×

ย้อนเรื่องราวระหว่างกษัตริย์อังกฤษกับผู้นำสหรัฐฯ ก่อน พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พบ โจ ไบเดน

09.07.2023
  • LOADING...
พระเจ้าชาร์ลส์ พบ โจ ไบเดน

ในเดือนกรกฎาคมนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศในทวีปยุโรป และเข้าร่วมการประชุม NATO ที่ประเทศลิทัวเนีย โดยหนึ่งในเป้าหมายของไบเดนคือการเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีวาระสำคัญคือการเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และการพบปะหารือกับ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร

 

การพบกันของ ‘พระราชา’ กับ ‘ประธานาธิบดี’

เรื่องที่หลายฝ่ายจับตามองในการเดินทางเยือนอังกฤษของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ คือการพบกันระหว่างประมุขของสองชาติพันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม 2023 ณ ปราสาทวินด์เซอร์

 

สืบเนื่องจากเมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่าราชสำนักอังกฤษจะเชิญประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้าร่วมพิธีดังกล่าว แต่ทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีไบเดนได้ให้ จิล ไบเดน ภริยาผู้เป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ เข้าร่วมพิธีแทน ซึ่งไม่ได้ระบุถึงเหตุผลที่แน่ชัด แต่กล่าวเพิ่มเติมเพียงว่า ไบเดนมีความปรารถนาจะได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าชาร์ลส์ในอนาคตอันใกล้นี้ 

 

กรณีดังกล่าวทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุที่ประธานาธิบดีไบเดนไม่มาร่วมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของชาติพันธมิตรสำคัญ ซึ่งอาจเป็นภารกิจที่อาจจะหาไม่ได้อีกแล้วในชีวิตของเขา โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ เนื่องด้วยประธานาธิบดีไบเดนมีบรรพบุรุษเป็นชาวไอริช ซึ่งมีความขัดแย้งกับอังกฤษมาอย่างยาวนานในอดีต ทำให้เขาเลือกที่จะไม่ไปร่วมงานดังกล่าว ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ ด้วยประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมา ไม่เคยมีประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ คนใดเข้าร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์อังกฤษ ทำให้ไบเดนเลือกที่จะรักษาธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวไว้ ซึ่งเหตุผลทั้งสองเรื่องดังกล่าวยังคงมีข้อโต้แย้ง ทำให้ไม่มีความชัดเจนว่าเหตุผลที่แท้จริงคือเรื่องใด

 

แม้การเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าชาร์ลส์ของไบเดนในครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาทั้งสองคนได้พบปะหารือกัน โดยต่างเคยได้พบกันในหลายครั้งหลายโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการพบกันในการประชุมด้านสภาพภูมิอากาศโลก (COP) ครั้งที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 และครั้งล่าสุดในคราวพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2022

 

การพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกของทั้งคู่ ต้องย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2015 ในการเยือนสหรัฐฯ ของเจ้าชายชาร์ลส์ ขณะยังทรงเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ พระองค์กับสมเด็จพระราชินีคามิลลา เมื่อครั้งยังเป็นดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ ได้ทรงพบปะหารือกับประธานาธิบดีบารัก โอบามา และไบเดน ซึ่งขณะนั้นเป็นรองประธานาธิบดี ณ ห้องทำงานรูปไข่ ทำเนียบขาว 

 

การพบกันครั้งนั้นของเจ้าชายชาร์ลส์และไบเดนจึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เปรียบเสมือนการพบกันของผู้มีตำแหน่งอันดับสองรองจากประมุขของทั้งสองประเทศ ซึ่งผ่านไป 8 ปี ทั้งคู่จะได้กลับมาพบกันอีกครั้งในฐานะใหม่ โดยต่างดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศอย่างเป็นทางการแล้ว กล่าวคือ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นกษัตริย์อังกฤษอย่างสมบูรณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่วนไบเดนนั้นเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2021

 

สายสัมพันธ์ของประมุขแห่งสองชาติพันธมิตรข้ามฝั่งแอตแลนติก

ด้วยเหตุว่าสหรัฐฯ นั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ ทำให้กษัตริย์อังกฤษมีสถานะเป็นประมุขของสหรัฐฯ ในช่วงที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษด้วย ก่อนที่ชาวอาณานิคมจะประกาศอิสรภาพและแยกตัวเป็นประเทศเอกราชในปี 1776 โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีผู้มาจากการเลือกตั้งเป็นประมุขและผู้บริหารประเทศ แยกต่างหากจากการปกครองของอังกฤษ ดังนั้น คงจะไม่เกินไปนักหากจะกล่าวว่า สถาบันกษัตริย์อังกฤษมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ มาตั้งแต่ต้น

 

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ในระยะแรกของทั้งสองชาตินั้นยังไม่ราบรื่นและมีความขัดแย้งระหว่างกันอยู่เสมอ ประกอบกับการเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกยังมีความลำบากและต้องใช้ระยะเวลานาน ทำให้กว่าที่ประมุขของทั้งสองชาติจะได้เยือนกันและกันอย่างเป็นทางการก็ผ่านมากว่า 100 ปี นับแต่ก่อตั้งสหรัฐฯ

 

สำหรับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการ คือ ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน ซึ่งเขาได้เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าจอร์จที่ 5 ในเดือนธันวาคม 1918 และในเดือนมิถุนายน 1939 พระเจ้าจอร์จที่ 6 ก็เป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกนับตั้งแต่ยุคที่สหรัฐฯ ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ อันเป็นไปตามคำเชิญของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอังกฤษ ท่ามกลางความตึงเครียดของสถานการณ์ในทวีปยุโรปที่มีโอกาสเกิดสงครามจากการที่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้แผ่ขยายแสนยานุภาพของเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง

 

จากนั้นเป็นต้นมา ประมุขของทั้งสองชาติต่างเดินทางเยือนกันและกัน โดยส่วนใหญ่แล้ว เมื่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเยือนอังกฤษก็จะได้เข้าเฝ้าฯ กษัตริย์อังกฤษอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่พระราชวังบักกิงแฮมหรือปราสาทวินด์เซอร์ 

 

ดังนั้นแล้วจึงอาจปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติที่ วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้ให้นิยามไว้ว่าเป็นความสัมพันธ์พิเศษ (Special Relationship) นั้น มีความใกล้ชิดและสัมพันธ์อย่างแนบแน่น โดยต่างผ่านพ้นวิกฤตการณ์และความท้าทายต่างๆ มาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามเย็น ตลอดจนสงครามต่อต้านการก่อการร้าย จนกลายเป็นชาติพันธมิตรสำคัญสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งสถาบันกษัตริย์อังกฤษก็มีส่วนร่วมหรือมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

บทบาทดังกล่าวอาจเห็นได้อย่างเด่นชัดในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองราชย์กว่า 70 ปี (ปี 1952-2022) ทรงได้พบกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึง 13 คนจาก 14 คน นับตั้งแต่นายพลดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ จนถึงโจ ไบเดน ขาดแต่เพียง ลินดอน บี. จอห์นสัน เท่านั้น ตลอดจนยังได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ ถึง 6 ครั้งด้วยกัน (ปี 1951, 1957, 1976, 1983, 1991 และ 2007)

 

บทบาทสำคัญของสมเด็จพระราชินีนาถกับความสัมพันธ์ต่อสหรัฐฯ นั้น นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประมุขของชาติแล้ว ยังทรงมีส่วนสำคัญต่อการกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งเกิดสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ในปี 1982 พระองค์ก็ทรงมีส่วนช่วยให้รัฐบาลอังกฤษของนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ซึ่งมีความสนิทสนมกับพระองค์ รวมไปถึงการที่ทรงต้อนรับการมาเยือนอังกฤษของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในปี 2008 อันเป็นการปูทางให้นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติในการไปเยือนสหรัฐฯ

 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กับผู้นำแห่งสหรัฐฯ 

ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2022 เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ ได้รับราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ และเป็นประมุขแห่งสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ อันเป็นบทบาทที่ต้องสานต่อจากพระราชมารดา เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

 

แม้ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะเพิ่งขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อังกฤษได้ไม่ถึงหนึ่งปี แต่พระองค์ก็หาได้เป็นหน้าใหม่ในกิจการด้านต่างประเทศ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ เนื่องด้วยในฐานะรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ พระองค์ทรงคุ้นเคยกับการพบปะหรือเจรจากับบรรดาผู้นำสหรัฐฯ มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยหากนับผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1948 อันเป็นปีพระราชสมภพ พระองค์ทรงเคยพบกับประธานาธิบดีถึง 10 คนจาก 14 คน โดยขาดเพียง แฮร์รี เอส. ทรูแมน, เจอรัลด์ ฟอร์ด, ลินดอน บี. จอห์นสัน และ จอห์น เอฟ. เคนเนดี เท่านั้น

 

การพบกันครั้งแรกของพระองค์กับผู้นำสหรัฐฯ เกิดขึ้นในปี 1959 ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 10 พรรษา เมื่อนายพลดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ เดินทางมาเยือนอังกฤษ โดยเป็นอาคันตุกะของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และพักที่ปราสาทบัลมอรัล สกอตแลนด์ ยิ่งไปกว่านั้น พระเจ้าชาร์ลส์ยังเคยเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐฯ ถึง 20 ครั้ง นับแต่ปี 1970 ซึ่งทรงพบกับประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และครั้งล่าสุดเมื่อปี 2018 ในพิธีศพของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้พ่อ 

