ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น
ในธุรกิจการแพทย์ก็เช่นกัน มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับสินค้าหรือบริการ ภาพหุ่นยนต์ผ่าตัดอาจดูเสมือนเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ในโลกแห่งอนาคต หากแต่แท้จริงเป็นเรื่องที่มีมานานเกือบ 20 ปีแล้ว บ้านเราก็มีหลายโรงพยาบาลที่นำเทคโนโลปัญญาประดิษฐ์มาใช้ แต่ที่เห็นเด่นชัดที่สุดคงเป็นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตั้งแต่การบริหารจัดการไปจนถึงตำแหน่งผู้ช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดกระดูกสันหลัง
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี
ผู้อำนวยการด้านบริหารและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
เทคโนโลยีหุ่นยนต์จัดยา
อย่างที่ทราบกันว่าในหนึ่งวันบุคลากรทางแพทย์ต้องทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยหนักและเยอะแค่ไหน ฉะนั้นความเหนื่อยล้าจากการโหมงานหนักอาจทำให้ประสิทธิภาพในทำงานถดถอยลง
“โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการจัดยาสำหรับผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2551 นับเป็นเทคโนโลยีการจัดการยาที่มีความแม่นยำสูง รวดเร็ว และช่วยป้องกันความคลาดเคลื่อนอันเกิดจากการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี ผู้ป่วยจะได้รับยาที่ถูกต้อง ถูกขนาด ถูกเวลา เป็นไปตามที่แพทย์สั่ง อีกทั้งเภสัชกรของเราก็จะมีเวลาเพียงพอในการดูแลแนะนำผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น” รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการด้านบริหารและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าว
ขั้นตอนการทำงาน หุ่นยนต์เภสัชกรจะรับคำสั่งจากแพทย์โดยตรง แขนกลจะทำหน้าที่ควบคุม จัดยา บรรจุยาลงในสัดส่วนที่ไม่คลาดเคลื่อน ป้องกันการปะปนของยาต่างชนิด หลังจากนั้นจึงติดฉลากพร้ามจ่ายยา ถูกต้อง ครบถ้วน และแม่นยำสูง นอกจากจะป้องกันการผิดพลาดในทุกกรณีแล้วยังเป็นการลดใช้กระดาษจากใบสั่งยา ช่วยลดปริมาณยาเหลือทิ้ง ซึ่งรวมแล้วมีมูลค่าสูงกว่าพันล้านบาทต่อปี
เหตุการณ์จำลองเพื่อใช้ในการสาธิตเท่านั้น
หุ่นยนต์ผู้ช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัด เพิ่มความแม่นยำ รวดเร็ว
นอกจากตำแหน่งเภสัชกรที่มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ระยะหลังเราจะเห็นคำโปรยถึงเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผ่าตัดตามสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ผู้เขียนเชื่อว่ามากกว่า 90% คงนึกภาพหุ่นยนต์จับมีดผ่าตัดและมีมนุษย์คอยยืนอยู่ข้างๆ เราขอให้คุณลบภาพนั้นทิ้งซะ แล้วทำความเข้าใจเสียใหม่ว่าการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ที่ว่าคือการใช้หุ่นยนต์ในการคำนวณ เป็นผู้ช่วยสกิลสูงสำหรับศัลยแพทย์
มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการรักษาหลายๆ โรค ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์ Da Vinci ที่ถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดชิ้นส่วนมะเร็งภายในอวัยวะต่างๆ เช่น มะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urology) โดยเฉพาะการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากที่ให้ผลดีขึ้น การผ่าตัดทางนรีเวช ศัลยกรรมระบบช่องท้อง และล่าสุดกับเทคโนโลยีการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่ต้องใช้เทคนิคใส่สกรูยึด
เหตุการณ์จำลองเพื่อใช้ในการสาธิตเท่านั้น
นายแพทย์สมศักดิ์อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า “เทคนิคการผ่าตัดแบบใส่สกรูเข้าไปในกระดูกต้องใช้ทักษะส่วนบุคคลและความแม่นยำสูง แพทย์ต้องแน่ใจว่าระยะสกรูจะต้องไม่กระทบต่อหลอดเลือดและเส้นประสาทใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการอัมพาตขึ้นในอนาคต การผ่าตัดจึงต้องเปิดแผลให้กว้างเพื่อวิสัยทัศน์ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวช้าและมีความเครียดสูง ซึ่งเทคโนโลยีหุ่นยนต์จะเข้ามาลดทอนความเครียดนี้ โดยจะกำหนดทิศทางและองศาในการฝังสกรูกับกระดูกสันหลังผ่านการคำนวณผลจากการซีทีสแกนและเอ็กซเรย์แบบสามมิติ แน่นอนว่าแม่นยำ ปลอดภัย และฟื้นตัวเร็วกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว”
เครื่อง Robotic – assisted and navigated spine surgery
การใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังช่วยวางแผนขั้นตอนการรักษาตลอดจนการผ่าตัดได้อย่างรัดกุมยิ่งขึ้น ทำให้ทีมแพทย์สามารถรักษาได้อย่างมั่นใจในหลายกรณีที่ต้องการความแม่นยำสูง ฝ่ายคนไข้ก็รู้สึกปลอดภัยคลายกังวล การฟื้นฟูร่างกายก็ง่ายและดีขึ้นตามลำดับ
หลังจากเดินเยี่ยมชมและศึกษาระบบและการจัดการในโรงพยาบาลอยู่นาน THE STANDARD ไม่รู้สึกแปลกใจเลยว่าทำไมโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จึงได้รับรางวัลเป็นเลิศในด้านต่างๆ มากถึง 13 รางวัล ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลที่น่าเชื่อถือที่สุดในประเทศไทย 2561 (Most Trusted Hospital 2018 – Thailand) ของ Thai Business Excellence Award 2018 โดยนิตยสาร South East Asia, รางวัลโรงพยาบาลแห่งปีด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (2018 Medical Tourism Hospital of the Year in Asia Pacific), รางวัล Smart Hospital of the Year in Asia Pacific, รางวัลผู้ให้บริการด้านออร์โธปิดิกส์แห่งปี 2561 ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (2018 Orthopaedic Service Provider of the Year in Asia Pacific) โดยนิตยสาร Global Health and Travel และล่าสุด รางวัลเชิดชูเกียรติ Hospital of the Year – Thailand โดยนิตยสาร Healthcare Asia
จริงๆ ยังมีเทคโนโลยีอีกหลายอย่างที่ถูกนำมาใช้ในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หุ่นยนต์ที่เข้ามาช่วยวินิจฉัยการรักษาโรคบางชนิดร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรืองานบริการอื่นๆ เช่น ระบบการรักษาความปลอดภัย แม่บ้านทำความสะอาด ในอนาคตการใช้หุ่นยนต์จะแพร่หลายในวงกว้างและจะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์มากยิ่งขึ้นไปอีก การรักษาจะเที่ยงตรงและแม่นยำขึ้นในระดับหัตถ์เทวะ อย่ากลัวการเข้ามาของเทคโนโลยี แต่จงยินดีว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดียิ่งขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา
- Mazor Robotics ก่อตั้งขึ้นในปี 2004 และมีประสบการณ์ด้านการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์มานานกว่า 14 ปี โดย Robotics – Mazor XTM เป็นรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด โดยจำหน่ายได้มากกว่า 70 เครื่องในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย ระบบประมวลภาพเพื่อช่วยในการผ่าตัดแบบ O-armTM, ระบบนำทางแบบ StealthStationTM และ Robotics – Mazor เป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่เพิ่มเข้ามา