×

เพื่อนร่วมงานชอบเรี่ยไรทำบุญ ชวนลงอ่าง ชอบขอยืมเงิน เกรงใจแต่ไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร

14.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ทักษะในการปฏิเสธเป็นเรื่องสำคัญในการใช้ชีวิต เราจะเจอคนหยิบยื่นสิ่งต่างๆ ให้เรามากมายทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี ถ้าเราแม่นยำในเรื่องการรู้ว่าอะไรดีและอะไรไม่ดี การปฏิเสธก็ไม่น่าห่วง ปัญหาที่หลายคนเจออยู่คือ รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ดี แต่เลือกที่จะไม่ปฏิเสธ
  • อย่าเอาความรู้สึกกลัวว่าจะเป็นฝ่ายผิด ความรู้สึกไม่อยากเป็นคนที่ดูไม่ดี ความรู้สึกถนอมน้ำใจมาทำให้ตัวเราเองเป็นฝ่ายเดือดร้อน ต้องคิดก่อนว่าเราเดือดร้อนไหม เราทำแล้วเราจะสบายใจไหม เรารับผิดชอบกับการตัดสินใจของเราได้หรือเปล่า

Q: เพื่อนร่วมงานชอบเดินเอาซองผ้าป่ามาเรี่ยไรถึงโต๊ะทำงานอยู่บ่อยๆ รู้สึกอึดอัดมากค่ะ จะไม่ให้ก็รู้สึกเดี๋ยวจะว่าว่าไม่ทำบุญ เราดูเป็นคนไม่ดีอีก กังวลอีกว่าถ้าไม่ให้คนถือซองผ้าป่าจะเสียความรู้สึกกับเราไหมอีก ควรทำอย่างไรดีคะ

 

Q: เพิ่งเข้ามาทำงานเป็นน้องใหม่ของออฟฟิศ พี่ๆ ที่ทำงานชอบชวนไปอาบอบนวดครับ แต่ผมไม่อยากไป พอไม่ไปก็กลายเป็นว่าเรากลายเป็นหมาหัวเน่า พี่ๆ มีระยะห่างกับเราจนรู้สึกไม่สนิทเท่าไร บางทีเขาคุยอะไรกันผมก็ไม่รู้เรื่อง บางทีก็โดนแซวว่าอ่อน จะวางตัวอย่างไรดีครับ

 

Q: มีเพื่อนร่วมงานขอยืมเงิน รู้สึกลำบากใจมาก ในใจก็รู้สึกสงสารเลยเคยให้ยืมไป ตอนนั้นเขาก็เอามาคืน แต่ก็ยังมีครั้งต่อๆ มาที่มาขอยืมอีก จะพูดอย่างไรดีคะ

 

A: เรื่องที่ทั้งสามท่านกำลังเจออยู่คล้ายกันตรงที่มีความรู้สึกอึดอัดที่ไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร ขออนุญาตมัดรวมตอบกันเลยนะครับ แต่หวังว่าคงไม่ได้มาจากออฟฟิศเดียวกัน ไม่อย่างนั้นออฟฟิศนี้คงสนุกน่าดู ฮ่าๆ

 

ทักษะในการปฏิเสธเป็นเรื่องสำคัญ ในการใช้ชีวิตเราจะเจอคนหยิบยื่นสิ่งต่างๆ ให้เรามากมายทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี มันอยู่ที่เราว่าเราจะรับหรือไม่รับ รับนี่ไม่เท่าไร ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก แต่ไม่รับนี่เป็นเรื่องซับซ้อนมากครับ จะปฏิเสธอย่างไรนี่สิน่าคิด อย่างแรกก่อนจะถึงขั้นว่าจะปฏิเสธอย่างไรนั้น ใจเราตัดสินได้เที่ยงตรงหรือเปล่าว่าสิ่งที่เขาหยิบยื่นมาเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เรารู้ไหมครับว่าอะไรคือสิ่งที่ดี อะไรคือสิ่งที่ไม่ดี ตาชั่งเรายังเที่ยงตรงอยู่ไหม ถ้าเขาให้สิ่งไม่ดีกับเรามาแล้วเราคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี อันนี้เรานี่แหละครับที่ทำตัวเอง

 

ถ้าเราแม่นยำในเรื่องการรู้ว่าอะไรดีและอะไรไม่ดี การปฏิเสธก็ไม่น่าห่วงครับ ปัญหาที่หลายคนเจออยู่คือ รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ดี แต่เลือกที่จะไม่ปฏิเสธเพราะกลัวเสียความรู้สึก บางทีความเกรงใจกันก็เป็นสิ่งที่ทำร้ายตัวเราเองโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่น่าคิดและอยากให้ทุกคนลองคิดตามเวลาเจอสถานการณ์แบบนี้คือ ก่อนที่เราจะคิดว่าเราควรจะเกรงใจอีกฝ่ายไหม ลองคิดนิดหนึ่งครับว่า เอ…แล้วอีกฝ่ายที่เขาหยิบยื่นสิ่งไม่ดีมาให้เรามานี่เขาเกรงใจเราไหม บางทีเราดันไปเกรงใจ๊เกรงใจอีกฝ่าย แต่ลืมมองไปว่าตั้งแต่ต้นเขาอาจจะไม่ได้เกรงใจเราอยู่แล้ว คือถ้าเขาเกรงใจเรา เขาคงไม่มาหยิบยื่นสิ่งไม่ดีให้เราหรือเปล่าครับ น่าคิดนะ

 

อย่าเอาความรู้สึกกลัวว่าจะเป็นฝ่ายผิด ความรู้สึกไม่อยากเป็นคนที่ดูไม่ดี ความรู้สึกถนอมน้ำใจมาทำให้ตัวเราเองเป็นฝ่ายเดือดร้อน ต้องคิดก่อนว่าเราเดือดร้อนไหม เราทำแล้วเราจะสบายใจไหม เรารับผิดชอบกับการตัดสินใจของเราได้หรือเปล่า ใครทำไม่ดีนั่นชีวิตของเขาครับ แต่เราทำไม่ดี นั่นก็ชีวิตของเรา เราได้รับผลกระทบเต็มๆ

 

ไม่ว่าจะเป็นการตอบรับหรือปฏิเสธ ถ้าเราหนักแน่นมาก อีกฝ่ายเอาอะไรมาโน้มน้าวเราก็ไม่เปลี่ยนใจ ปัญหามันคือเราไม่หนักแน่นในหลักการของตัวเองพอ สุดท้ายต้องยอมกลืนความเจ็บปวดเอง

เราอาจให้ความช่วยเหลือเขาด้านอื่นได้ เช่น การรับฟัง การแนะนำแหล่งเงินกู้ที่ถูกกฎหมาย การแนะนำเทคนิคการจัดการเงิน การกระตุ้นให้ประหยัด ฯลฯ พวกนี้ช่วยเขาได้ในระยะยาวมากกว่าการให้ยืมเงินเป็นครั้งๆ ไป

เรื่องเรี่ยไรทำบุญ อันนี้ต้องบอกบรรดาสายบุญก่อนว่า การชวนกันทำบุญเป็นเรื่องดีครับ แต่ท่าทีของเรานี่แหละที่จะทำให้เราได้บุญหรือได้บาป ถ้าเราอยากชวนให้เพื่อนทำบุญ แปลว่าเขาต้องทำแล้วเขาสบายใจ ถ้าเขายินดีทำบุญร่วมกับเราก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเขาไม่ยินดีทำบุญร่วมกับเราก็อย่าไปมองเขาในแง่ไม่ดีหรืออย่าไปเสียความรู้สึก มันมีเส้นบางๆ ระหว่างการอำนวยความสะดวกให้เพื่อนทำบุญได้ง่ายเลยไปหาถึงที่ กับการรุกล้ำและทำให้เขารู้สึกเหมือนถูกบีบบังคับหรืออยู่ในภาวะจำยอมให้ทำบุญ ผมว่าถ้ามันเริ่มต้นด้วยความรู้สึกขุ่นมัวแบบนี้แล้ว ทำบุญไปก็ไม่สบายใจเปล่าๆ ไปสร้างวัด สร้างโบสถ์เสียดิบดี แต่ดันทำให้คนใกล้ตัวเราไม่สบายใจ จะทำเพื่ออะไรละครับ ผมแนะนำว่าแทนที่จะเดินเรี่ยไรไปถึงโต๊ะทำงาน ซึ่งอาจทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ต้องทำบุญ เปลี่ยนเป็นตั้งกล่องบริจาคดีกว่า ผมคิดว่าถ้าคนอยากทำ แค่เดินมาที่กล่องก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร

 

เวลาที่โดนเพื่อนร่วมงานเดินมาเรี่ยไรถึงที่แล้วเราไม่สะดวกที่จะบริจาค ลองบอกเขาไปก็ได้ครับว่า “ขอบคุณมากค่ะ ทำบุญเรียบร้อยแล้วค่ะ อนุโมทนา” พื้นฐานการทำบุญคือการเสียสละ ซึ่งการเสียสละทำได้หลายวิธีมาก ไม่ใช่แค่เสียสละเงิน ใครอยากเสียสละด้วยวิธีไหนแล้วสบายใจก็ทำวิธีนั้นครับ ถ้าปฏิเสธแล้วเขาดูไม่พอใจ นั่นเป็นเรื่องของเขาครับ เป็นทุกข์ของเขาเอง และไม่ต้องแปลกใจนะครับ เพราะคนที่มัวทำบุญกับวัดแต่ไม่ได้ทำบุญกับคนด้วยการเมตตาคนอื่นก็เยอะไป สายบุญปลอมๆ สร้างภาพก็เยอะ

 

เรื่องชวนลงอ่าง พี่เข้าใจว่าน้องคงเพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ และที่นี่อาจจะเป็นที่ทำงานแรก อย่างแรกพี่ยินดีด้วยกับการได้ทำงานใหม่ของน้องนะครับ อะไรก็ตามที่เข้ามานับจากนี้เป็นประสบการณ์ของเราหมด เรื่องโดนชวนลงอ่างก็เช่นกัน โตแล้วพี่คงไม่ต้องบอกว่าลงอ่างดีหรือไม่ดี อันนี้ถามใจน้องเอง ถ้ามันไม่ตรงกับจริตของเราก็อย่าฝืน ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะชอบลงอ่าง พวกเขาไปด้วยกันได้เพราะการลงอ่างเป็นจริตของพวกเขาตรงกันหมด

 

วิธีการสนิทกับเพื่อนร่วมงานมีหลายแบบ การลงอ่างคงไม่ใช่วิธีเดียวในโลกนี้ที่ทำให้คนสนิทกันได้ ไปใช้วิธีการที่เราจะสบายใจดีกว่า ผู้ชายมันไม่ได้สนิทกันแค่เพราะเรื่องลงอ่างอย่างเดียวหรอกน้องเอ๊ย พี่ว่าอ่อนหรือไม่อ่อนมันดูกันที่การทำงานมากกว่านะ พวกปากดีว่าคนอื่นว่าอ่อนแต่ตัวเองไม่ได้มีดีอะไรก็มี คือถ้าน้องทำงานไม่ดีแล้วด่าว่าอ่อนนี่ให้เก็บมาคิดนะ แต่ถ้าน้องไม่ลงอ่างแล้วด่าว่าอ่อน พี่ว่าเป็นเหตุผลที่โคตรไม่เข้าท่า จะเก็บมาคิดดีไหม อันนี้น้องลองคิดดูนะ

 

ถ้าไม่สบายใจที่จะไปก็ไม่ต้องไปมันหรอก แค่บอกว่าไม่ไปนี่แหละครับ พอชวนแล้วเราไม่ไปบ่อยๆ เข้า เดี๋ยวเขาก็ไม่ชวนเราเอง เขาด่าเรามาก็ปล่อยผ่านหูไป พี่เชื่อนะว่าในที่ทำงานน้องก็คงมีคนอื่นให้น้องสนิทด้วยได้ อยู่กับคนไหนแล้วสบายใจก็ไปอยู่กับคนนั้น และถ้าพี่ที่ทำงานจะไม่สอนงานน้องหรือเลือกปฏิบัติกับน้องเพียงเพราะไม่รู้สึกสนิทกับน้อง ก็ขอให้รู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่คนนี้คนเดียวที่จะสอนงานน้องได้

 

เรื่องโดนเพื่อนยืมเงินบ่อยๆ เราต้องกลับมาดูว่าเราช่วยเขาแล้วเราเดือดร้อนไหม ถ้าเราเองก็เดือดร้อนอย่าเพิ่งลากปัญหามาเพิ่มครับ เราต้องมีขีดจำกัดในการช่วยเหลือเขาเหมือนกันนะครับ มายืมหลายครั้งแบบนี้เรารับได้ไหม อันนี้ต้องประเมินเอง ดูความตั้งใจของเขาด้วยนะครับว่าเขาเอาเงินเราไปแล้วเขาได้พยายามแก้ปัญหาหรือเปล่า หรือปัญหาอะไรที่ทำให้เขาต้องมายืมเงินจากเรา เขาเป็นคนแบบไหน มีพฤติกรรมอย่างไร เหมาะสมพอที่เราควรจะช่วยเหลือหรือเปล่า ถ้าจะให้ยืมเงินต้องคิดเผื่อด้วยว่ามีแนวโน้มจะได้รับเงินคืนไหม บางทีการให้ยืมซ้ำๆ ก็อาจเป็นการรังแกเขาก็ได้นะครับ ถ้าเขาไม่รู้จักจัดการกับเงินทองของตัวเอง

 

เราอาจให้ความช่วยเหลือเขาด้านอื่นได้ เช่น การรับฟัง การแนะนำแหล่งเงินกู้ที่ถูกกฎหมาย การแนะนำเทคนิคการจัดการเงิน การกระตุ้นให้ประหยัด ฯลฯ พวกนี้ช่วยเขาได้ในระยะยาวมากกว่าการให้ยืมเงินเป็นครั้งๆ ไป ไม่อย่างนั้นเขาจะต้องกลับมาหาเราทุกครั้งที่มีปัญหาเรื่องเงิน

 

ถ้าอยากช่วยเป็นตัวเงินจริงๆ แนะนำให้ทำสัญญาด้วย อย่างน้อยคุณก็มีหลักฐาน ไม่อย่างนั้นเกิดเพื่อนเชิดเงินไปเราเสียทั้งเพื่อน เสียทั้งเงิน เสียทั้งความรู้สึก หรือถ้าตั้งใจจะช่วยด้วยการให้เงินก็ให้ไปเลยครับ แต่ต้องตัดใจเลยว่านี่คือการยินดีให้ จะไม่ฟูมฟายใดๆ ทั้งนั้น ถือว่าเงินนั้นให้แล้วก็ไม่ได้เป็นของเราแล้ว

 

ถ้ารู้สึกไม่สะดวกที่จะให้ยืมเงินต้องบอกไปตรงๆ แต่สุภาพว่า ไม่สะดวก มีความจำเป็นต้องใช้เงิน ให้ยืมไม่ได้จริงๆ จบ

 

อย่าให้ความเกรงใจคนอื่นกลายเป็นการทำร้ายตัวเองครับ

 

* ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X