×

เหตุจลาจลบุกสภา ความอ่อนไหวของการเมืองบราซิล และภารกิจฟื้นประชาธิปไตยให้กลับมาเข้มแข็ง

23.01.2023
  • LOADING...

เหตุจลาจลเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ไม่ใช่การจลาจลครั้งใหญ่ครั้งแรกของบราซิล เพราะในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน 2013 ถึงเดือนกรกฎาคม 2014 ก็เคยเกิดการจลาจลครั้งใหญ่ที่บานปลายไปหลายเมืองสำคัญของบราซิลในสมัยของอดีตประธานาธิบดี จิลมา รูเซฟ แต่การจลาจลครั้งนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมืองโดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นหลัก เพราะประชาชนรู้สึกไม่พอใจที่รัฐบาลลงทุนมหาศาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสนามฟุตบอลเพื่อรองรับการที่บราซิลเป็นเจ้าภาพบอลโลกในปี 2014 ขณะที่ค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น และเกิดภาวะเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวบราซิลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนชั้นกลางและคนชั้นล่างที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันปัญหาอาชญากรรมก็พุ่งขึ้นสูง ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด ปัญหาการปล้นสะดม รวมถึงปัญหาการฆาตกรรมที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

 

ทว่าเหตุจลาจลเมื่อต้นปีที่ผ่านมามีสาเหตุหลักมาจากความไม่พอใจของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนาโร แห่งพรรคเสรีนิยมที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งให้กับ ลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา หรือที่รู้จักกันในนาม ‘ลูลา’ แห่งพรรคแรงงานเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2022 ด้วยคะแนนเสียงอย่างเฉียดฉิว จนทำให้พวกเขาก่อจลาจลขึ้นมาภายหลังจากที่ลูลาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีได้เพียง 8 วันเท่านั้น

 

ดังนั้นเหตุจลาจลเมื่อวันที่ 8 มกราคม จึงมาจากปัญหาทางการเมืองโดยตรง โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับการจลาจลในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 ซึ่งในเวลานั้นประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ที่พ่ายแพ้ให้กับ โจ ไบเดน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 และต้องส่งมอบอำนาจให้กับไบเดนในวันที่ 20 มกราคม 2021 ได้กล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีในคราวนั้น โดยทรัมป์ได้ทวีตข้อความเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเขาออกมาเดินขบวนต่อต้าน จนเกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังตำรวจกับผู้ประท้วงที่หน้ารัฐสภา หรือ U.S. Capitol ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา ท้ายที่สุดผู้ประท้วงก็สามารถบุกเข้าไปในรัฐสภาได้ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวอาคารรัฐสภา การจลาจลในครั้งนี้สงบลงเมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมยุติการบุกยึดรัฐสภา 

 

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ครั้งนั้นได้สร้างรอยด่างพร้อยให้กับประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยมีประธานาธิบดีคนใดที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งจะเรียกร้องให้ผู้ที่สนับสนุนเขาออกมาใช้ความรุนแรงต่อต้านผู้ที่ชนะ ยิ่งไปกว่านั้นในวันที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ทรัมป์ได้ทำลายประเพณีที่อดีตประธานาธิบดีจะต้องอยู่ต้อนรับประธานาธิบดีคนใหม่ โดยเขาไม่อยู่ร่วมในวันดังกล่าว โดยเดินทางกลับไปอยู่ในที่พักของเขาที่ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา ต่อมาในเดือนธันวาคม 2022 คณะกรรมการสอบสวนเหตุจลาจลวันที่ 6 มกราคม 2021 ตั้งข้อหาทางอาญาต่อทรัมป์ ฐานมีส่วนร่วมในความพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2020 รวมทั้งสนับสนุนการก่อจลาจล

 

ย้อนกลับมาเหตุการณ์วันที่ 8 มกราคม 2023 ในบราซิล หลังจากโบลโซนาโรพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เขาไม่เคยปริปากยอมรับชัยชนะของลูลาเลยแม้แต่เพียงครั้งเดียว รวมทั้งยังเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเขาไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ ซึ่งผู้สนับสนุนเขาได้ไปตั้งแคมป์เรียกร้องหน้ากองบัญชาการทหารสูงสุดของบราซิล ให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่กองทัพก็ได้นิ่งเฉย เพราะกองทัพบราซิลถอนตัวในการแทรกแซงทางการเมืองตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 แล้ว ทำให้ผู้สนับสนุนโบลโซนาโรไม่พอใจเป็นอย่างมาก ที่ไม่สามารถเรียกร้องให้กองทัพหันมาเป็นพวกของตนได้ และเมื่อลูลาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของบราซิลในวันที่ 1 มกราคม 2023 โบลโซนาโรก็ไม่อยู่ในพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานาธิบดีให้กับลูลา โดยเขาเดินทางไปไมอามี รัฐฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าเขาไปรักษาตัวจากอาการเจ็บท้องที่เกิดจากการถูกทำร้ายในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2018 

 

สำหรับสถานการณ์ในวันที่ 8 มกราคมนั้น ประชาชนที่สนับสนุนโบลโซนาโรกว่า 4,000 คนที่โดยสารมากับรถบัสกว่า 40 คัน ได้สวมเสื้อฟุตบอลของบราซิลที่มีสีเหลืองและเขียวเข้ามารวมตัวกับผู้ที่ตั้งแคมป์เรียกร้องหน้ากองบัญชาการทหารสูงสุดในกรุงบราซิเลีย เมืองหลวงของประเทศ (แต่เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบราซิลคือนครเซาเปาลู ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 4 ของโลกตามจำนวนประชากร รองลงมาคือนครรีโอเดจาเนโร ซึ่งไม่ได้มีเหตุการณ์การประท้วงในวันที่ 8 มกราคม 2023) และเดินเท้ามุ่งหน้าไปสู่รัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่บางส่วนของรัฐสภาที่เป็นใจให้กับพวกเขาปล่อยให้ผู้ประท้วงบุกเข้ามาในรัฐสภา และถ่ายรูปร่วมกับผู้ประท้วงเหล่านั้น หลังจากนั้นพวกเขาก็บุกไปยังทำเนียบประธานาธิบดี เข้าไปทำลายข้าวของภายในทำเนียบไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือภาพเขียนสำคัญต่างๆ ที่อยู่ในทำเนียบประธานาธิบดี ต่อมาพวกเขาบุกไปยังที่ทำการของศาลสูงสุดในเวลาประมาณ 15.45 น. แต่ท้ายที่สุดในเวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ มีการจับกุมตัวผู้ประท้วงกว่า 300 คน และศาลสูงได้ออกคำสั่งปลดผู้ว่ากรุงบราซิเลียที่มีความใกล้ชิดกับโบลโซนาโรให้ออกจากตำแหน่งเป็นเวลา 90 วัน ระหว่างที่มีการสืบสวนหาความจริงในเหตุการณ์บุกเมืองหลวงในครั้งนี้

 

สำหรับตัวของอดีตประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนาโร นั้น เขาออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมในจลาจลครั้งนี้ นอกจากนี้ยังแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่โบลโซนาโรไม่เคยเอ่ยปากยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเลยแม้แต่ครั้งเดียวนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สนับสนุนเขาออกมาประท้วงในครั้งนี้ โดยตัวเขาเองในปัจจุบันก็ยังไม่ได้เดินทางกลับมายังบราซิล โดยยังคงพำนักอาศัยอยู่ในไมอามีต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีทีท่าที่จะกลับบราซิลในเวลาอันใกล้นี้

 

ประธานาธิบดีลูลาระบุว่า การบุกรุกเมืองหลวงกรุงบราซิเลียครั้งนี้เป็นการก่อการร้ายที่ร้ายแรง และเขาจะใช้มาตรการอย่างเด็ดขาดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจลาจลครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประท้วงเอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามเขาได้กล่าวในเวลาต่อมาว่า ตัวของเขาเองนั้นในปัจจุบันเป็นประธานาธิบดีของคนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เลือกเขาหรือไม่เลือกเขาก็ตาม เขาต้องการให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้นในสังคมบราซิล ดังนั้นเขาจะเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างเร็วที่สุด และจะจัดการอย่างเฉียบขาดกับผู้ที่มุ่งทำลายหรือขัดขวางความสมัครสมานให้เกิดขึ้นภายในประเทศ

 

การจลาจลเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2023 ของบราซิลนั้นแสดงให้เห็นถึงความอ่อนไหวของประชาธิปไตยในบราซิล อีกทั้งแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยในบราซิลนั้นยังไม่แข็งแรง ยังคงมีการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ทั้งๆ ที่บราซิลในสมัยที่ลูลาเป็นประธานาธิบดีระหว่างปี 2003-2010 นั้น บราซิลเคยได้รับการยอมรับว่าเป็นพี่เอื้อยของภูมิภาคลาตินอเมริกา เป็นกระบอกเสียงที่สำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตยในลาตินอเมริกา บราซิลในขณะนั้นมีความรุดหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเป็นช่วงขาขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้บราซิลส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคได้เป็นจำนวนมากและในราคาที่สูง ซึ่งทำให้รัฐบาลของลูลามีทรัพยากรเพียงพอที่จะแจกจ่ายให้กับคนทั้งประเทศ โดยเฉพาะกับคนยากจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ 

 

แต่เมื่อมองย้อนกลับมาในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมของโลกได้เปลี่ยนไป การเกิดขึ้นของโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนบราซิลไม่น้อย และเศรษฐกิจโลกที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว ทำให้บราซิลต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ในการบริหารประเทศ ส่วนหนึ่งก็มาจากผลกระทบที่รัฐบาลโบลโซนาโรได้กระทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าแอมะซอน ซึ่งเปรียบเสมือนปอดใหญ่ที่สำคัญของโลกเพื่อหวังผลในการขยายที่ดินเพื่อเพาะปลูกพืชการค้าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพดหรือถั่วเหลือง ซึ่งการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลโบลโซนาโรได้รับการต่อต้านจากองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมาก หรือการที่รัฐบาลโบลโซนาโรมีแนวนโยบายขวาจัด ทำให้กระทบกระทั่งกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีนโยบายเอียงซ้าย อาทิกับเวเนซุเอลา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร

 

ดังนั้นบราซิลภายใต้การนำครั้งใหม่ของประธานาธิบดีลูลาในขณะนี้ จะต้องพยายามอย่างเร่งด่วนที่จะสร้างความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งให้กลับคืนมา เพื่อที่บราซิลจะได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาหรือในสังคมโลกในฐานะประเทศที่มีความเข้มแข็งในระบอบประชาธิปไตย เพราะเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญของบราซิลที่มีความพยายามมาตั้งแต่รัฐบาลของลูลาในสมัยแรก คือการที่บราซิลต้องการที่นั่งประจำในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยเป็นตัวแทนของประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศในลาตินอเมริกาหรือประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนั่นเอง

 

แม้ว่าการเริ่มต้นทางการเมืองครั้งใหม่ของลูลาจะประสบกับปัญหาที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 มกราคม แต่เขาก็ยังมีเวลาอีก 4 ปีที่จะทำให้บราซิลกลับมาเป็นประเทศที่มีบทบาทและความสำคัญต่อการเมืองโลกได้ รวมทั้งการสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตยในประเทศ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประเทศต่างๆ ได้เห็น ดังนั้นบราซิลภายใต้การนำของลูลาครั้งใหม่นี้จะได้รับการจับตามองจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะในภูมิภาคหรือนอกภูมิภาคอย่างแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising