×

แนะ 9 วิธีรับมือเมื่อลูกโดนกลั่นแกล้งที่โรงเรียน

19.12.2019
  • LOADING...

การรังแก กลั่นแกล้งในโรงเรียน หรือการ Bully ได้กลายเป็นปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องเล็กอีกต่อไป และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทย

 

จากสถิติของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่า ในปี 2561 มีจำนวนนักเรียนไทยโดนกลั่นแกล้งในโรงเรียนสูงถึง 600,000 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 40% มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น ปัจจุบันระดับความรุนแรงของพฤติกรรมการกลั่นแกล้งและปัญหาการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียนได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี

 

ด้วยเหตุนี้ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS จึงได้จัดกิจกรรมเพื่ออบรมให้ความรู้แก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ที่โรงเรียนทอสี ในหัวข้อ ‘คำพูดสร้างสรรค์ สร้างสังคมน่าอยู่ ไม่ Bully ในเด็ก’ ซึ่ง นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการเด็ก โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ฝาก ‘เคล็ดไม่ลับ 9 วิธีรับมือ เมื่อเด็กๆ ถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน’ เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูนำไปปรับใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลเด็กๆ ได้ต่อไป

 

  1. ทำความเข้าใจว่าการกลั่นแกล้งคืออะไร: นี่คือสิ่งสำคัญ ที่ทำให้เราเข้าใจปัญหาของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำมากขึ้น แท้จริงแล้วการกลั่นแกล้งคือนิสัยที่เรียนรู้และเลียนแบบมาจากการเห็นหรือได้ยิน เช่น การพบเจอปัญหาคนในครอบครัวทะเลาะกัน หรือพบเจอคนในชุมชนด่าทอกันด้วยคำพูดหยาบคายทุกวัน จนมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ผู้กระทำบางรายอาจจะเป็นบุคคลที่ขาดความมั่นใจในตนเอง อิจฉาริษยาผู้อื่น รวมถึงผู้กระทำบางรายอาจจะเคยเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน

 

  1. กล้าที่จะพูดหรือแสดงความไม่พอใจต่อผู้กระทำ: หลายครั้งที่ปัญหาการกลั่นแกล้งเกิดขึ้นกับบุคคลบุคคลหนึ่งมาอย่างยาวนาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะพูดหรือแสดงความไม่พอใจออกมา ทำให้ผู้กระทำไม่รับรู้ว่าผู้ถูกกระทำนั้นมีความรู้สึกอย่างไร จึงกระทำการกลั่นแกล้งซ้ำๆ เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ การแสดงออกหรือการพูดสื่อสารออกมาว่าผู้ถูกกระทำนั้นไม่พอใจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้กระทำมีแนวโน้มที่จะกลั่นแกล้งลดน้อยลง หรือหยุดการกระทำนั้นๆ ลงได้  เนื่องจากผู้กระทำได้รับการตระหนักรู้ ถึงความรู้สึกของผู้ถูกกระทำว่า ‘ไม่พอใจ’ และ ‘เสียใจ’ ตลอดจนรับรู้ว่าการกระทำของตนนั้นสร้างผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำอย่างไรบ้าง

 

  1. บอกเล่าการโดนกลั่นแกล้งกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู: ส่วนใหญ่แล้วปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนเกิดจากการที่ผู้ถูกกระทำไม่ได้บอกเล่าเรื่องถูกกลั่นแกล้งให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูทราบ จึงทำให้ปัญหาการกลั่นแกล้งยังคงเกิดขึ้น และไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ดังนั้นเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องสอนเด็กและลูกหลานของเรา ‘ไม่ให้เงียบ’, ‘เพิกเฉย’ หรือ ‘ทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น’ และจงกล้าที่จะบอกเล่าปัญหาของตนกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครูที่โรงเรียน เพราะปัญหาการถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียนต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือครู ต้องปรึกษาหารือกัน เพื่อหาวิธีการรับมือ และหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกัน

 

  1. การกลั่นแกล้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย: ทราบหรือไม่ว่าในบางสถานการณ์ การกลั่นแกล้งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หากว่าผู้ถูกกระทำถูกกลั่นแกล้งทางร่างกายหรือทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดด่าทอเชื้อชาติหรือเพศสภาพ ใช้กำลังและความรุนแรงรังแกผู้อื่น หรือแม้แต่การแชร์เรื่องส่วนตัวของผู้อื่นในอินเทอร์เน็ต ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งสิ้น หากว่ามีการพบเจอการกลั่นแกล้งที่รุนแรงเช่นนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูสามารถรายงานเรื่องนี้ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

  1. อย่ามองว่าตัวเองเป็นปัญหา: การมีอัตลักษณ์ที่ต่างจากผู้อื่น เช่น เพศสภาพ เชื้อชาติ รูปร่างหน้าตา ที่ต่างจากผู้อื่น ไม่ใช่ปัญหาของผู้ถูกกระทำเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นเพราะทัศนคติของผู้กระทำต่อผู้อื่นต่างหาก สิ่งที่สำคัญคือเราต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก หากลูกของคุณเป็นผู้ถูกกระทำ จงสอนเขาว่า เขาไม่ได้ทำอะไรผิด และมันไม่ใช่ปัญหาของเขาเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวผู้กระทำเองทั้งสิ้น

 

  1. มองหาวิธีจัดการกับความเครียด: ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การกลั่นแกล้งนั้นสามารถสร้างความเครียดให้แก่ผู้ถูกกระทำเป็นอย่างมาก นอกจากการบอกเล่าปัญหาต่อผู้ที่ไว้ใจ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พ่อแม่ หรือครูแล้ว ควรลองมองหากิจกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง หรือออกไปเที่ยว เพื่อจัดการกับความเครียดของตนเอง และทำให้สภาพจิตใจไม่หมกมุ่นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

 

  1. อย่าแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว: การอยู่คนเดียว ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือทำให้เราจัดการกับการกลั่นแกล้งได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้สถานการณ์แย่ลงไปเรื่อยๆ การอยู่คนเดียวเงียบๆ จะทำให้ลดความมั่นใจและความภาคภูมิใจของผู้ถูกกระทำได้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ที่จะคอยสอดส่อง ดูแลพฤติกรรม อารมณ์ของเด็กๆ และบุตรหลาน ไม่ให้ตกอยู่ในภาวะเงียบหรือปลีกตัวมาอยู่คนเดียว

 

  1. ดูแลสุขภาพกายและใจของตนเองให้ดี สุขภาพคือสิ่งสำคัญที่เราควรใส่ใจ การกลั่นแกล้งนั้นสามารถสร้างบาดแผลและปมในใจให้กับผู้ถูกกระทำ ซึ่งสามารถส่งผลต่อสภาพร่างกาย เช่น การอดอาหาร เครียดจนนอนไม่หลับ เป็นต้น หากบุตรหลานของท่านได้รับการกลั่นแกล้งที่กระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและจิตวิทยา เพื่อช่วยให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาได้อย่างดีและตรงจุด

 

  1. มองหาบุคคลต้นแบบที่ดี: การกลั่นแกล้ง ทำให้ผู้ถูกกระทำสับสนและไม่ชอบในตัวเอง หากว่าผู้ถูกกระทำมีบุคคลต้นแบบที่ดี จะสามารถทำให้เห็นได้ว่ามีอีกหลายคนที่เคยพบเจอกับปัญหาเดียวกัน แต่พวกเขาก็สามารถก้าวข้ามผ่านการโดนกลั่นแกล้งจนสามารถประสบความสำเร็จได้ การมีบุคคลต้นแบบที่ดีนั้น จะทำให้ผู้ถูกกระทำ มองเห็นคุณค่าของตัวเองและรักตัวเองมากขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising