สองสามปีที่ผ่านมานี้ วงการ HR ถกเถียงกันมากครับ เรื่อง Specialist vs. Generalist โดยกระแสใหม่ที่คนหยิบยกมาคุยกันคือ ยุคนี้คนที่มีความรู้แบบกว้าง (broad) เป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าคนที่เก่งอะไรอย่างเดียวมากๆ รึเปล่า?
ซึ่งแนวความคิดนี้ค่อนข้างจะสวนทางกับค่านิยมช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่มองว่าการเป็น Specialist สร้างความได้เปรียบและเป็นที่ต้องการมากกว่า อย่างในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สำรวจผู้ที่เรียนจบ MBA จำนวน 400 คน โดยพบว่า คนที่จบโดยเชี่ยวชาญด้าน Investment Banking ได้รับการเสนองานน้อยกว่าคนที่มีแบ็กกราวด์และประสบการณ์ที่รู้อะไรแบบกว้างๆ พูดง่ายๆ คือ งานวิจัยนี้พบว่า Generalist ได้รับการเสนองานมากกว่า Specialist ครับ
หรือบริษัทจัดหางานในอินเดียอย่าง Randstad India และ TeamLease India ก็พบเช่นกันครับว่า แนวโน้มการจ้างงานของบริษัทต่างๆ ทุกวันนี้มองหา Generalist มากขึ้น และยังพบด้วยว่า คนที่จบด้าน Liberal Arts หรือในบ้านเราคือคณะมนุษยศาสตร์ อักษรศาสตร์ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด ทั้งที่ก่อนหน้านี้คณะเหล่านี้เคยถูกมองว่าเป็นคณะที่จบมาแล้วหางานยาก เพราะไม่ใช่สายอาชีพโดยตรง และเป็นคณะที่เรียนวิชาในเชิงกว้าง
ซึ่งปรากฏการณ์ที่บริษัทเริ่มต้องการ Generalist นี้น่าจะพออธิบายได้จากสาเหตุดังนี้ครับ
อย่างแรกเลยคือ ยุคนี้เป็นยุค Less is more สังเกตง่ายๆ สามสี่ปีที่ผ่านมา ‘Start up’ ถูกพูดถึงและพบเห็นบ่อยมาก ขณะเดียวกัน ทิศทางของหลายบริษัทก็หันมาเห็นดีเห็นงามกับการทำตัว Small สไตล์ Start up กันทั้งนั้น ยุคนี้จึงเป็นยุคที่เน้นการทำงานแบบทีมเล็กๆ ครับ พอเป็นทีมเล็ก คนที่มาทำงานเลยจำเป็นต้องทำได้หลายอย่าง เช่น คนทำ HR ต้องทำได้หลายด้าน คือจัดหาคน จ่ายเงินเดือน ฝึกอบรม ว่าง่ายๆ ‘All-in-one’ ดังนั้น ความจำเป็นที่ต้องจ้าง Specialist ด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะก็จะลดน้อยลง
อย่างที่สองคือ ยุคนี้เป็นยุคที่บริษัทมองหาคนที่สามารถนำมาฝึกฝน (trainable) ได้ ยิ่งในตำแหน่งสำหรับคนจบใหม่ บริษัทจะยิ่งให้ความสนใจ Generalist ที่มีกระบวนการคิดที่ดีมากกว่า Specialist ด้านใดด้านหนึ่ง เพราะคนที่มีกระบวนคิดที่ดีฝึกไม่นานเท่าไรก็เก่งหรือเชี่ยวชาญแล้ว ดีกว่าบริษัทเสี่ยงจ้าง Specialist ซึ่งค่าตัวแพงกว่ามาทำงาน เพราะหากจ้างมาแล้วไม่เวิร์ก ก็จะเป็นภาระของบริษัทต่อไปอีก
อย่างที่สามคือ ลักษณะงานทุกวันนี้มีความหลากหลายมากขึ้นครับ คือต้องยอมรับว่าโลกเราหมุนเร็วขึ้นทุกวัน เทรนด์เปลี่ยนใหม่แทบจะตลอดเวลา ส่งผลให้งานที่ทำๆ กันก็ต้องปรับไปเรื่อยๆ ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น Specialist ที่เก่งอะไรเพียงอย่างเดียว แต่ทำอย่างอื่นๆ ไม่ค่อยเป็น ก็จะปรับตัวตามสภาพแวดล้อมแบบนี้ไม่ทันครับ เพราะรู้และทำงานได้แคบเกินไป กลายเป็นว่าเป็นผลดีกับ Generalist ที่ทำได้หลายอย่างมากกว่าแทน
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังอยู่ในการถกเถียงนะครับ เพราะหลายคนก็ยังมองว่า การเป็น Specialist ยังสร้างความได้เปรียบมากกว่าอยู่ดี เพราะการเป็น Generalist ที่ทำได้หลายอย่างแต่ไม่เด่นสักอย่างนั้น มีความเสี่ยงต่อการถูกแทนที่ กล่าวคือ รับเข้าทำงานง่าย แต่ก็ถูกให้ออกง่ายด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้ ไม่ใช่ทุกวงการที่นิยม Generalist มากกว่า Specialist อย่างวงการที่อาศัยความเชี่ยวชาญสูงๆ เช่น วงการแพทย์ ก็ยังเป็นที่ต้องการ Specialist อยู่เหมือนเดิม
ทีนี้ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว เก่งแบบไหนจึงจะดีที่สุดในยุคนี้? ผมว่า การมีความรู้แบบตัว T ครับ คือ รู้เชิงลึกหรือเชี่ยวชาญอะไรสักด้าน ขณะเดียวกันก็รอบรู้เรื่องอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างคนหนึ่งที่เก่งแบบนี้ชัดเจนมากก็คือ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ครับ
บางคนยกให้มัสก์เป็นผู้บริหารที่มีความรู้แบบตัว T บางคนก็ยกให้เขาเป็น ‘Expert Generalist’ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าสุดท้ายก็คล้ายๆ กัน อยู่ที่ว่ามองจากมุมไหนมากกว่า ถ้ามองว่ามัสก์เป็น Specialist ด้านวิทยาศาสตร์ (ความรู้แนวดิ่ง) เขาก็คือคนที่มีความรู้เชิงกว้าง (ความรู้แนวนอน) ในหลายศาสตร์จากการอ่านหนังสือมากมาย ซึ่งมัสก์อ่านหมดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น ปรัชญา ศาสนา วรรณคดี วิศวกรรม ธุรกิจ ชีวประวัติบุคคล วิทยาศาสตร์ เรียกว่าแทบทุกแขนง หรือถ้ามองว่าเขาเป็นคนที่รู้หลายศาสตร์และรู้ได้ดีมากๆ ก็อาจมองได้ว่าเขา Specialist แบบเป็ด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าความรู้เชิงกว้างของมัสก์มีผลต่องานที่เขาทำมากๆ เพราะองค์ความรู้หลายแขนง เช่น การบริหารธุรกิจ การตลาด ความรู้ด้านพลังงาน วิศวกรรม อวกาศ ช่วยให้มัสก์เกิดการข้ามองค์ความรู้หรือบูรณาการกัน จนทำให้เค้าสามารถสร้าง Tesla และ SpaceX ขึ้นมาได้
ดังนั้น การเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องดีครับ แต่ว่ายุคนี้มันอาจไม่เพียงพอแล้ว หากเราจะต้องรู้อะไรหลายอย่างด้วย ยิ่งพอขึ้นเป็นระดับหัวหน้าหรือผู้บริหาร การรู้เชิงกว้างจะเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้เราปรับตัวทันและมีความเข้าใจครอบคลุมงานต่างๆ ได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน การทำอะไรหลายอย่างได้เป็นเรื่องดีเหมือนกันครับ แต่ถึงอย่างนั้นเพื่อความมั่นคงในระยะยาว ก็ต้องสร้างความเชี่ยวชาญสักด้านด้วย เพราะงานบางงานก็ยังต้องการ Specialist อยู่ดี
พอทราบอย่างนี้แล้ว เราก็น่าจะพอวางแผน Roadmap การพัฒนาตัวเองให้เป็นที่ต้องการของตลาดได้มากขึ้นนะครับ
อ้างอิง:
- บทความ Generalists Get Better Job Offers Than Specialists by Nicole Torres ใน Harvard Business Review hbr.org/2016/06/generalists-get-better-job-offers-than-specialists
- บทความ Not a specialist? Don’t worry, you are hired by Namrata Singh ใน The Times of India timesofindia.indiatimes.com/business/india-business/not-a-specialist-dont-worry-you-are-hired/articleshow/59496653.cms
- บทความ The 2016 enterprise skills debate – specialist or generalist? by John Reed ใน Diginomica diginomica.com/2015/12/29/the-2016-enterprise-skills-debate-specialist-or-generalist/
- บทความ How Elon Musk Learns Faster and Better Than Everyone Else by Michael Simmons ใน Observer observer.com/2016/09/how-elon-musk-learns-faster-and-better-than-everyone-else/