 

ดังนั้นแล้ว แม้การพบกันครั้งนี้จะเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกของทั้งคู่ในฐานะประมุขของประเทศ แต่จากประสบการณ์และความคุ้นเคยที่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงมีต่อผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ ทำให้หลายฝ่ายเชื่อมั่นได้ว่า การทำหน้าที่ประมุขของอังกฤษของพระเจ้าชาร์ลส์ในครั้งนี้น่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ให้แนบแน่นยิ่งขึ้น รวมไปถึงส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกได้ดีดังเช่นที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชมารดาผู้ล่วงลับ ทรงปฏิบัติมาโดยตลอด

 

สถาบันกษัตริย์อังกฤษในฐานะ Soft Power ของกิจการต่างประเทศ

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษมีส่วนสำคัญต่อการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับประเทศต่างๆ เนื่องด้วยการพบปะ การเจรจา หรือการเดินทางเยือนระหว่างกัน ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศ บางครั้งการเจรจาต้องอาศัยประสบการณ์หรือมุมมองซึ่งไม่ใช่เรื่องของอำนาจหรือการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว สถาบันกษัตริย์จึงมีบทบาทสำคัญที่จะมาช่วยเติมเต็มเรื่องดังกล่าวอันเป็นเอกลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

 

ด้วยการมีสถาบันกษัตริย์ที่ต่อเนื่องยาวนานเกือบหนึ่งพันปี ทำให้เกิดธรรมเนียมปฏิบัติและพิธีการต่างๆ อันเกี่ยวเนื่องกับความเป็นกษัตริย์ ซึ่งส่งผลให้อังกฤษมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนกับประเทศใด ในฐานะประมุขของอังกฤษ ทั้งกษัตริย์ พระราชินี และสมาชิกพระราชวงศ์ ต่างมีหน้าที่ในด้านการต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการไปเยือนหรือการเป็นเจ้าภาพรับการมาเยือนของผู้นำประเทศต่างๆ รวมถึงทุกภารกิจและการปฏิบัติตนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทุกย่างก้าวล้วนแล้วแต่แฝงไว้ด้วยการเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งหากเรียกให้ร่วมสมัยก็คือ Soft Power ของชาติ

 

อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ งานอดิเรก หรือแม้แต่สิ่งที่พระราชวงศ์แต่ละพระองค์ชื่นชอบ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีต่อประเทศชาติ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น ‘UK Brand’ รวมทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมบทบาทและสถานะของอังกฤษในสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นชาต่างๆ ขนมสโคน กีฬา เช่น แข่งม้าหรือโปโล สุนัขพันธุ์คอร์กี้ หรือฉลองพระองค์สีโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถ ตลอดจนสำเนียงการพูดและการปฏิบัติพระองค์ของพระราชวงศ์ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของความเป็นชนชาติอังกฤษ

 

นอกจากบทบาทด้านการเป็นสัญลักษณ์ของประเทศหรือการเผยแพร่วัฒนธรรมแล้ว อีกบทบาทที่สำคัญคือบทบาทการรับฟังหรือร่วมรับรู้ความรู้สึกของผู้คน โดยเฉพาะการให้ความสนใจหรือใส่ใจกับวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น การพบปะกับผู้นำชุมชนและเรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขา ซึ่งจะมีส่วนช่วยเสริมการดำเนินนโยบายทางการทูตของรัฐบาล หรือลดความรุนแรง ลดความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังเช่นในกรณีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จเยือนไอร์แลนด์ในปี 2011 หลังจากความขัดแย้งที่มีมายาวนานระหว่างสองชนชาติ อย่างไรก็ตาม บทบาทในแง่นี้กำลังเริ่มถูกโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น โดยจากการเยือนประเทศในทะเลแคริบเบียนเมื่อปี 2022 ของดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ที่ต้องเผชิญกับการประท้วงในประเด็นเรื่องทาสและการเป็นเจ้าอาณานิคมของอังกฤษ

 

ดังนั้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไปของสังคมโลก แม้บทบาทการเป็น Soft Power ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษจะยังคงมีความสำคัญและมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ ตลอดจนบทบาทบนเวทีโลกให้แก่อังกฤษ แต่สถาบันกษัตริย์อังกฤษก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทและมุมมองในหลายด้าน เพื่อให้เข้ากับค่านิยมและความคิดของสังคมสมัยใหม่ เพราะการเปลี่ยนแปลง คือพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ 

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X