จบไปแล้วสำหรับการประชุมสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในวาระแรก
ที่ประชุมลงมติเห็นชอบในขั้นรับหลักการ ด้วยคะแนน 251 ต่อ 0 งดออกเสียง 234 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 รวมองค์ประชุม 486 คน
การอภิปรายตลอด 3 วัน ผู้สันทัดกรณีหลายท่านประเมินว่าเป็นการอภิปรายงบประมาณที่อาจจะจืดชืดและขาดสีสันหากเทียบกับการตั้งตารอคอยมากว่า 5 ปี
อย่างไรก็ตาม ก็มีการตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ส.ส. หน้าใหม่ในสภาฯ หลายคนเลือกที่จะเจาะลึกลงในรายละเอียดของงบประมาณมากกว่าลีลาทางการเมืองเหมือนในอดีต
แหล่งข่าวระดับรัฐมนตรีในรัฐบาลบอกกับ THE STANDARD ว่า การอภิปรายงบประมาณครั้งนี้ถือว่าจืดชืดกว่าสภาฯ เลือกตั้งในอดีตพอสมควร แม้ว่าจะมีข้อมูลที่ดีและเป็นประโยชน์ แต่ก็เป็นข้อมูลที่เข้าถึงคนได้ยาก และที่สำคัญไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีข้อมูลเชิงลึกอะไรออกมาแฉให้สื่อมวลชนจับจ้องและพูดถึงเป็นพิเศษ
THE STANDARD ตรวจสอบรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 ซึ่งเพิ่งผ่านขั้นรับหลักการจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงที่มาและที่ไปของงบประมาณประเทศ
สำหรับวงเงินงบประมาณปี 2563 คือ 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 แสนล้านบาท
ถามว่าเงิน 3.2 ล้านล้านบาทมาจากไหนบ้าง?
คำตอบคือ ส่วนใหญ่ 85.3% หรือ 2,731,000 ล้านบาท มาจากรายได้ของประเทศ ซึ่งรายได้ของประเทศนั้นมาจากภาษีอากร (สุทธิ) ถึง 76.9% ที่เหลือคือ การขายสิ่งของและบริการ 1.3% รัฐพาณิชย์ 5.9% และอื่นๆ 1.2%
ส่วนอีก 14.7% มาจากเงินกู้จำนวน 469,000 ล้านบาท ในทางการจัดทำงบประมาณเรียกว่า การจัดงบประมาณแบบขาดดุล คือต้องใช้เงินกู้มาเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณประเทศ
เงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท สำนักงบประมาณจำแนกไว้เป็นส่วนๆ อย่างละเอียดว่าแบ่งไปใช้ทำอะไรบ้าง เชื่อว่าหลายคนเคยเห็นการจำแนกเป็นรายกระทรวงว่าหน่วยงานใดได้งบประมาณไปเท่าไร
แต่ทั้งนี้ยังมีการจำแนกงบประมาณที่น่าสนใจอีกลักษณะหนึ่ง คือ การจำแนกตาม ‘เป้าหมายการใช้จ่าย’ ซึ่งพบว่า การบริหารทั่วไปของรัฐ ใช้เงินในสัดส่วน 23.5% ของงบประมาณทั้งหมด
การบริการทั่วไปของรัฐ สรุปง่ายๆ ส่วนใหญ่หมดไปกับรายจ่ายประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานบุคคล ค่าดำเนินกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการชำระหนี้เงินกู้และเงินโอนให้ท้องถิ่น
ขณะที่เป้าหมายที่สำคัญน้อยที่สุด หากดูจากสัดส่วนการใช้เงิน คือ ‘ด้านสิ่งแวดล้อม’ ซึ่งใช้เงินเพียง 0.4% หรือ 12,867.7 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้ถูกระบุให้ใช้จ่ายครอบคลุมตั้งแต่ การจัดเก็บและจัดการสิ่งปฏิกูลและน้ำโสโครกในท่อระบายน้ำ ระบบการบำบัดน้ำเสีย การก่อสร้างท่อระบายน้ำ ตลอดจนการป้องกันสิ่งแวดล้อมทางอากาศและภูมิอากาศ การลดมลภาวะทางเสียง การป้องกันกัมมันตภาพรังสี การสร้างเขื่อน การรักษาระบบนิเวศ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายหากจำแนกสัดส่วนงบประมาณแบบรายกระทรวง พบว่า 5 อันดับหน่วยงานที่ได้งบประมาณมากที่สุดคือ งบกลาง 518,770,918,000 (เพิ่ม 10%)
- กระทรวงศึกษาธิการ 368,660,344,500 (ลด 0.1%)
- กระทรวงมหาดไทย 353,007,432,600 (เพิ่ม 7.7%)
- กระทรวงการคลัง 249,675,980,400 (เพิ่ม 2.8%)
- กระทรวงกลาโหม 233,353,433,300 (เพิ่ม 2.7%)
สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุถึงการจัดทำงบประมาณปี 2563 ว่าประเทศมีปัญหา น่าตกใจ ไม่มีความหวัง จากการจัดงบประมาณแบบขาดดุล ต่อเนื่องมาแล้ว 6 ปี นับตั้งแต่การทำรัฐประหาร และยังขาดดุลเมื่อเทียบกับรัฐบาลในอดีต รายได้ต่ำกว่ารายจ่าย แต่รัฐบาลกลับให้น้ำหนักไปกับการใช้งบประมาณด้านความมั่นคง ในขณะที่งบประมาณด้านการพัฒนาคน พัฒนาเศรษฐกิจ และงบประมาณด้านการศึกษาถูกตัดลง
ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า งบประมาณของแต่ละกระทรวงได้มากน้อยลดหลั่นกันไป ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการและนำปัญหาที่ใหญ่ที่สุดมาจัดการ บางครั้งต้องใช้งบประมาณบูรณาการหรืองบของกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจ และถ้ามีปัญหาเร่งด่วนก็สามารถดึงงบกลางมาใช้ได้
ส่วนงบกลางมองดูเหมือนจะมาก แต่ใช้ในภาระต่างๆ จำนวนมาก ทั้งเรื่องเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ยังไม่รวมถึงการช่วยเหลือน้ำท่วมซึ่งใช้งบหลายหมื่นล้าน ตลอดจนการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาต่างๆ ยืนยันว่าการใช้งบกลางไม่ได้ใช้จ่ายไปเรื่อยเปื่อย
ในส่วนของงบประมาณกระทรวงกลาโหม ซึ่งวันนี้อาจไม่ทราบกันว่าทหารทำอะไรบ้าง เฉพาะกองทัพบกมีถึง 7 กองกำลังที่อยู่ตามชายแดน จำนวนหลายหมื่นคนที่ต้องทำงานทุกวัน ทั้งเรื่องการสกัดกั้นสินค้าผิดกฎหมาย นี่คือหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงที่จะต้องไปเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง โดยเฉพาะปัญหาภาคใต้ ซึ่งเราให้ความสำคัญ โดยได้แยก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมา และย้ำว่าจะต้องมีโครงการลงไปในพื้นที่
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์