×

Cross Function พลังของการเชื่อมโยงสิ่งที่ไม่เข้ากัน

08.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • เมื่อทีมผ่าตัดไปปรึกษาเรื่องการทำงานให้รวดเร็วกว่าเดิมกับทีมดูแลรถแข่งฟอร์มูลาวัน ผลลัพธ์ที่ได้คือการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
  • เพราะ Red Bull สื่อสารการตลาดผ่านกีฬาเอ็กซ์ตรีมและไลฟ์สไตล์มานาน จึงมีคอนเทนต์และโนว์ฮาวมหาศาล สุดท้ายพวกเขาจึงหันมาทำธุรกิจสื่อที่มีวิธีคิดต่างจากสื่อกีฬาเจ้าอื่นๆ
  • เช่นเดียวกับโรเบิร์ต แลง เจ้าของปริญญาเอกด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่หลงใหลในการพับกระดาษโอริกามิ เมื่อเขานำความหลงใหลมาผนวกเข้ากับความรู้ด้านคณิตศาสตร์ที่มี สุดท้ายจึงกลายเป็นเรื่องที่สร้างประโยชน์มหาศาลให้กับหลากหลายวงการ
  • เรื่องที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่หากมีคนสร้างความเชื่อมโยงได้ มันก็เกิดความมหัศจรรย์อย่างไม่น่าเชื่อ

     ผมเคยอ่านบทความของคุณต้อง-กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร (เจ้าของเพจและหนังสือ 8 บรรทัดครึ่ง) เรื่องหนึ่งครับ

     เขาเล่าว่า มีทีมผ่าตัดโรงพยาบาลแห่งหนึ่งอยากปรับปรุงวิธีการผ่าตัดให้รวดเร็วกว่าเดิม แต่แทนที่พวกเขาจะไปดูงานหรือขอคำปรึกษาจากทีมผ่าตัดโรงพยาบาลอื่น

     รู้ไหมครับว่าพวกเขาไปปรึกษาใคร?

     พวกเขาไปหาทีมดูแลรถแข่งฟอร์มูลาวัน หรือ F1 ครับ

     ถ้าใครชอบดูรถแข่งฟอร์มูลาวันจะรู้ว่า หนึ่งในตอนที่สนุกที่สุดคือตอนที่ดูรถเข้า pit นี่แหละครับ

     เพราะสิ่งที่ทีมดูแลรถมีเหมือนกับทีมผ่าตัด คือตอนที่รถเข้า pit stop หรือเข้ามาเติมน้ำมัน เปลี่ยนยาง พวกเขามีเวลาที่สั้นมากๆ

     เพราะฉะนั้นวิธีคิดของทีม pit stop จึงมีประสิทธิภาพสูงสุด

     ผลปรากฏว่าคำแนะนำของทีมรถแข่งช่วยให้วิธีคิดของทีมผ่าตัดได้ไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

     หรือบริษัทที่มีปัญหาเรื่องการสต็อกสินค้า หรือสินค้าคงคลัง (inventory) แทนที่จะไปดูงานในบริษัทที่คล้ายๆ กัน ลองเปลี่ยนไปดูงานที่ร้านดอกไม้ก็ได้นะครับ

     เพราะดอกไม้เน่าเสียเร็ว และแน่นอนว่าวิธีการบริหารสต็อกสินค้าอาจทำให้ได้ไอเดียๆ ใหม่เช่นกัน

     เรื่องเล่านี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องการแก้ปัญหาหรือการทำงานโดยดึงคนในสายงานอื่นๆ เข้ามาช่วยคิดหรือมาช่วยทำงาน

     เพราะบางทีการเอาคนที่มีวิธีคิดหรือมีพื้นเพอาชีพคล้ายกันมาคิดแก้ปัญหาก็อาจเหมือนคุยกันเอง ไม่ได้อะไรแปลกใหม่ และไอเดียที่ได้ก็อาจจะวนไปวนมา

      แต่ถ้าได้คนที่มาจากคนละสายงาน อย่างน้อยอาจได้ไอเดียหรือมุมมองที่เราไม่เคยคิดมาก่อน

     เหมือนกับรุ่นน้องของผมที่เป็นอาจารย์สอนวิชาการตลาด เธอเล่าว่าเธอชอบคลาสเรียนที่มีเด็กหลายๆ คณะมาเรียนมากกว่าคลาสที่มีแต่เด็กคณะเดียวกัน เพราะคลาสคละคณะจะมีไอเดียแปลกใหม่ สนุกสนาน และคาดไม่ถึงให้เธอเซอร์ไพรส์อยู่เป็นประจำ

     เมื่อเล่าเรื่องการดึงคนต่างสายงานเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหรือมาทำงาน ก็ทำให้ผมนึกถึงธุรกิจสื่อที่ไม่ได้เริ่มมาจากธุรกิจสื่อโดยตรง แต่เริ่มมาจากอย่างอื่น และทำให้พวกเขาได้เปรียบจากการไม่ถูกครอบด้วยวิธีทำงานแบบสื่อทั่วไป

 

     ตัวอย่างแรกที่ผมอยากกล่าวถึงคือ Red Bull ครับ

     หลายท่านคงรู้จัก Red Bull หรือกระทิงแดง แต่ทราบไหมครับว่าตอนนี้ Red Bull ที่หุ้นส่วนชาวออสเตรียไปบริหารแบบ global เขามีบริษัทสื่อเป็นของตัวเองนะครับ ชื่อว่า Red Bull Media House ซึ่งเป็นทั้งเอเจนซีโฆษณาและบริษัทสื่อที่เน้นกีฬาเอ็กซ์ตรีมและไลฟ์สไตล์ และยังมีนิตยสารเป็นของตัวเอง ชื่อว่า The Red Bulletin

     ซึ่งไม่นานนี้ Red Bull ได้ร่วมงานกับสำนักข่าวใหญ่อย่าง Reuters ในการเป็นภาคีแบ่งปันคอนเทนต์

     ความน่าสนใจของ Red Bull คือแต่เดิมเขาเป็นบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังที่สื่อสารการตลาดผ่านกีฬาเอ็กซ์ตรีม เช่น รถแข่งฟอร์มูลาวัน กีฬาสเก็ตบอร์ด กีฬาผาดโผนต่างๆ และต่อมาก็ขยายไปสู่วงการเพลง

     การสื่อสารการตลาดผ่านกีฬาเอ็กซ์ตรีมและไลฟ์สไตล์มานานทำให้พวกเขามี โนว์ฮาวมหาศาลในการทำคอนเทนต์ด้านนี้โดยตรง เช่น การตัดต่อ การเล่าเรื่อง เป็นต้น

     ซึ่งสุดท้ายมันกลายเป็นทรัพยากรที่ทำให้พวกเขากลายมาเป็นธุรกิจสื่อด้านนี้โดยเฉพาะได้ครับ

     และแน่นอนว่ามันก็ไม่ได้ติดกรอบวิธีคิดแบบที่สื่อกีฬาเจ้าอื่นทำด้วย เพราะพวกเขาโตมาจากสื่อสารการตลาดในสไตล์ของพวกเขาเอง

     หรืออีกธุรกิจหนึ่งที่หันมาทำสื่อซึ่งผมว่าน่าสนใจดีคือ เอเจนซี่ไทยน้องใหม่อย่าง Rabbit’s Tale ครับ

     สิ่งหนึ่งที่ Rabbit’s Tale พยายามมุ่งเน้นมากๆ ในการช่วยเหลือลูกค้าก็คือการทำคอนเทนต์ออนไลน์

     แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าเชื่อมือว่าพวกเขาทำได้จริง? เมื่ออยากให้เชื่อ ก็ต้องทำให้ดูครับ

     Rabbit’s Tale ก็เลยตั้งอีกบริษัทหนึ่งชื่อว่า Mango Zero ซึ่งผมว่าหลายท่านอาจเคยเห็นเว็บไซต์และแฟนเพจชื่อเดียวกันนี้ผ่านๆ ตากันบ้าง

     Mango Zero เป็นเว็บไซต์เล่าเนื้อหาข่าวสารไลฟ์สไตล์ต่างๆ ด้วยลูกเล่นภาษาบ้านๆ ที่เราเรียกว่า ‘กวนตีน’ นิดๆ ครับ

     คือเจ้าอื่นเขาเล่ากันด้วยวิธีรายงานแบบทั่วไป แต่ที่นี่จะใส่มุก ใส่ความฮา เข้าไปเพื่อทำให้คอนเทนต์นั้นน่าสนใจ อ่านแล้วคนก็อยากไลก์ อยากแชร์

     ซึ่งถ้าถามว่า Rabbit’s Tale ได้อะไรจากตรงนี้ ก็คงเป็นค่าโฆษณา

     แต่ที่ได้แน่ๆ ชัวร์ๆ คือโชว์เคสอย่างดีสำหรับขายงานให้ลูกค้าของพวกเขา

     ผมว่านี่ก็เป็นตัวอย่างของคนทำสื่อที่ไม่ได้มาจากสายงานนั้นมาก่อนอย่าง Rabbit’s Tale พวกเขาเป็นเอเจนซี สิ่งที่พวกเขาถนัดคือการขายไอเดียในการเล่าคอนเทนต์ที่เหมาะกับพฤติกรรมบนโลกออนไลน์

     ฉะนั้นวิธีการมันก็จะเป็นคนละแบบกับวิธีคิดของคนทำสื่อทั่วไป สิ่งที่ได้คือรูปแบบการทำสื่อและวิธีการเล่าคอนเทนต์แบบใหม่ๆ

     และดีไม่ดี มันอาจเป็นช่องทางรายได้ใหม่ของที่นี่ก็ได้ ใครจะรู้

     ตัวอย่างสุดท้ายเป็นตัวอย่างโปรดของผมเลยครับ เล่ากี่ทีก็สนุก

     เป็นเรื่องของชายหนุ่มที่ชื่อว่าโรเบิร์ต แลง (Robert Lang) ชายหนุ่มผู้หลงใหลการพับกระดาษโอริกามิมาตั้งแต่เด็ก

     เขาเรียนจบวิศวกรรมไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก่อนจะไปจบปริญญาเอกจาก Caltech (California Institute of Technology) หลังจากจบปริญญาเอก แลงก็มาเป็นนักวิจัยด้านไฟเบอร์ออปติก

     แต่เขาไม่เคยทิ้งความหลงใหลในโอริกามิเลยแม้แต่น้อย

     ในที่สุดสิ่งที่ทำเล่นๆ ก็กลายเป็นเรื่องไม่เล่นขึ้นมา เมื่อแลงเห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังโอริกามิที่เขาทำเป็นงานอดิเรก

     สิ่งที่เขาเห็นคือ ‘รูปแบบ’ เมื่อนำมาผนวกกับความรู้ด้านคณิตศาสตร์ที่มี เขาก็พบว่าจริงๆ แล้วรูปแบบการพับทั้งหมดนั้นสามารถคำนวณออกมาได้เป็นแบบแผนอยู่ไม่กี่แบบ เขาจึงทำโปรแกรมที่จะช่วยให้การพับกระดาษต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำได้สามารถทำได้ขึ้นมา

     แลงปฏิวัติวงการโอริกามิด้วยการผนวก ‘ศิลปะ’ เข้ากับ ‘คณิตศาสตร์’

     สิ่งที่แลงสร้างขึ้นทำให้ระดับความยากของการพับโอริกามิสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รูปแบบต่างๆ ในการพับนั้นถูกรังสรรค์ออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ด้วยอัตราการพับเฉลี่ยต่อแผ่นเพิ่มขึ้นจากสามสิบทบเป็นร้อยกว่าทบ

     คุณลองไปเสิร์ชกูเกิลดูต่อก็ได้นะครับ แล้วจะพบว่างานของแลงนั้น ส่วนใหญ่ ล้วนมาจากกระดาษแผ่นเดียวทั้งสิ้น ซึ่งดูแล้วจะงงมากว่าพับกันมาได้ยังไง เพราะรายละเอียดมันเยอะสุดๆ

     ในที่สุดเมื่ออายุครบ 40 ปี แลงก็ตัดสินใจทิ้งอาชีพนักวิจัยที่กำลังรุ่งโรจน์ของเขา (ในตอนที่เขาเลิกทำงาน เขามีสิทธิบัตรด้านออปโตอิเล็กทรอนิกส์อยู่ถึง 46 รายการ) เพื่อมาศึกษาเรื่องโอริกามิอย่างจริงจัง เขาบอกว่า

     “มีคนทำงานด้านเลเซอร์กับไฟเบอร์ออปติกเยอะแล้ว

     “สิ่งที่ผมจะทำกับโอริกามิ ถ้าผมไม่ทำ อาจจะไม่มีใครทำเร็จ”

     และดูเหมือนเขาจะพูดถูกเสียด้วย เพราะปรากฏว่างานอดิเรกด้านโอริกามิของเขาถูกนำมาใช้พัฒนาในศาสตร์ด้านอื่นอย่างไม่น่าเชื่อ

     ยกตัวอย่างเช่น ตอนนาซ่าจะส่งเลนส์ของกล้องส่องทางไกลซึ่งมีขนาดใหญ่มากๆ ขึ้นไปบนอวกาศ มันต้องถูก ‘พับ’ ให้มีขนาดเล็กเพื่อใส่ลงไปในจรวดให้ได้ก่อนที่จะไปกางออกอีกทีในอวกาศ

     นาซ่าก็ได้แลงเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบเลนส์เพื่อให้สามารถอยู่ในรูปแบบที่ถูกพับได้ และเล็กพอที่จะเก็บในจรวดได้

     เมื่อผู้ผลิตแอร์แบ็ก (airbag) ของเยอรมนีต้องการพับแอร์แบ็กเข้าไปในตัวรถยนต์ และให้การกางแอร์แบ็กเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุมีประสิทธิภาพมากที่สุด พวกเขามาขอความช่วยเหลือจากแลง

     เมื่อผู้ผลิตอุปกรณ์ขยายหลอดเลือดต้องการเครื่องมือขยายหลอดเลือดที่เมื่อตอนเดินทางอยู่ในหลอดเลือดนั้นจะมีขนาดเล็ก แต่สามารถขยายขนาดใหญ่ขึ้นได้เมื่อถึงเป้าหมาย พวกเขาก็มาหาแลง

     ความเชี่ยวชาญด้านโอริกามิของแลงช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ทางวิศวกรรมได้อย่างไม่น่าเชื่อ

     ทั้งหมดนี้เกิดมาจากความหลงใหลในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล่นๆ และเมื่อความเชื่อมโยงเกิดขึ้น มันก็กลายเป็นเรื่องจริงจังที่สร้างประโยชน์มหาศาลได้

     เรื่องที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่ถ้าหากมีคนสร้างความเชื่อมโยงได้ มันก็เกิดความมหัศจรรย์อย่างไม่น่าเชื่อได้

     ถ้าให้สรุปนะครับ ผมว่าถ้าคุณคิดอะไรไม่ออกหรือจนมุมกับปัญหา ลองไปลากเพื่อนหรือใครที่ทำงานคนละอย่างกับคุณมานั่งคุยกัน ไม่แน่นะครับ ผมว่าเขาอาจจะพูดไอเดียที่คุณคาดไม่ถึงก็ได้

 

Photo: 90’s KIZ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising