×

บัฟเฟตต์ถือตั๋วเงินคลังระยะสั้นเพิ่ม 81% เป็น 2.3 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ

08.08.2024
  • LOADING...
บัฟเฟตต์

Berkshire Hathaway ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ถือครองตั๋วเงินคลังระยะสั้น (T-Bills) ของสหรัฐอเมริกามากกว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)

 

โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา Berkshire ถือครอง T-Bills คิดเป็นมูลค่า 2.34 แสนล้านดอลลาร์ จากรายงานผลประกอบการล่าสุด ซึ่งเพิ่มขึ้น 81% จากประมาณ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2023

 

การเพิ่มขึ้นของปริมาณการถือครองของ Berkshire ได้แซงหน้าการถือครองของ Fed ซึ่งอยู่ที่ 1.95 แสนล้านดอลลาร์ ณ สัปดาห์ที่แล้ว

 

การที่ Berkshire หันมาถือครอง T-Bills มากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่สามารถหาการลงทุนที่คุ้มค่าเกินกว่าผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยงในอัตรามากกว่า 5% ต่อปี ผ่านตราสารหนี้ของรัฐบาล

 

ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนของ T-Bills อายุ 1 เดือนอยู่ที่ 5.33%, อายุ 3 เดือนอยู่ที่ 5.22% และอายุ 6 เดือนอยู่ที่ 4.95%

 

ด้วยมูลค่าการถือครอง T-Bills ดังกล่าวของ Berkshire น่าจะสร้างผลกำไรที่ปราศจากความเสี่ยงประมาณ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี หรือ 3 พันล้านดอลลาร์ต่อไตรมาส

 

จากการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของ Berkshire ในเดือนพฤษภาคม บัฟเฟตต์เรียก T-Bills ว่า ‘การลงทุนที่ปลอดภัยที่สุด’

 

นอกจากนี้ T-Bills ยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่นักลงทุน เนื่องจากดอกเบี้ยที่จ่ายได้รับการยกเว้นภาษีของรัฐและท้องถิ่น

 

การเพิ่มการถือครอง T-Bills ไม่ใช่การเคลื่อนไหวที่โดดเด่นเพียงอย่างเดียวของ Berkshire ในไตรมาส 2 บริษัทยังลดสัดส่วนการถือหุ้น Apple ลงประมาณครึ่งหนึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว โดยขายหุ้นไปประมาณ 390 ล้านหุ้น

 

เงินทุนในไทยไหลเข้ากองทรัสต์

 

สำหรับการลงทุนในไทย หากย้อนดูในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางดัชนี SET ร่วงลงมา 1.6% จะเห็นว่าหลักทรัพย์ในกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT) เป็น 1 ใน 3 กลุ่มที่ปรับตัวขึ้นสวนทางกับภาพรวมตลาด โดยกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมากที่สุดคือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) จากแรงหนุนของหุ้น บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ DELTA ส่วนอีกกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้คือเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)

 

ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 7 สิงหาคม ดัชนีกลุ่ม PF&REIT เพิ่มขึ้น 10.2% โดยหุ้นในกลุ่ม เช่น CPNREIT, WHART, FTREIT, LPF และ IMPACT ต่างปรับตัวขึ้นทั้งสิ้น

 

สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนทั่วโลกกำลังปรับพอร์ตเข้าสู่ Defensive Stock ไม่แค่เพียงในไทย เพราะหากพิจารณาจากดัชนี MSCI Defensive Stock เป็นกลุ่มหุ้นที่ไม่ได้ปรับตัวลงพร้อมกับตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา

 

หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวพร้อมกันหลายจุด และการที่ธนาคารกลางสำคัญหลายแห่ง เช่น Fed, ECB และ BOE ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ทำให้มุมมองนักลงทุนเริ่มเปลี่ยนไป

 

“ตอนนี้นักลงทุนเริ่มปรับพอร์ตเพื่อรองรับดอกเบี้ยขาลง ปรับตัวเข้าสู่ Defensive Stock ที่จ่ายเงินปันผลแน่นอน ซึ่งเป็นธีมที่เกิดขึ้นทั้งโลก สำหรับหุ้นไทยในกลุ่มโรงไฟฟ้า, สื่อสาร, REIT หรือโรงพยาบาล จะโดดเด่นกว่าตลาด นอกจากนี้ เรายังเห็นเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดบอนด์ในไทยด้วยเช่นกัน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising