×

มะเร็งเต้านม ผมร่วง และหัวใจที่สู้กับโรคร้าย คำบอกเล่าจากใจของ น้ำอบ-ธนณัฏฐ์ อารยสมโพธิ์

06.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

11 Mins. Read
  • มะเร็งคือสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละปี พบว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 60,000 ราย หรือคิดเป็น 7 รายต่อชั่วโมง
  • ชวนคุยกับ น้ำอบ-ธนณัฏฐ์ อารยสมโพธิ์ เด็กสาวที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้มากที่สุดในผู้หญิงไทย กับการรับมือที่เกิดขึ้นจากความคิดที่ว่ากำลังใจจากตัวเราเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้เราก้าวข้ามโรคร้ายนี้ไปได้
  • เราไม่เคยไปรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกเลย เพราะเวลาให้คีโมหมอจะคำนวณน้ำหนักส่วนสูงของเราเพื่อไปคำนวณปริมาณยาที่เหมาะสมตามที่ตับไตของเรารับได้ หากเราไปรับยาตัวอื่นซึ่งอาจจะใช่ว่าไม่ดีแต่ร่างกายของเราอาจรับไม่ไหว เรากลัวตับวายไตวาย เพราะอย่างที่เห็นๆ กันว่ามีคนไข้มะเร็งเยอะนะที่ไม่ได้เสียชีวิตเพราะมะเร็ง แต่เสียชีวิตเพราะร่างกายสู้ยาต่างๆ ไม่ไหว
  • และสำหรับคนที่ยังไม่เป็นมะเร็ง ควรหาเวลาไปตรวจคัดกรอง หากเจอความผิดปกติใดๆ หรือเจอโรคร้ายก็จะรักษาได้ทันท่วงที ก่อนที่โรคจะลุกลามและทรุดลงไป

โรคมะเร็ง คือสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมายาวนาน โดยจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งอยู่ที่ประมาณ 60,000 รายต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละประมาณ 7 ราย อีกทั้งยังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณ 130,000 รายต่อปี

 

และพบว่ามะเร็งที่พบในผู้ชายส่วนใหญ่ คือ 1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี 2. มะเร็งปอด และ 3. มะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนในผู้หญิง คือ 1. มะเร็งเต้านม 2. มะเร็งปากมดลูก และ 3. มะเร็งตับ

 

ด้วยตัวโรคที่ไม่อาจหาสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดได้ หากแต่พบว่ามี 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้เป็นมะเร็ง คือ กรรมพันธุ์ พฤติกรรมเสี่ยง และสิ่งแวดล้อม

 

THE STANDARD ชวนคุยกับ น้ำอบ-ธนณัฏฐ์ อารยสมโพธิ์ เด็กสาวที่ต้องรับมือกับโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้มากที่สุดในผู้หญิงไทย แต่ก็ไม่ละการเดินตามความฝันในแวดวงน้ำหมึก โดยมีรางวัลต่างๆ เป็นเครื่องยืนยัน เช่น รางวัลรองชนะเลิศการประกวดวรรณกรรม รางวัลพระยาอนุมานราชธน ประเภทเรื่องสั้น ประจำปี พ.ศ. 2558 จากเรื่องสั้น ‘ยาเทวดา’ และรางวัลชนะเลิศประกวดสารคดีเรื่องเล่าทางการแพทย์ของแพทยสภา ประจำปี พ.ศ. 2559 โดยได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากเรื่องเล่า ‘คุณหมอที่รัก’ ซึ่งเรื่องหลังนี้เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าความในใจที่มีต่อหมอและพยาบาลที่คอยดูแลรักษาเธอมาเป็นอย่างดี

 

จากวันที่เชื้อมะเร็งลุกลาม จวบจนวันที่โรคสงบ เธอมีวิธีการรับมือกับโรคมะเร็งเต้านมอย่างไร

 

 

รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งตอนไหน

จริงๆ แล้วเราเป็นกลุ่มเสี่ยงของมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนอายุ 9 ขวบ เราเคยไปหาหมอที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะเราเป็นประจำเดือนเร็วกว่าเด็กทั่วไป หมอก็เลยสอนวิธีคลำเต้านม เราก็จะตรวจเช็กตัวเองอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ตอนปี 3 เทอม 2 ก็พบว่าเรามีก้อนแปลกๆ เกิดขึ้น ตอนแรกก็กลับไปตรวจที่โรงพยาบาลที่บ้าน (ต่างจังหวัด) หมอก็บอกว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก เป็นแค่ซีสต์เฉยๆ แต่เราก็เอะใจว่าคงไม่ใช่ เพราะเราเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีญาติสายตรงที่เป็นมะเร็งอยู่ด้วย ก็เลยเข้ามาตรวจที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พอตรวจเสร็จ หมอก็ขอผ่าเอาก้อนเนื้อไปตรวจ

 

ในวันที่เข้าไปฟังผลตรวจที่โรงพยาบาล ช่วงจังหวะที่เข้าไปในห้องตรวจนั้น ก็มีนักศึกษาแพทย์นั่งประจำอยู่ เขาเอาชื่อเราเข้าไปเสิร์ชในระบบแล้วสีหน้าก็เปลี่ยนไป  และบอกให้เรารออาจารย์หมอ ช่วงนั้นเราก็เดาๆ ผลไว้ในใจแล้ว เพราะถ้าผลมันออกมาดี เขาก็คงบอกกับเราเลยว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงนะคนไข้

 

พออาจารย์หมอเข้ามา ก็ไม่ได้มาแค่อาจารย์หมอคนเดียว แต่เข้ามากัน 5-6 คน ในขณะที่เราเข้ามาฟังผลแค่คนเดียว จังหวะนั้นก่อนที่หมอจะบอกผลกับเรา หมอก็หยิบทิชชู่ไว้เผื่อแล้ว เผื่อเราร้องไห้

 

ผลออกมาปรากฏว่าเราเป็น ‘เนื้อร้าย’ ซึ่งพอเราได้ยินผลตอนนั้นเราเฉยมาก ไม่ได้รู้สึกอะไร

 

จากนั้นก็โทรไปบอกแม่ว่าเป็นเนื้อร้ายนะ ตอนนั้นแม่ตกใจมาก จนเราต้องปลอบใจแม่ว่า แม่อย่าเป็นกระต่ายตื่นตูม มันไม่ได้น่ากลัว เหมือนเราเข้มแข็งมากเลยนะ  เพราะตอนนั้นเราไม่รู้ว่าเนื้อร้ายที่หมอบอกคือ ‘มะเร็ง’

 

เราคิดว่าคนเราจะมีเนื้อดี เนื้อร้ายที่ต้องเฝ้าระวัง แล้วค่อยเป็นมะเร็ง

 

พอสุดท้ายมารู้ว่า ‘เนื้อร้าย’ คือ ‘มะเร็ง’ เท่านั้นแหละ เราเลยได้รู้ว่าเราไม่ได้เข้มแข็งเลย

 

และอีกความพีกคือ มะเร็งเต้านมในความคิดของเรามันก็ไม่ได้รุนแรง มันมีคนหาย แต่หลังจากหมอตรวจละเอียดแล้วก็พบว่าเราเป็นระยะรุนแรง คือเป็นระยะที่ลุกลามแล้ว เราก็รู้สึกเลยว่าเราต้องตายเร็วๆ นี้แน่ๆ ต้องตายภายในสิ้นปีนี้แน่ๆ

 

 

แล้วตอนนั้นหมอบอกไหมว่าจะต้องตาย

ไม่ หมอไม่เคยพูดเลยนะ หมอไม่ได้บอกว่าเราจะอยู่ได้อีกกี่เดือนกี่ปี เขาไม่บอกด้วยซ้ำว่าเราเป็นขั้นไหน ไม่ได้บอกว่าเป็นระยะสุดท้ายหรือเปล่า หมอบอกเราแค่ว่ามันไม่สำคัญหรอกว่าเราเป็นขั้นไหน มันอยู่ที่การรักษาให้ทันท่วงที และมันอยู่ที่ว่าเราดูแลตัวเองอย่างไร

 

คือถ้ามันสุดๆ จริงๆ แล้วหมอก็คงบอกนะ เพราะเราก็เคยได้ยินที่เขาบอกคนอื่นว่าให้ทำใจ แต่กับเราหมอบอกว่าถ้าเรารักษาเร็ว ก็มีโอกาสที่จะช่วยให้ดีขึ้นได้เยอะ

 

ขั้นตอนการรักษาเป็นอย่างไร

สิ่งแรกที่เราทำเลยก็คือ การผ่าตัด จริงๆ แล้วการผ่าตัดมะเร็งเต้านมมีอยู่หลายแบบ หมอจะแนะนำและให้ความรู้เราว่าแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อให้เราได้เลือก ได้ตัดสินใจ เช่น การตัดเต้านมทิ้งไปเลย การตัดเต้านมทิ้งแล้วใช้ซิลิโคนเสริม หรือการตัดตรงส่วนก้อนเนื้อร้ายทิ้งแล้วใช้เนื้อตัวเองเสริมเข้าไป ซึ่งเราเลือกใช้วิธีสุดท้าย

 

หลังจากผ่าตัดแล้วก็มีการไปให้คีโม ของเราเป็นการให้ทางเส้นเลือด คล้ายกับการให้น้ำเกลือ แต่ในบางเคสก็อาจจะเป็นแบบกิน

 

โชคดีที่เราไม่มีผลข้างเคียงอะไรมาก ก็ไม่ทรมานนะ อย่างเราถูกกับยา ไม่แพ้ยา ร่างกายก็เลยฟื้นตัวเร็ว แต่ช่วงแรกๆ จะรู้สึกไม่สบายตัว รู้สึกว่ารสชาติของคีโมมันอยู่ในปากตลอดเวลา นอกจากนี้เรายังต้องกินยาสเตียรอยด์ด้วย ทำให้แสบท้อง ต้องกินอาหารเข้าไปเพื่อไม่ให้แสบท้อง จะเหม็นไปหมดทุกอย่าง กินอะไรก็ลำบาก เรียกว่าต้องฝืนกิน จะรู้สึกเจ็บเนื้อเจ็บตัว แล้วมันก็จะหนาวอยู่ตลอดเวลา ตอนที่เราดรอปเรียนมานั้นก็คิดไว้ว่าคงจะสบายๆ แบบค่อยๆ รักษา แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะการให้คีโมมันเหนื่อยมาก ไม่ได้เหนื่อยแค่ร่างกาย แต่เหนื่อยเพราะการเดินทางเข้าไปด้วย พอเดินทางบนถนนที่รถติดนานๆ ก็อยากจะอาเจียนอยู่ตลอด และผลข้างเคียงอีกอย่างที่เกิดกับคนทำคีโมคือผมร่วง

 

 

ผมร่วงแล้วรู้สึกอย่างไร เสียความมั่นใจไหม

การให้ยา ให้คีโม ฉายแสง มันทำให้ผมร่วง เราก็จะต้องใส่หมวกหนาๆ เพราะว่าร้อน ผิวมันบางลง อีกอย่างคือเข้าห้องแอร์แล้วจะหนาวง่ายมาก  

 

แต่ด้วยความที่พอออกข้างนอกแล้วร้อนมากๆ เราก็เดินหัวโล้นไปโรงพยาบาลเลยนะ คนเขาไม่ได้มองมาด้วยท่าทีรังเกียจ แต่สายตาทุกคนคือเหมือนกับสงสารเรา แล้วเราก็เลยคิดว่าต่อไปเวลาไปโรงพยาบาลเราควรใส่หมวกไปดีกว่า เพราะว่าเราก็รู้สึกสงสารเขาที่เขาต้องมาสงสารเราอีกที คือในความรู้สึกของเราการที่ผมร่วงมันไม่ได้เป็นอะไรจริงๆ ไม่ได้รู้สึกอะไร แล้วก็รู้สึกไม่ชอบการใส่วิกผม เพราะมันจะยุ่งยากกว่า ต้องมาคอยจัดทรงอยู่ตลอด

 

เคยถูกเพื่อนล้อเรื่องหัวโล้นไหม

มีนะ ช่วงแรกๆ หลังจากกลับไปเรียนแล้ว ก็มีเพื่อนมาแกล้งๆ ทักเราว่า น้ำอบหัวโล้น เหมือนลูกนกกระจิบเพิ่งเกิดเลย หรืออย่างเคยมีเด็กเล็กๆ ก็มาทักเราว่าสวัสดีจ้ะเณร เราก็แบบขำๆ ไม่ได้อะไรมาก จนมาตอนหนึ่งที่ระยะนั้นเราถูกกับคีโม ก็เลยมีผมเกิดขึ้นใหม่ ยาวมาถึงไหล่เลยนะ แต่ไปๆ มาๆ ก็กลับไปร่วงอีก แล้วด้วยความคิดว่าเดี๋ยวมันก็คงร่วงหมด เพื่อนก็เลยอยากช่วยเรา พาเราไปโกนหัว พอโกนเสร็จเพื่อนก็รู้สึกเศร้าใหญ่เลย เพราะเขารู้สึกว่าเขาเป็นคนทำให้เราไม่มีผม สุดท้ายเรากลับต้องไปนั่งปลอบใจเขาแทน เพราะเขาเศร้าที่เราหัวโล้น

 

เอาเข้าจริงเราก็อยากให้มีเทรนด์ที่ผู้หญิงสกินเฮดนะ

 

 

กลายเป็นว่าเราไม่เศร้า แต่คนรอบๆ เราเศร้า

จริงๆ อย่างญาติก็เหมือนเขาเศร้ากว่าเราอีก พอเราเป็นเอง มันเป็นตัวเราเองก็รู้สึกว่ามันมีทางรักษาอยู่ แต่พอมองกลับกัน ถ้าเป็นญาติด้วยความที่เขาเป็นห่วงเรา เขาก็คงคิดไปต่างๆ นานา

 

เราแค่รู้สึกว่ามันเป็นชีวิตที่ตลกๆ ดีนะ ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งเราจะมาเป็นมะเร็ง คือสถานการณ์มันแปลกๆ นะ เหมือนมีใครอยู่ข้างบนมาคอยจับเราไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้  แล้วแต่คนที่เขียนเรื่องเราอยู่

 

นอกจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว เรามีการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกด้วยไหม

จริงๆ แล้วก็มีหลายคน แนะนำว่าให้ไปหาหมอคนนั้นคนนี้ แต่หลักๆ คือเราไม่เคยไปรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกเลย เรารักษาแต่แพทย์แผนปัจจุบัน อย่างมากที่สุดก็อาจจะมีไปรดน้ำมนต์หน่อยเพื่อทำให้พ่อกับแม่ของเราสบายใจ และไม่ส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในของเราเป็นหลัก เพราะอย่างการให้คีโมนี้หมอเขาจะคำนวณน้ำหนักส่วนสูงของเราเพื่อไปคำนวณปริมาณยาที่เหมาะสม ตามที่ตับไตของเรารับได้ หากว่าเราไปรับยาตัวอื่นซึ่งอาจจะใช่ว่าไม่ดีแต่ร่างกายของเราอาจรับไม่ไหว เรากลัวตับวายไตวาย เพราะอย่างที่เราเห็นๆ กันว่า มีคนไข้มะเร็งเยอะนะ ที่ไม่ได้เสียชีวิตเพราะมะเร็ง แต่เสียชีวิตเพราะร่างกายสู้ยาต่างๆ ไม่ไหว

 

 

พอเป็นมะเร็งแล้วการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร

ตอนนี้อาการโรคของเราอยู่ในระยะสงบ ซึ่งหมายความว่าไม่มีการลุกลาม แต่ก็ยังต้องมีการเฝ้าระวังอยู่เสมอ ด้วยความที่เป็นมะเร็งเต้านมแบบค่อนข้างจะรุนแรง เดี๋ยวมันก็ไปเดี๋ยวมันก็มา พอให้ยาบางตัวไปสักพักจุด (ตัวบ่งชี้โรค) ก็จะกลับมา ทีนี้ก็รู้แล้วว่าถึงคราวต้องเปลี่ยนยา ก็จะวนลูปไปเรื่อยๆ เพราะยาบางตัวก็จะคลุมโรคได้ไปสักปี แล้วพอเกิดจุดขึ้นอีกก็ต้องหยุดยาแล้วเปลี่ยนยาใหม่ อย่างช่วงนี้ก็มีจุดที่ตับเพิ่มขึ้นมา แต่พอให้ยาจุดมันก็หายไป มันก็คุมไว้ได้ เหมือนเราให้ยาคุมโรคไว้เฉยๆ

 

อาหารการกินต้องปรับอย่างไร

สิ่งที่หมอห้ามเลยก็คือแอลกอฮอล์และของหมักดองต่างๆ แต่นอกเหนือจากนั้นเรากินได้ปกตินะ แต่ก็ต้องเลือกกินขึ้นมาหน่อย เช่น หากจะกินของทอดอาจต้องทำเองเพื่อเลี่ยงน้ำมันที่ใช้ซ้ำ หรือของไหม้ๆ ก็เลี่ยงไปเลย เพราะไม่เป็นผลดีต่อร่างกายของเรา หรืออย่างตอนนี้เราอยากกินตำปูปลาร้ามาก แต่ก็ไม่สามารถกินได้เพราะปลาร้าก็นับเป็นของหมักดองอย่างหนึ่ง

 

บางคนที่เคร่งครัดหน่อยอาจจะหันไปกินแต่ผัก ไข่ และปลา แต่สำหรับเราไม่สามารถกินแค่นั้นได้ เพราะร่างกายของเราต้องการอาหาร โดยเฉพาะไข่ซึ่งให้โปรตีนเพื่อไปช่วยผลิตเม็ดเลือดขาว อย่างเราจะกินไข่ขาววันละ 6 ฟอง เพื่อให้เลือดผ่านตอนที่ไปทำคีโม เพราะถ้าเม็ดเลือดขาวไม่ผ่านหมอก็จะไม่ให้คีโม แต่ถ้าเราไม่สามารถกินอาหารได้จริงๆ เพราะมีช่วงหนึ่งที่จะเหม็นอาหารไปหมดทุกอย่าง แค่จิบซุปยังทำไม่ได้ ก็จะต้องไปกินโปรตีนเสริมแทน

 

 

อะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องสู้  

หลักๆ เลยคือครอบครัวนะ แม้ว่าเขาจะไม่ได้ให้กำลังใจเราตรงๆ แบบมาพูดว่า ‘ต้องสู้นะ’ แต่เราได้เห็นจากการที่เขาทำอะไรให้เรา เขาทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องสู้ อย่างแม่กับพ่อก็ต้องลางานมาหลายอาทิตย์เพื่อพาเราไปหาหมอ เอาเข้าจริงคือทุกคนในครอบครัวจะเวียนกันพาเราไปโรงพยาบาล หรืออย่างป้าเราชอบสวดมนต์เขาก็อธิษฐานขอให้เราว่า ‘อย่าให้น้องเขาตายเลยนะ น้องเขาเป็นเด็กดี ขอให้เขาได้มีชีวิตอยู่ต่อที่สดใส’ คือการกระทำตรงนี้มันทำให้เรารู้สึกเห็นคุณค่าของตัวเอง เขาทำเพื่อเรา แม้ไม่ใช่การให้กำลังใจด้วยคำพูดหรือมานั่งปลอบใจ แต่เขาแสดงด้วยการกระทำ ทำให้เราเห็นว่าเขาอยากให้เราอยู่ต่อ

 

มีโอกาสหายขาดไหม

อย่างของตัวเรา เราคิดว่าไม่นะ มีแค่โรคสงบ มันไม่หาย แต่ว่าเราจะคลุมมันไว้ได้ ไม่รู้ว่าเซลล์มันอยู่ตรงไหน แต่ว่าตรงที่อันตรายมันไม่มีแล้ว

 

ชีวิตของคุณต้องพลาดอะไรไปบ้างจากการเป็นมะเร็ง  

เราเคยคิดว่าพอเรียนจบจะออกไปเป็นอาสาสมัครต่างจังหวัดสักปี แต่เราไม่ได้ไป ถ้าจะไปจริงๆ ก็คงไปได้ แต่มันจะแย่กับสุขภาพของเรา เพราะจะต้องไปๆ กลับๆ  การเดินทางมันจะมีผลกับเรา อีกอย่างช่วงแรกๆ ที่ผ่าตัดจะกลัวการนั่งเครื่องบินมาก มันต้องระวังแขนบวมเพราะหมอตัดเอาต่อมน้ำเหลืองออกไป เพราะความดันอากาศก็มีผลกับน้ำเหลือง ช่วงนี้ผ่าตัดนานแล้วก็สามารถนั่งเครื่องนานขึ้นได้

 

 

เรียนรู้อะไรจากการเป็นมะเร็ง

มันทำให้เราได้มีเวลาเตรียมตัวนะ เพราะบางทีเราก็คิดว่าสิ้นปีนี้แน่ๆ เราไปแน่ คือเราคิดว่าพอขึ้นปีใหม่ปุ๊บคือตายปั๊บแน่นอน แต่พอไม่ตายมันก็ทำให้เราอยากจะทำอะไรให้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง มันทำให้เราเห็นความสำคัญของคนอื่นยิ่งขึ้น เช่น บางทีมองว่าคนนี้เราจะเกลียดเขา แต่พอมาคิดว่าจะตายอยู่แล้วอ่ะ อย่าไปเกลียดเขาเลย เราก็จะรักเขามากขึ้น เผื่ออนาคตเราไม่มีโอกาสที่จะใช้ชีวิตด้วยกันอีก มันก็คงจะมีประโยชน์ในแง่นั้น

 

รางวัลจากแพทยสภาที่เราได้มา สามารถเรียกว่าเป็นการตกตะกอนจากมะเร็งได้ไหม

รางวัลที่เราได้จากแพทยสภา เป็นรางวัลชนะเลิศประกวดสารคดีเรื่องเล่าทางการแพทย์ ประจำปี พ.ศ. 2559 จากเรื่องเล่า ‘คุณหมอที่รัก’ โดยได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเรื่องสั้นนี้เล่าถึงความรู้สึกที่เรามีต่อหมอและพยาบาลที่คอยดูแลรักษาเรา เพราะส่วนหนึ่งที่เราดีขึ้นได้ก็เป็นเพราะหมอกับพยาบาลที่ดูแลเราอย่างดี อย่างทีมหมอก็มีทั้งหมออายุรกรรมมะเร็ง หมอผ่าตัด หมอรังสี หมอเราดีมาก คอยถามไถ่อยู่ตลอดเวลา เขาจะใส่ใจและรีบ คือ รีบ ไม่รอให้โรคมันไปไกล สมมติมีสัญญาณอย่างปวดหัวมากๆ ก็จะส่งตรวจ ส่งเอกซเรย์ทันที เรียกว่าหมอเราดี พยาบาลเราดี พอเจอหมอดีและถูกต้อง ก็ทำให้รักษาได้เร็ว ทันท่วงที

 

กำลังใจจากตัวเองเป็นเรื่องสำคัญไหม

เราว่ากำลังใจจากตัวเราเองน่าจะมีผลเยอะมากเหมือนกัน เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่มีใครที่มาคอยนั่งปลอบเราได้ตลอดเวลา แต่ละคนก็เจออุปสรรคที่ต่างๆ กัน เช่น การเงิน การงาน แต่ของเราคือป่วย ชีวิตทุกคนก็เจอเรื่องแย่ๆ เหมือนกันหมด แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะจัดการยังไง เพราะถ้าเรามัวแต่คิดว่าฉันป่วยนะ ทุกคนต้องมาดูแลฉัน มันจะกลายเป็นว่า เราเป็นภาระคนอื่น บางคนเขาอาจเครียดกว่าเราอีก เพราะอย่างเราการป่วยมันมีทางรักษา

 

สมมติว่าถ้าเรารู้สึกว่าแย่ลงปุ๊บ คนรอบข้างก็จะแย่ลง แย่ลงยิ่งกว่าเราอีก สมมติเราเริ่มบ่นว่า ไม่เอาแล้ว ไม่อยากรักษาแล้ว คนข้างๆ นี่คือจะเครียดกว่าเราอีก หรือบางทีก็ต้องทำให้เขารู้สึกว่าเรายังสู้อยู่ เหมือนเป็นการเติมกำลังใจกลับไปให้คนรอบข้างที่คอยให้กำลังใจกับเรา

 

 

เคยคิดไหมว่าเราจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน

เอาจริงๆ นะคือ เราจะคิดเป็นปีๆ ไป สมมติว่าโอเคปีนี้รอดแล้วเอาอีกหนึ่งปีแล้วกัน เราไม่อยากคิดว่าจะสามารถอยู่ได้อีก 10-20 ปี เพราะด้วยโรคของเรา เราไม่มีทางรู้ว่าจะไปเมื่อไร แต่ก็จะรู้ตัวเองในแง่ที่ว่าตัวโรคมันไปถึงไหนแล้ว ระยะอันตรายมันไปถึงไหน น่าจะเป็นแผนระยะสั้นมากกว่าในช่วงนี้ เหมือนคิดเป็นปีๆ ไป แต่ที่คิดยาวๆ ก็คือการคิดถึงอนาคต บางคนก็ถามเรานะว่ามาเรียนต่อปริญญาโททำไม ทำไมไม่พักผ่อนอยู่บ้าน ป่วย ไม่น่ามาเรียนเลย มันเป็นอีกสเตปของระยะยาวนะ เราไม่อยากจะกลายเป็นคนป่วยที่อยู่บ้านเฉยๆ แล้ววันหนึ่งถ้าเราไม่มีครอบครัวมาซัพพอร์ตแล้ว เราจะอยู่ยังไง

 

เพราะถ้าเราเรียนจบ แล้วโรคมันสงบ เราก็สามารถไปทำงานที่มั่นคงได้

 

สิ่งที่กลัวมากที่สุด ไม่ได้กลัวว่าจะตาย เพราะถ้าเราตายก็คือจบ เราไม่รับรู้อะไรแล้ว แต่ถ้าไม่ตาย เราจะต้องอยู่กับโรคยังไงให้เป็นภาระกับคนรอบข้างน้อยที่สุด

 

เคยรู้สึกว่าอยากตายไหม

ไม่เคยนะ เราคิดตลอดว่าอย่าให้ฉันตาย ในโลกนี้เราน่าจะเป็นคนที่อยากตายน้อยที่สุดแล้ว ไม่อยากตายเลย เราเหนื่อย เราเจ็บเวลาต้องไปรักษา แต่เราก็ยังอยากมีชีวิตอยู่

 

ถ้าพรุ่งนี้เราต้องตาย อยากจะทำอะไรเป็นสิ่งสุดท้าย

คำถามเศร้าจัง เราก็คงกลับบ้านไปหาพ่อกับแม่ ถ้าต้องตายจริงๆ เราก็คงเลือกที่จะไปอยู่กับคนที่เรารัก คือจริงๆ ถ้าเราตายไป เราคงไม่รับรู้อะไรแล้ว แต่โมเมนต์ที่ได้อยู่ด้วยกันก่อนที่เราจะตาย มันก็จะเป็นโมเมนต์ที่ทำให้คนที่ยังอยู่ได้รู้สึกดี เพราะอย่างน้อยก่อนที่เราจะตาย เขาได้ใช้ช่วงเวลาดีๆ ร่วมกับเรา

 

ทิ้งท้ายถึงคนที่เป็นมะเร็งและคนที่ยังไม่เป็นมะเร็งหน่อยว่าควรใช้ชีวิตอย่างไร

สำหรับคนที่เป็นมะเร็ง เราอยากบอกว่าให้ผ่านมันไปให้ได้ บางคนอาจจะท้อ และเหนื่อย ซึ่งบางครั้งมันอาจจะไม่ใช่การเหนื่อยที่ใจ แต่มันเป็นการเหนื่อยที่ร่างกาย แต่ถ้าเราลองสู้ ถ้าจิตใจเราเข้มแข็ง เราจะรู้ได้ว่าร่างกายของเรามันยังสู้ได้อีก เราอยากให้คนที่เป็นมะเร็งให้กำลังใจตัวเอง แล้วก็คิดถึงวันดีๆ ข้างหน้าที่จะสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ จะได้ทำในสิ่งที่ใจเราอยากทำ

 

และสำหรับคนที่ยังไม่เป็นมะเร็งก็อยากให้ไปตรวจ หากเจอความผิดปกติใดๆ หรือเจอโรคร้ายก็จะได้รักษาได้ทันท่วงที ก่อนที่โรคจะลุกลามและทรุดลงไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising