และผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมด้าน AI แห่งกูเกิล ชี้ว่า การพัฒนาแบบก้าวกระโดดไม่ได้หมายถึงปัญญาประดิษฐ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเทคโนโลยีด้านอื่นๆ เคิร์ซวีลทำนายว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ความก้าวหน้าทางวิศวพันธุกรรมจะเปิดโอกาสให้มนุษย์ทำสำเนาจีโนมในรูปแบบดิจิทัล เพื่อใช้ทดลองและรักษาทางการแพทย์ หุ่นยนต์จะมีขนาดเล็กลงถึงระดับนาโน มีประสิทธิภาพกว่าเดิมพันเท่า และสามารถเข้าไปซ่อมแซมเนื้อเยื่อในร่างกายที่เสียหายหรือเสื่อมสภาพตามอายุขัยได้อีกด้วย นี่คือเทคโนโลยีที่จะมาพลิกโฉมวงการแพทย์อย่างแท้จริง

 

ด้าน ปีเตอร์ ดิอาแมนดิส ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยซิงกูลาริตี้ กล่าวว่า การปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลหรือ Digitization เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของเส้นทางสู่อนาคตอันแสนวุ่นวายโกลาหลเท่านั้น ผู้ที่มองการณ์ไกลและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วได้ จะเป็นฝ่ายคว้าโอกาสจากการเติบโตแบบพลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมธุรกิจ ไม่ว่าจะด้วยการคิดค้นนวัตกรรมที่ล้มล้างระบบตลาดเดิม (Disruptive) เช่น iPod และ iTune ของ Apple ที่พลิกโฉมอุตสาหกรรมดนตรี การรวบเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาไว้ในที่เดียว (Dematerialized) และการสร้างนวัตกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้ (Democratized) เช่น สมาร์ทโฟนที่ทำได้ตั้งแต่ดูหนัง ฟังเพลง ถ่ายรูป รวมทั้งเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลมหาศาลอย่างเท่าเทียม

 

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สำคัญอย่างไร

 

Photo: pixabay.com

 

การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดนั้นจะครอบคลุมแทบทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม คมนาคม การศึกษา การแพทย์ ไปจนถึงธนาคารและการเงิน ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์จะเข้ามาทดแทนงานที่ใช้แรงงานหนักและทำซ้ำๆ เช่น งานธุรการ งานบริการ ไม่เว้นแม้แต่งานบางประเภทที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น การแต่งเพลง เรื่องสั้น บทกลอน หรืออาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น Robo-Advisor บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนทางออนไลน์ นำเทคโนโลยี Big Data และระบบอัลกอริทึมเข้ามาช่วยวางแผนการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่างๆ และบริหารความมั่งคั่งของลูกค้า

 

ขณะที่คนทั่วโลกเริ่มกังวลว่า อาจจะตกงานในไม่ช้า แต่ในความเป็นจริง มนุษย์ได้สร้างเครื่องจักรขึ้นมาทำงานแทนตนเองมานานหลายร้อยปีแล้ว เดวิด ออเทอร์ นักเศรษฐศาสตร์ และอาจารย์สถาบันเทคโนโลยีเอ็มไอที ได้สังเกตข้อเท็จจริงอันย้อนแย้งนี้ เขาชี้ว่า เทคโนโลยีเป็นตัวแปรที่ช่วยขยายขีดความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ จนเกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นมาแทนที่

 

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเรายังได้เห็นบริษัทเล็กๆ แซงขึ้นมาอยู่แถวหน้าของวงการธุรกิจในเวลาสั้นๆ Facebook พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมสื่อทั่วโลก Airbnb จุดประกายเทรนด์ให้การพักในบ้านของคนแปลกหน้ากลายเป็นเรื่องปกติ Grab สั่นสะเทือนธุรกิจแท็กซี่ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการเชื่อมโยง ‘คนขับรถ’ กับ ‘ผู้โดยสาร’ ผ่านแอปพลิเคชันและการทำโปรโมชั่นราคา บริษัทเหล่านี้ไม่ได้เป็นเจ้าของสินทรัพย์ที่จับต้องได้ อย่างบ้าน รถ หรือบริษัทสื่อ แต่สามารถคิดโมเดลสร้างรายได้แบบใหม่บนแพลตฟอร์ม (Platform Economy) อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ความรู้ความเชี่ยวชาญ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นนวัตกรรม

 

ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของโลกที่เปลี่ยนไวเป็นเท่าทวีคูณ คือข้อพิสูจน์ว่าเราจะอยู่เฉยไม่ได้อีกแล้ว

 

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของ GDP ของประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5% เท่านั้น ภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอดนั้นกำลังจะ ‘ตกรุ่น’ ส่วนหนึ่งเพราะแรงงานลดลงจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตถูกกว่า หรือไม่ก็เตรียมโยกกลับไปผลิตเอง โดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยทดแทนแรงงานคน เช่น หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ เครื่องพิมพ์สามมิติ

 

อันที่จริงประเทศไทยมีความสามารถด้านการผลิต และมีประสิทธิภาพการใช้นวัตกรรมที่ค่อนข้างสูงอยู่ในอันดับ 3 รองจากจีนและมาเลเซีย จากปริมาณการยื่นขอสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า และสัดส่วนของจำนวนสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงต่อจำนวนสินค้าส่งออกทั้งหมด แต่ยังลงทุนในเรื่องนวัตกรรมต่ำกว่า เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม

 

 

แล้วเราจะสร้างนวัตกรรมได้อย่างไร

 

หลายคนอาจสงสัยว่า ต้องคิดค้นประดิษฐ์สิ่งใหม่เหมือนอย่างไอโฟนหรือเปล่า เราขอตอบว่าไม่จำเป็น เพราะนวัตกรรมมีความหมายในหลายมิติ จะเป็นแนวคิดหรือสิ่งที่มีอยู่แล้วก็ได้ เพียงแต่จะต้องนำมา ‘พัฒนาให้ดียิ่งขึ้น’ ดังนั้นแม้แต่การปรับโครงสร้างองค์กรหรือค้นพบกลุ่มลูกค้าใหม่ ก็ถือเป็นนวัตกรรมเช่นกัน ในทัศนะของ โจเซฟ ชุมปีเตอร์ นักเศรษฐศาสตร์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ด้าน บิล ออเล็ต อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที ชี้ว่า สิ่งประดิษฐ์ (Invention) จะจัดเป็นนวัตกรรมได้ก็ต่อเมื่อนำเข้าสู่ตลาด (Commercialization) หรือวางจำหน่ายได้จริงนั่นเอง

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะไปต่ออย่างไรในระยะยาวนั้นก็ขึ้นอยู่กับการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้โดย

  1. ภาคเอกชนเน้นการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) การพัฒนาทักษะทรัพยากรบุคคล และระบบโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี
  2. ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยสร้างแรงจูงใจในการลงทุนด้านนวัตกรรมด้วย ไม่ว่าจะเสนอสิทธิประโยชน์ เช่น การชดเชยความเสี่ยง และสร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทกล้าลงทุนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ควรปฏิรูปกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการสนับสนุนการลงทุนในนวัตกรรม เช่น นโยบายการแข่งขันทางการค้า กฎระเบียบที่ใช้คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ
  3. ตลาดทุนที่มีประสิทธิภาพจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจมีช่องทางการระดมทุนและส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กที่มีไอเดียที่ดีได้มีทางเลือกการระดมทุนที่หลากหลาย และอาจมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงอีกด้วย

 

การลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมจึงเป็นประเด็นที่รอช้าไม่ได้อีกต่อไป มีแต่ต้องเดินหน้าลงมือทำเท่านั้น

 

 

สำหรับผู้สนใจไอเดียการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการ ‘Capital Market Innovation Awards 2018’ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ เวทีการประกวดสุดยอดนวัตกรรมครั้งแรกของภาคตลาดทุนไทยได้ที่ www.set.or.th/CapitalMarketInnovationAwards

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising