×

แคนาดาลุยเจรจาข้อตกลงการค้ากับไต้หวัน ตั้งเป้ากระตุ้นการลงทุน ดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ

08.02.2023
  • LOADING...

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 กุมภาพันธ์) สำนักข่าว Reuters รายงานว่า Mary Ng รัฐมนตรีด้านการค้าของแคนาดา พูดคุยกับ John Deng นักเจรจาการค้าระดับสูงของไต้หวัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างเห็นชอบที่จะเริ่มการเจรจาการค้าอย่างเป็นทางการระหว่างรัฐบาลทั้งสองฝ่าย เพื่อหาข้อตกลงในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

 

รายงานระบุว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นอาจสร้างความไม่พอใจให้กับจีน ซึ่งมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ขณะที่ไต้หวันยืนกรานปฏิเสธมาโดยตลอด และอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแคนาดาสั่นคลอนได้ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ถ้อยแถลงของกระทรวงการค้าแคนาดาระบุว่า Mary Ng และ John Deng ต่างกล่าวถึงความสำคัญของการเจรจาเพื่อเสริมสร้างมูลค่าการค้าของทั้งสองฝ่ายอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ว่า เป็นการสนับสนุนการเข้าถึงศักยภาพการลงทุนที่มากขึ้น สำหรับธุรกิจทุกขนาดและทุกภาคส่วนในแคนาดาและไต้หวัน

 

สำหรับการพูดคุยในครั้งนี้เป็นไปตามการเจรจาภายใต้แผนการ ‘การจัดการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนต่างประเทศ’ (Foreign Investment Promotion and Protection Arrangement) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของแคนาดาในการเพิ่มการค้าและอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว 

 

ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีที่แล้ว รัฐบาลกรุงออตตาวาได้ประกาศกลยุทธ์สำหรับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะนักธุรกิจและนักลงทุนในแคนาดา รอมานาน ซึ่งรวมถึงการใช้จ่าย 2.3 พันล้านดอลลาร์แคนาดา เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางทหารและไซเบอร์ รวมทั้งแผนการรับมือกับความเคลื่อนไหวของจีนที่ทางซีกโลกตะวันตกมองว่าเป็นการก่อกวน (Disruptive) 

 

Mary Ng ระบุในแถลงการณ์ว่า การเริ่มต้นการเจรจาอย่างเป็นทางการกับไต้หวันเกี่ยวกับข้อตกลงการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศบ่งชี้ว่า แคนาดากับไต้หวันกำลังทำงานเพื่อสร้างโอกาสใหม่สำหรับการลงทุน เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างความร่วมมือใหม่ และสร้างหลักประกันของตำแหน่งงานที่ดีที่ให้ผลตอบแทนสูง

 

ทั้งนี้ ข้อมูลตัวเลขจากทางการแคนาดาพบว่า มูลค่าการค้าระหว่างแคนาดากับไต้หวันแตะระดับ 1.02 หมื่นล้านดอลลาร์แคนาดาในปี 2021 เพิ่มขึ้นจาก 7.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2020 

 

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแคนาดามีความตึงเครียดต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแคนาดาควบคุมตัวผู้บริหารของ Huawei Technologies ตามหมายจับของสหรัฐฯ สร้างความไม่พอใจให้กับทางการจีน ซึ่งนำไปสู่การจับกุมชาวแคนาดา 2 คนในจีนด้วยข้อหาสอดแนมล้วงข้อมูล ซึ่งทั้ง 3 คนได้รับการปล่อยตัวในปี 2021 แต่ความสัมพันธ์ของแคนาดากับจีนก็ยังคงตึงเครียดจนถึงทุกวันนี้ 

 

ธุรกิจสหรัฐฯ ในไต้หวันยังกังวลต่อสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน

 

ขณะเดียวกันมีการเปิดเผยรายงานผลการสำรวจของสภาหอการค้าสหรัฐฯ ในไต้หวัน หรือ AmCham พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทที่ทำกิจการในไต้หวันและเข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้ กำลังแก้ไขหรือวางแผนที่จะทบทวนแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจของตนเองในไต้หวันท่ามกลางความตึงเครียดกับจีน โดยมีหลายบริษัทยอมรับว่าความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันกำลังสร้างผลกระทบต่อบริษัทมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันเริ่มมีปัญหาหลังจากที่ Nancy Pelosi อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวันในช่วงเดือนสิงหาคม 2022 สร้างความไม่พอใจต่อรัฐบาลจีนที่มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความพยายามยั่วยุจีน และขัดต่อนโยบายจีนเดียวที่มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน 

 

รายงานระบุว่า ผลการสำรวจของ AmCham ไต้หวัน ที่เปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา (เริ่มสอบถามและเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน – 16 ธันวาคม 2022) ปรากฏว่า 33% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า การดำเนินงานของพวกเขาหยุดชะงักอย่างมากจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น เทียบกับ 17% เมื่อทำแบบสำรวจครั้งก่อน 

 

ในขณะที่สิ่งที่เรียกว่า ‘ความวิตกกังวลส่วนบุคคล’ เกี่ยวกับกิจกรรมทางทหารที่เพิ่มขึ้นยังคงทรงตัวระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม โดย 47% ของบริษัทกล่าวว่า พวกเขาได้แก้ไขหรือวางแผนที่จะแก้ไขแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ เพื่อรับมือกับบรรยากาศภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองแบบใหม่

 

Andrew Wylegala ประธานหอการค้าสหรัฐฯ ในไต้หวัน กล่าวว่า บริษัทต่างๆ กำลังเริ่มต้นและสร้างความต่อเนื่องในการวางแผน ซึ่งรวมถึงแผนปฏิบัติงานฉุกเฉินในการปฏิบัติงาน  

 

ขณะเดียวกันสภาหอการค้าสหรัฐฯ ในไต้หวันยังพบว่า สมาชิก 214 คนจากทั้งหมด 437 คนที่เข้าร่วมการตอบแบบสำรวจในเดือนธันวาคม กล่าวว่า 1 ใน 3 ของบริษัทรายงานว่า ได้รับผลกระทบจากความกังวลหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เพิ่มขึ้นจากสำนักงานใหญ่ทั่วโลก ตามมาด้วยค่าขนส่ง ค่าประกัน หรือค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เพิ่มขึ้น และความวิตกกังวลของพนักงาน

 

การเมืองผันผวนกระทบเชื่อมั่น

 

นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้สมาชิกสภาหอการค้าสหรัฐฯ ชะลอการลงทุนเพิ่มเติมในไต้หวัน และผู้ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่งกล่าวว่า ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบควรเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดในอีก 3 ปีข้างหน้า

 

ยิ่งไปกว่านั้นสมาชิกสภาหอการค้าสหรัฐฯ ยังได้เรียกร้องให้มีวาระที่เป็นจริงเป็นจังในการเร่งรัดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวันขึ้นมาใหม่ รวมถึงการจัดการเจรจาข้อตกลงการค้าระดับทวิภาคีในที่สุด 

 

Andrew Wylegala กล่าวว่า สหรัฐฯ กับไต้หวันกำลังจับมือก่อร่างความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายขึ้นมาอีกครั้งจากที่เมื่อ 1 ปีที่แล้วไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน ท่ามกลางความคาดหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดำเนินไปได้ในทิศทางที่เร็วขึ้น 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising