วันนี้ (17 กันยายน) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 3,045.519 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 ซึ่งการจ่ายเงินจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีจ่ายเงินช่วยเหลือตามที่ ครม. อนุมัติ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จะเป็นหน่วยรับงบประมาณและดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งทางธนาคารจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยที่มีสิทธิโดยตรงผ่านระบบพร้อมเพย์ต่อไป
สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือจะต้องเป็นอุทกภัยที่เกิดในช่วงฤดูฝนปี 2567 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ทั้งกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงการระบายน้ำ จนส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้
ส่วนเงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินใน 57 จังหวัด, มีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้, ผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย, ผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากคณะกรรมการการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอและจังหวัด นอกจากนี้หากเป็นกรณีประสบภัยหลายครั้งจะได้รับความช่วยเหลือครั้งเดียว
ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือซึ่งแยกเป็นแต่ละกรณี ดังนี้
- กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท
- กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 7,000 บาท
- กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท
ไตรศุลีกล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือครั้งนี้จะทำให้ครัวเรือนผู้ประสบภัยจำนวน 338,391 ครัวเรือนใน 57 จังหวัด ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และสามารถดำรงชีวิตเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
สำหรับ 57 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พังงา พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี
ขณะที่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมถึงการแก้ไขช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยอุทกภัยในภาคเหนือและภาคอีสานว่า ขอให้ดูพายุในสัปดาห์หน้าและสัปดาห์ถัดไป เพื่อให้เตรียมการได้ทันสถานการณ์ และได้สั่งการตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ขอให้ทุกภาคส่วนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพะเยา หรือจังหวัดใกล้เคียง ที่มีสถานการณ์น้ำไหลลงมาในพื้นที่ ทั้งนี้ทั้งสองหน่วยงานจะต้องรายงานและวิเคราะห์สถานการณ์เป็นรายชั่วโมง