×

ปฏิรูปปฏิทิน: แต่ละปีมีแค่ 364 วัน เพิ่มสัปดาห์ใหม่ทุก 5-6 ปี ทำให้ทุกปีเหมือนกัน

08.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • ปฏิทินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือปฏิทินในระบบเกรกอเรียน บางเดือนมี 30 วันบ้าง 31 วันบ้าง 28 หรือ 29 วันก็ยังมี แถมทุกๆ สี่ปีก็ยังต้องมาเพิ่มวัน ทำให้ปีนั้นๆ เป็นปีอธิกสุรทินไปอีก
  • แต่รู้ไหมว่าปฏิทินแบบที่เราใช้กันอยู่ ซึ่งเป็นปฏิทินที่ไม่มี ‘ความสม่ำเสมอ’ นี้ มันไม่ได้แค่น่ารำคาญเท่านั้น แต่ยังทำให้บางองค์กรต้องสูญเสียเงินปีละหลายพันล้านเหรียญอีกต่างหาก
  • ในปี 2012 หุ้นของแอปเปิ้ลในไตรมาสหน่ึงตกลง 10% ที่ตกลงก็เพราะสถานะทางการเงินรายไตรมาสน้ัน พอเอาไปเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (คือปี 2011) พบว่าน่าผิดหวัง หุ้นก็เลยตก ทำให้เกิดความสูญเสียมหาศาล
  • นักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าชื่อ สตีฟ ฮันเค (Steve Hanke) ได้ปรับปรุงปฏิทินใหม่ ที่ถือว่าเป็นปฏิทินที่ ‘มีตรรกะ’ มากกว่าปฏิทินแบบเก่า ทำให้การคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือพันธบัตรทำได้ง่ายขึ้น การคิดเรื่องตารางงานต่างๆ ที่ต้องเกิดขึ้นซ้ำๆ ในแต่ละปีทำได้ง่ายขึ้น เพราะทำครั้งเดียวก็ใช้ได้ทุกปี มนุษย์จึงไม่ต้องมา ‘เสียสมอง’ กับเรื่องพวกนี้

คุณเคยเบื่อปฏิทินที่ใช้อยู่ไหมครับ

 

หลายคนคิดว่า ปฏิทินเป็นสิ่งที่เป็น ‘สากล’ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ที่จริงแล้ว กระทั่งปฏิทินก็ยังเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น และปฏิทินก็มีหลายต่อหลายระบบ

 

ปฏิทินเกิดจากการโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (ที่จริงก็เกิดจากการหมุนและการโคจรของโลกเราด้วยนี่แหละ) ความผันแปรของคืนวันสั้นยาวและฤดูกาลที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปฏิทินต่างๆ ขึ้นมามากมาย เช่น ปฏิทินโบราณแบบ ‘พรีอีทรัสคัน’ (Pre-Etruscan) เป็นปฏิทินสุริยะ (คือใช้ดวงอาทิตย์เป็นหลัก) ที่หนึ่งปีมี 10 เดือน

 

 

นอกจากนี้ยังมีปฏิทินระบบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ปฏิทินของตะวันออกใกล้แบบโบราณ หรือปฏิทินอียิปต์ ปฏิทินของชาวสุเมเรียน ปฏิทินของชาวบาบิโลน ปฏิทินของชาวกรีกและโรมัน หรือที่หลากหลายมากๆ ก็คือปฏิทินของชาวฮินดูที่ไม่ได้มีระบบเดียว แต่แตกแยกย่อยออกไปอีกหลายระบบ ซึ่งปฏิทินโบราณส่วนใหญ่จะอาศัยดวงจันทร์ คือต้องคอยสังเกต ‘พระจันทร์ใหม่’ (New Moon) เพื่อเป็นสัญญาณบอกการเริ่มต้นของเดือน

 

ปฏิทินที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คือปฏิทินในระบบเกรกอเรียน ซึ่งปรับมาจากปฏิทินของจูเลียส ซีซาร์ อีกทีหนึ่ง

 

แต่เดิม ปฏิทินโรมันเป็นจันทรคติ หนึ่งปีมีแค่ 355 วัน แต่เพราะปีสั้นเกินจริง ฤดูกาลจึงผันผวน จูเลียส ซีซาร์ จึงเติมวันเข้าไป 67 วัน แต่พอใช้นานเข้าๆ พบว่าแต่ละปีจะยาวเกินจริงไป 11 นาที ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน พระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 13 เลยได้ปรับปรุงระบบปฏิทินในปี 1582 จนเป็นแบบปัจจุบัน เป็นปฏิทินที่ใช้ดวงอาทิตย์ ไม่ได้ใช้ดวงจันทร์ ซึ่งเราก็คงรู้กันอยู่นะครับ ว่าปฏิทินแบบที่เราใช้กันอยู่นี้ บางเดือนก็มี 30 วันบ้าง 31 วันบ้าง 28 หรือ 29 วันก็ยังมี แถมทุกๆ สี่ปีก็ยังต้องมาเพิ่มวัน ทำให้ปีนั้นๆ เป็นปีอธิกสุรทินไปอีก

 

แต่คุณรู้ไหมครับ ว่าปฏิทินแบบที่เราใช้กันอยู่ ซึ่งเป็นปฏิทินที่ไม่มี ‘ความสม่ำเสมอ’ นี้ มันไม่ได้แค่น่ารำคาญเท่านั้น แต่ยังทำให้บางองค์กรต้องสูญเสียเงินปีละหลายพันล้านเหรียญอีกต่างหาก

 

 

สูญเสียอย่างไร

 

สูญเสียเพราะว่าเรามักจะคำนวณเรื่องการเงินกันเป็น ‘ไตรมาส’ ไงครับ แล้วปฏิทินแบบที่เป็นอยู่นี้ ถ้าเอามาเทียบกันในแต่ละไตรมาส มันจะมีความสั้นยาวไม่เท่ากัน ต่อให้เทียบระหว่างไตรมาสเดียวกัน แต่อยู่คนละปี ก็ยัง (อาจ) ไม่เท่ากันอีกต่างหาก

 

ในปี 2012 หุ้นของแอปเปิ้ลในไตรมาสหน่ึง (ไม่ได้หมายถึงไตรมาสที่หนึ่งนะครับ) ตกลง 10% ที่ตกลงก็เพราะสถานะทางการเงินรายไตรมาสน้ัน พอเอาไปเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (คือปี 2011) พบว่าน่าผิดหวัง หุ้นก็เลยตก ทำให้เกิดความสูญเสียมหาศาล

 

แต่การที่ไตรมาสเดียวกันของสองปีนั้นมีผลประกอบการที่แตกต่างกัน ไม่ได้เกิดจากตัวผลประกอบการจริงๆ หรอกนะครับ ทว่าเกิดจากไตรมาสของปี 2011 ยาวกว่าไตรมาสของปี 2012 อยู่หนึ่งสัปดาห์ เวลาหนึ่งสัปดาห์นี่ มันมากพอจะทำให้ผลประกอบการสูงขึ้นกว่ากันไม่น้อยทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงพูดได้ว่า การเอาสองไตรมาสที่มีระยะเวลาไม่เท่ากันมาเทียบกันนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยแฟร์เท่าไร แต่คนก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของปฏิทิน

 

 

ก่อนหน้านี้ คือในปี 2004 นักดาราศาสตร์คนหน่ึง คือ ริชาร์ด คอนน์ เฮนรี (Richard Conn Henry)​ ซึ่งอยู่ที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ เคยเสนอว่า ต้องปฏิรูปปฏิทิน โดยเขาเสนอปฏิทินที่เรียกว่า Common-Civil-Calendar-and-Time (หรือ CCC&T) แล้วต่อมาในปี 2011 นักเศรษฐศาสตร์ร่วมสถาบันเดียวกัน ก็มาปรับปรุงปฏิทินนี้อีกทีหนึ่ง นักเศรษฐศาสตร์ที่ว่าชื่อ สตีฟ ฮันเค (Steve Hanke) ทำให้ได้ปฏิทินใหม่ออกมา เรียกกันว่าปฏิทินฮันเคเฮนรี (Hanke Henry Calendar)

 

ทั้งสองคนบอกว่า ปฏิทินใหม่นี้จะ ‘เป็นเหตุเป็นผล’ มากกว่า และในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว จะช่วยประหยัดเงินให้โลกได้ปีละหลายพันล้านเหรียญ โดยปฏิทินใหม่นี้จะเริ่มในวันจันทร์ทุกๆ ปี ทุกไตรมาสจะมีเวลาเท่ากันเป๊ะ แต่หลักๆ แล้ว ปฏิทินใหม่นี้จะเรียงแบบเดียวกับปฏิทินแบบเก่า จำนวนเดือนยังมี 12 เดือน มี 52 สัปดาห์ แต่ละสัปดาห์ยังมี 7 วันเหมือนเดิม แต่หลักการสำคัญก็คือ จำนวนวันในหนึ่งปีต้องหารด้วย 7 ลงตัว ทำให้หนึ่งปีมี 364 วัน แทนที่จะเป็น 365 วัน และในหนึ่งไตรมาส จะมีเดือนที่มี 30 วัน อยู่สองเดือน และมีเดือนที่มี 31 วัน อยู่หนึ่งเดือน (เรียกว่าระบบ 30:30:31) แต่ละไตรมาสจึงยาวเท่ากันเป๊ะ ทำให้การคำนวณทางการเงินและบัญชีเป็นไปได้ง่ายกว่า

 

แต่ปัญหาก็คือ โลกใช้เวลาราว 365.24 วัน ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์จนครบหนึ่งรอบ (คือหนึ่งปี) ดังนั้น ปฏิทินแบบนี้จึงต้องเพิ่ม ‘สัปดาห์’ ใหม่เข้าไปทุกๆ 5 หรือ 6 ปี การเพิ่มเวลาเข้าไปทีละหนึ่งสัปดาห์ จะทำให้จำนวนวันในหนึ่งปียังคงหารได้ด้วย 7 เหมือนเดิม

 

ปฏิทินแบบนี้มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น มันมีความ ‘ถาวร’ แต่ละปีเหมือนกัน (ยกเว้นปีที่ต้องเพิ่มสัปดาห์ใหม่เข้าไป) จึงเป็นประโยชน์ในการคำนวณด้านการเงินต่างๆ อย่างมาก แต่ข้อเสียก็คือ วันเกิดของแต่ละคนนั้น ถ้าใครไปเกิดในสัปดาห์ที่เพิ่มเข้าไปใหม่ (แบบเดียวกับคนที่เกิดวันที่ 29 กุมภาพันธ์) กว่าจะได้ฉลองวันเกิด ก็ต้องผ่านไปทีละห้าหรือหกปีโน่น และการเปลี่ยนแปลงปฏิทินใหม่นี้ ก็จะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมต่างๆ ที่ผูกติดอยู่กับปฏิทินแบบเดิมด้วย

 

แต่กระนั้น ปฏิทินแบบฮันเคเฮนรี ก็ถือว่าเป็นปฏิทินที่ ‘มีตรรกะ’ มากกว่าปฏิทินแบบเก่า ทำให้การคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หรือพันธบัตรทำได้ง่ายขึ้น การคิดเรื่องตารางงานต่างๆ ที่ต้องเกิดขึ้นซ้ำๆ ในแต่ละปี (เช่น หลักสูตร วันลา การศึกษา ฯลฯ) จะทำได้ง่ายขึ้น เพราะทำครั้งเดียวก็ใช้ได้ทุกปี มนุษย์จึงไม่ต้องมา ‘เสียสมอง’ กับเรื่องพวกนี้

 

ก่อนหน้านี้ เคยมีการปฏิรูปปฏิทินครั้งใหญ่มาหลายครั้งแล้ว โดยแนวคิดหนึ่งคือการทำให้หนึ่งปีมี 13 เดือน แต่ละเดือนมี 28 วัน ซึ่งเมื่อนับรวมกันแล้วก็จะได้ 364 วัน แล้วค่อยไปเพิ่มวันกันอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็ปรากฏว่ายังไม่สำเร็จเสียที นอกจากนี้ ในปี 1930 เคยมีการริเริ่มจัดทำปฏิทินโลกโดยแบ่งหนึ่งปีเป็นสี่ไตรมาสคล้ายๆ ปฏิทินฮันเคเฮนรี แต่ไม่ได้ใส่สัปดาห์พิเศษเข้ามา ทว่าใช้ ‘วันโลก’ แทรกเข้ามาในบางสัปดาห์แทน

 

ปฏิทินเกือบได้รับการประกาศใช้ทั่วโลกแล้ว แต่ต่อมาก็ถูกต่อต้าน เพราะปฏิทินนี้ทำให้ในบางสัปดาห์มี 8 วัน ไม่ใช่ 7 วัน ซึ่งขัดกับหลักศาสนา เนื่องจากศาสนาคริสต์สอนว่า พระเจ้าสร้างโลกใน 7 วัน หนึ่งสัปดาห์จึงต้องมี 7 วัน นั่นทำให้ฮันเคและเฮนรีต้องรักษาจำนวนวันในหนึ่งสัปดาห์เอาไว้ดังเดิม

 

แม้เป็นปฏิทินที่มีตรรกะและช่วยประหยัดเงิน แต่จนถึงบัดนี้ ปฏิทินฮันเคและเฮนรีก็ยังไม่ถูกประกาศใช้

 

และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงปฏิทินน่าจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้หรอกครับ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X