×

สถานการณ์ต่อเนื่องในบูร์กินาฟาโซหลังรัฐประหาร ประชาชนอ้าแขนรับรัสเซีย?

26.01.2022
  • LOADING...
Burkina Faso

หลังจากโฆษกคณะรัฐประหารในบูร์กินาฟาโซประกาศการก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลประธานาธิบดีรอช มาร์ก คริสติยอง กาโบเร ที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ภายใต้การนำของ พลโท พอล อองรี ซานเดาโก ดามิบา ประธานกลุ่มเคลื่อนไหว MPSR และผู้นำรัฐประหาร

 

คณะรัฐประหารยังได้ประกาศให้ประชาชนในประเทศและประชาคมโลกรับทราบว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกระงับใช้ มีการยุบคณะรัฐบาลและยุบรัฐสภา พร้อมปิดพรมแดนประเทศและน่านฟ้า ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 24 มกราคมเป็นต้นไป รวมถึงประกาศใช้เคอร์ฟิว ตั้งแต่ 21.00-05.00 น. ทั่วประเทศ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

 

โดยมีประชาชนชาวบูร์กินาฟาโซจำนวนไม่น้อยยังคงออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนการกระทำของกลุ่มกองกำลังทหารดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรุงวากาดูกู เมืองหลวงของประเทศ พร้อมส่งเสียงถึง 2 ประเทศสำคัญอย่างฝรั่งเศสและรัสเซีย 

 

ชาวบูร์กินาฟาโซกำลังปฏิเสธอดีตเจ้าอาณานิคมเดิมอย่างฝรั่งเศสและอ้าแขนรับรัสเซีย เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

 

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นนี้ เป็นผลพวงมาจากกระแสความไม่พอใจการทำงานและบริหารจัดการวิกฤตต่างๆ ของประธานาธิบดีกาโบเร โดยเฉพาะการประสบความล้มเหลวในการปราบปรามกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ก่อความไม่สงบภายในประเทศ นับตั้งแต่ปี 2016 ที่เขาก้าวขึ้นสู่อำนาจ ส่งผลให้มีผู้ย้ายถิ่นกว่า 1.4 ล้านราย มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 ราย และสถานการณ์ความมั่นคงภายในประเทศไม่มีเสถียรภาพ อัตราการว่างงานยังคงสูงมาก โดยอดีตเจ้าอาณานิคมเดิมอย่างฝรั่งเศสกลับไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้ 

 

ในขณะที่ภาพความเด็ดขาดและมีความสามารถของกองกำลังรัสเซียที่เข้าไปปฏิบัติการในสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ไม่ว่าจะทำหน้าที่ปกป้องประธานาธิบดี ดูแลความสงบเรียบร้อยของบริษัทขุดเหมืองเพชรของรัสเซีย รวมถึงทหารรับจ้างรัสเซียที่ต่อสู้กับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาลี ส่งผลให้ชาวบูร์กินาฟาโซหันมาสนับสนุนและพร้อมอ้าแขนรับความช่วยเหลือจากประเทศรัสเซีย โดยหวังว่ารัสเซียจะเข้ามาช่วยเหลือประเทศนี้ เช่นเดียวกับที่เข้าไปปฏิบัติการในประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา

 

ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกมองว่า ยุโรปโดยเฉพาะฝรั่งเศสที่เป็นอดีตเจ้าอาณานิคมเดิมกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในแถบภูมิภาคซาเฮล (Sahel) หรือบริเวณแถบรอยต่อที่แบ่งทวีปแอฟริกาเป็นแอฟริกาเหนือและแอฟริกาใต้ ตั้งแต่มหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงทะเลแดง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เปิดโอกาสให้รัสเซียเข้ามาปฏิบัติการและแผ่อิทธิพลในพื้นที่แถบนี้ โดยเฉพาะในมาลี โดยจะมองหาประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรและต้องการความช่วยเหลือทางการทหาร หลังจากชาติตะวันตกหรือผู้มีอิทธิพลเดิมเริ่มร่นถอยหรือหายไปจากภูมิภาคแถบนั้น ซึ่งนอกจากสาธารณรัฐแอฟริกากลาง รวมถึงมาลีแล้ว รัสเซียยังเข้าไปเคลื่อนไหวในโมซักบิก ลิเบีย และซูดานอีกด้วย

 

หากรัสเซียยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบูร์กินาฟาโซมากจนเกินไป อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส และอาจเกี่ยวโยงทำให้ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับฝรั่งเศส รวมถึงองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่ฝรั่งเศสเป็นประเทศสมาชิก ร้อนระอุขึ้นไม่มากก็น้อย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

 

ภาพ: OLYMPIA DE MAISMONT / AFP

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X