×

อัปเดตกากแคดเมียมล่องหน เหลืออีกกี่ตันที่ต้องตามหา หลังตรวจพบพนักงานโรงงานหลอมในสมุทรสาครมีสารเกินมาตรฐาน

โดย THE STANDARD TEAM
08.04.2024
  • LOADING...
กากแคดเมียม

วันนี้ (8 เมษายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีการตรวจสอบพบกากแคดเมียมที่ควรจะถูกฝังปิดถาวรในจังหวัดตาก ถูกลักลอบขุดขึ้นมาและมีการเคลื่อนย้ายจำนวนกว่า 15,000 ตันนั้น ปัจจุบันกากแคดเมียมเหล่านี้ไปอยู่ส่วนใดบ้าง

 

จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงถึงตัวเลขที่ตอนนี้เป็นประเด็นสงสัยของคนไทยทั่วประเทศว่า เดิมทีทางผู้ประกอบการในจังหวัดตากได้ยื่นขอนำแคดเมียมออกไว้ราวๆ 15,000 ตัน แต่มีปริมาณที่นำออกจริงจากการชั่งน้ำหนักยอดสุทธิอยู่ที่ 13,832 ตัน พบใน 3 แห่ง คือ

 

  1. บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด หมู่ที่ 2 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 3,040 ตัน

 

  1. โรงงานย่านคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จำนวน 4,400 ตัน 

 

  1. บริษัท ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค (2008) จำกัด หมู่ที่ 6 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร อีกจำนวน 1,034 ตัน 

 

และคงเหลือที่ต้องตามหาต่อไปอีกประมาณ 5,358 ตัน (อยู่ระหว่างการขยายผล เชื่อว่ายังไม่มีการนำออกนอกประเทศ เนื่องจากการขนย้ายวัตถุอันตรายจะต้องได้รับความยินยอมจากประเทศปลายทาง และมีการขออนุญาตหลายขั้นตอน)

 

พบครอบครองสารอันตราย มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

 

ขณะที่ พล.ต.ต. วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ระบุว่า จะมีการแจ้งข้อหาในความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ทั้ง 3 แห่งที่พบกากแคดเมียม แม้ทางเจ้าของบริษัทฯ จะให้ความร่วมมือในการนำเอกสารต่างๆ มาให้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดฐานมีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครอง โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

จุดสิ้นสุดกากแคดเมียมไปไหน?

 

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่า ได้มีการไปตรวจสอบหลุมฝังกลบที่จังหวัดตากพบว่า สภาพของหลุมยังมีความมั่นคง จึงมีความพร้อมให้นำกลับไปฝัง ส่วนจะสามารถดำเนินการได้เมื่อไรก็ต้องรอต้นทางประสานมา และหลังจากนี้จะมีการทยอยตรวจสอบโรงหล่อภายในจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด และจะมีขยายผลตรวจสอบไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะภาคตะวันออก 

 

การที่มีคนที่ทำผิดกฎหมายสามารถเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นก็จะต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าไม่สามารถหลบเลี่ยงได้ ส่วนในระบบเองจะมีการขอปรับแก้บทลงโทษให้หนักขึ้น โดยเฉพาะ พ.ร.บ.โรงงาน เนื่องจากส่วนใหญ่ที่กระทำความผิดเพราะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แต่สำหรับผู้ที่ทำถูกกฎหมายก็จะมีการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ 

 

ด้าน ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า การขนย้ายกากแคดเมียมจะให้ขนกลับไปให้เร็วที่สุด โดย 3 จุดที่พบนั้นก็จะต้องมีระบบค่อนข้างปิด อยู่ในบิ๊กแบ็กเดิม ปิดซีล มีผ้าคลุม และมี GPS ติดรถ การขนย้ายกลับไปตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางต้องนำออกไปให้ได้ภายใน 7 วัน ทั้งนี้ จะทยอยนำออกไปให้เร็วที่สุด เนื่องจากของมีจำนวนมาก

 

พบ 8 คนงานโรงหลอมสารแคดเมียมเกินมาตรฐาน

 

ล่าสุดนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครเปิดเผยผลการตรวจปัสสาวะพนักงานบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 11 คน จาก 19 คน พบว่า มีสารแคดเมียมในร่างกายเกินมาตรฐานจำนวน 8 ราย โดยทั้งหมดไม่มีอาการผิดปกติ จึงได้ประสานพนักงานโรงงานทั้ง 11 รายให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสมุทรสาครในวันที่ 8 เมษายน 2567 เพื่อตรวจยืนยันและให้การรักษาตัว รวมทั้งติดตามพนักงานที่เหลือเพื่อเข้ารับการตรวจ ซึ่งโรงพยาบาลเตรียมความพร้อม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สถานที่ ยา เวชภัณฑ์ และสารแก้พิษ เพื่อรองรับแล้ว 

 

ขณะที่ศูนย์อนามัยที่ 5 ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 5 สมุทรสงคราม ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำอุปโภคบริโภคและอาหารของประชาชนในชุมชนใกล้โรงงาน เพื่อตรวจหาสารปนเปื้อนแล้ว

 

ทั้งนี้ หากสารแคดเมียมเข้าสู่ร่างกายโดยผ่านทางระบบหายใจและระบบทางเดินอาหาร จะส่งผลให้ตับอักเสบ บางส่วนจะไปสะสมในตับและไต โดยจะใช้เวลาขับออกทางปัสสาวะครึ่งหนึ่งของที่สะสม 20 ปี ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง หากรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมจะมีอาการของโรคกระดูกพรุน กระดูกมีการเจริญที่ผิดปกติ รวมถึงโรคอิไต-อิไตด้วย เบื้องต้นในการรักษา ให้ดื่มนมหรือบริโภคไข่ที่ตีแล้ว เพื่อลดการระคายเคืองของทางเดินอาหาร หรืออาจทำให้ถ่ายท้อง เพื่อลดการดูดซึมแคดเมียม

 

สส. ก้าวไกล เชื่อ บางส่วนหลอมแล้ว หวั่นมลพิษรั่วสู่ชุมชน 

 

ด้าน สส. ก้าวไกล เฟซบุ๊กไลฟ์ตั้งวงคุยฉุกเฉิน เตือนประชาชนและตั้งคำถามไปยังรัฐบาล โดย คริษฐ์ ปานเนียม สส. ตาก เขต 1 ระบุว่า เหมืองสังกะสีผาแดงแม้จะปิดตัวไปแล้วแต่ก็ยังทิ้งผลกระทบ หลายพื้นที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ แม้กากแคดเมียมจะถูกฝังกลบในบ่อซีเมนต์ตามหลักวิชาการ แต่ชาวตากก็มาทราบข่าวพร้อมคนไทยทั้งประเทศว่า มีการเปิดบ่อเพื่อเอาแคดเมียมออกมาขาย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในพื้นที่ 

 

ที่สำคัญกระทรวงอุตสาหกรรมยังระบุว่าจะนำกากแคดเมียมมาคืนที่เดิม แต่กลับไม่มีการตรวจสอบว่าบ่อเกิดการรั่วไหลของสารพิษหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบที่มาที่ไปของการเปิดบ่อ และอีกไม่นานพายุฤดูร้อนจะมา ประชาชนในพื้นที่กังวลว่าบ่อกากแร่ที่ถูกเปิดออกเมื่อเจอพายุฝนจะรั่วไหลพาสารพิษลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติหรือไม่ 

 

ด้าน ชวาล พลเมืองดี สส. ชลบุรี เขต 3 พื้นที่บ้านบึง กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ถึงความผิดปกติจากโรงหลอมในตำบลคลองกิ่ว ซึ่งเป็นโรงรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ของกลุ่มทุนจีน และพบว่า สัตว์เลี้ยงไม่ยอมลงไปกินน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างที่เคย เมื่อเข้าไปตรวจสอบพื้นที่โรงงานก็พบถุงบิ๊กแบ็กจำนวนมาก หลายส่วนถูกพบหน้าเตาหลอม ซึ่งทำให้เชื่อได้ว่ามีกากแคดเมียมบางส่วนถูกหลอมไปแล้ว 

 

โดยมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อรัฐบาลดังนี้ 

 

ประกาศให้พื้นที่คลองกิ่วเป็นเขตควบคุมมลพิษ ตรวจสอบโรงหลอมและการฝังกลบในพื้นที่โรงหลอมทั่วทั้งประเทศ ตรวจสอบการสำแดงเท็จนำเข้ากากอุตสาหกรรมอันตรายที่เป็นวัตถุดิบเข้ามาในประเทศ และหยุดการออกใบอนุญาตให้กับโรงหลอมเพิ่ม

 

ด้าน ณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส. สมุทรสาคร เขต 1 ระบุว่า แม้จะยังไม่พบว่ามีการหลอมแคดเมียมและการปนเปื้อนในพื้นที่บางน้ำจืด จังหวัดสมุทรสาคร แต่การให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนของรัฐบาลทำให้เกิดความตื่นตระหนก ถึงกับมีการพูดว่าจะไม่กินอาหารทะเลจากมหาชัย และมีความกังวลว่าโรงงานหลอมจะปล่อยกากแร่ลงสู่แม่น้ำ 

 

ถึงเวลามีกฎหมาย PRTR เปิดเผยข้อมูลเคลื่อนย้ายสารพิษ

 

ขณะที่ พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส. บัญชีรายชื่อ ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า กากแคดเมียมเมื่อถูกหลอมจะต้องผ่านการบำบัดมลภาวะทางอากาศและมีระบบบำบัดน้ำเสียด้วย เนื่องจากไอกรดจากการหลอมแคดเมียมจะตกลงสู่พื้นผิวและปนเปื้อนแหล่งน้ำ เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องเร่งตรวจสอบ เพื่อความสบายใจและความปลอดภัยของประชาชน

 

ทั้งนี้ พูนศักดิ์ได้เสนอแนะว่า อยากให้กระทรวงอุตสาหกรรมทบทวนระบบกำกับการจัดการของเสียและน้ำเสียของอุตสาหกรรมทั้งระบบ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นการต่อใบอนุญาตขุดกากแร่ ให้หน่วยงานดูแลครอบคลุมไปจนภายหลังการปิดโครงการ ทบทวนกระบวนการยุติธรรมสำหรับกรณีคดีสิ่งแวดล้อม  รวมถึงเร่งรัดการออกกฎหมาย PRTR (พ.ร.บ.ควบคุมการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายสารพิษหรือมลพิษ) เพื่อเปิดเผยข้อมูลมลพิษให้ประชาชนได้ทราบความเสี่ยงของพื้นที่โดยเร็วที่สุด ซึ่งพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมาย PRTR เข้าสภาแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising