Q: มีเพื่อนร่วมงานเป็นคนขี้โม้ค่ะ เวลาทำงานด้วยกันนางจะทำงานนิดเดียว แต่พอโปรเจกต์ออกมาสำเร็จ นางก็เอาไปพูดว่านางว่ามีส่วนร่วมเยอะมาก เรื่องได้หน้านี่ขอให้บอกเลยค่ะ เป็นบ่อยๆ เข้าก็รำคาญเหมือนกันค่ะ จะทำอย่างไรดีคะ
A: ผมมีวิธีดักคนขี้โม้อย่างหนึ่ง ก็คือเวลาคนขี้โม้พูด เขาจะชอบพูดในภาพกว้าง พูดเรื่องใหญ่ เพราะภาพกว้างหรือเรื่องใหญ่เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เห็น แต่ลองถามแบบลงรายละเอียดสิครับว่าเขาทำงานชิ้นนั้นอย่างไร ระหว่างทำงานเขาเจออะไรบ้าง ถามเจาะรายละเอียดเลย คนขี้โม้จะตอบไม่ค่อยได้ครับ เพราะเขาไม่ได้ทำ แต่คนที่ลงมือทำงานจริงๆ เขาจะรู้หมดทุกรายละเอียดครับ เพราะเขาทำมากับมือ วิธีนี้เอาไว้ใช้เวลาสัมภาษณ์งานก็ได้ครับ เพื่อเช็กคนที่เราสัมภาษณ์ว่าใช่ตัวจริงหรือเปล่า
แต่เวลาจับได้ว่าขี้โม้นี่หว่า เราไม่ต้องไปชี้หน้าแบบโคนันจับฆาตกรได้นะครับ ไม่รู้ว่าโหดไปไหม แต่เวลาคุยกับคนขี้โม้แล้วเราจับได้ว่าเขาโกหก ผมชอบดูว่าเขาจะหาทางแลนดิ้งอย่างไร เขาจะไปท่าไหน ศพจะสวยหรือเปล่า ดูแล้วก็สนุกดีนะครับ เป็นความบันเทิง มือเราไม่ต้องเปื้อนเลือดด้วยครับ ดูเขาฆ่าตัวตายเอง แค่ยิ้มให้ตามมารยาทแล้วก็ไม่เสียเวลาต่อ เหมือนเดิมครับ เขาทำไม่ดีไม่ได้แปลว่าเราต้องทำไม่ดีใส่เขาด้วย
กลับมาที่เรื่องของคุณบ้าง เข้าใจได้ครับว่ารำคาญเวลาเจอคนเล่นใหญ่โม้เก่งแบบนี้ ลึกๆ แล้วคนขี้โม้เป็นคนน่าสงสารนะครับ เขาอาจจะไม่ได้มีอะไรในชีวิตให้ภูมิใจ ไม่มีความชื่นชมตัวเอง เขาคงอยากให้คนอื่นยอมรับในตัวเขา ก็เลยต้องใช้วิธีโม้เพื่อให้คนอื่นมาชื่นชม แต่เชื่อไหมครับ ข้างในของเขาคงว่างเปล่ามาก ความสุขที่เขาเคยคิดว่าจะได้รับจากการโม้แล้วให้คนอื่นชื่นชมเขามันไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง มันคือการหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะเขาไม่ได้เป็นจริงอย่างที่ตัวเองพูด ถ้ามองในมุมนี้ คนขี้โม้ก็คือคนที่น่าสงสาร ติดอยู่ในวังวนของความหลอกลวง และหาความสุขไม่เจอ
ในอีกมุมหนึ่ง สำหรับคนบางคน เรื่องเล็กๆ ที่เขาทำอาจเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขาก็ได้ครับ มองในมุมเรามันคงเล็ก แต่ในมุมเขาอาจจะมองว่ายิ่งใหญ่มาก เพราะฉะนั้นเราจะไปตัดสินว่าทำนิดเดียวแต่เล่นใหญ่เบอร์นั้นทำไม บางทีมันก็อาจจะเป็นการมองจากมุมของเราอย่างเดียวก็ได้ครับ อีกอย่างก็คือทุกคนมีส่วนร่วมในงานที่ทำหมด จะเป็นฟันเฟืองชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ก็มีความหมายหมด ถ้าเขาทำเรื่องเล็กๆ ก็ยังดีนะครับ อย่างน้อยบนหน้าที่ที่เขาทำอยู่ เขาก็ทำแล้ว ถ้าโปรเจกต์จะประสบความสำเร็จ ทุกคนที่มีส่วนร่วมก็ควรได้รับคำชมด้วยกันทั้งนั้น เพราะเราคือทีมเดียวกัน
จะให้เราไปแหกหน้าเขาตรงนั้นเวลาเขาโม้ ผมคิดว่าก็จะยิ่งทำร้ายเขา คนแบบนี้ลึกๆ แล้วเขาอยากมีที่ยืน อยากให้คนยอมรับ เราไปแหกหน้าเวลาเขาโม้ เขาจะยิ่งไม่มีที่ยืน และถามว่าแหกแล้วเราได้อะไรขึ้นมากับตัวเอง ผมว่าก็อาจจะได้แค่ความสะใจ อาจจะไม่ต้องรำคาญอีก แต่ถามว่าเราแหกหน้าเขาแล้วเรามีความสุขไหม ชีวิตเราดีขึ้นหรือเปล่า แหกหน้าแล้วเราเก่งขึ้นไหม ผมก็คิดว่าไม่ขนาดนั้น เมื่อทำแล้วไม่มีใครมีความสุข ผมว่าไม่จำเป็น
คนอื่นก็คงรู้อยู่แล้วว่าเขาขี้โม้ เพียงแต่จะพูดหรือไม่ก็เท่านั้น และคนฉลาดก็ไม่จำเป็นต้องพูดทุกเรื่องที่ตัวเองคิดหรือที่ตัวเองรู้ เรากลอกตามองบนอยู่ในใจก็ได้ครับ ผมว่าใครทำอะไรคนก็รู้หมดแหละ แต่เราเลือกได้ว่าเราจะเสียพลังกับคนแบบนี้หรือไม่
ถ้าคนแบบนี้เขาอยากมีที่ยืน อยากให้คนยอมรับ เป็นไปได้ไหมครับว่าเราจะช่วยให้เขาได้สิ่งนั้นจริงๆ โดยไม่ต้องอาศัยการโม้
เบื้องต้นถ้าเขาจะมีความสุขเล็กๆ น้อยๆ จากการได้โม้ เราก็ปล่อยให้เขามีความสุขตรงนี้ไปครับ เขาแค่อยากให้มีคนฟังเขา คนชื่นชมเขา ก็ปล่อยเขาพูดก่อน แต่เราไม่จำเป็นต้องไปสุมไฟเพิ่ม ไม่ต้องไปป้อยอจนเขาเหลิง เดี๋ยวจะไปกันใหญ่ อย่างมากผมคิดว่าพยักหน้ารับฟัง เวลาคนขี้โม้พูดอะไร ถ้าเราอ่านให้ลึกไปกว่าคำที่พูดออกมาแล้ว เราจะได้ยินว่าเขากำลังบอกว่า “สนใจฉันเถอะ สนใจฉันเถอะ ฉันอยากให้โลกสนใจฉันเหลือเกิน ฉันเปราะบางและอ่อนแอจนต้องสร้างเปลือกขึ้นมาว่าฉันดีเหลือเกิน” อ่านสิ่งที่อยู่ในใจเขาให้ออกได้แบบนี้แล้วเราจะไม่คิดลบกับเขาครับ เพราะเขาก็เป็นคนน่าสงสารคนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ถ้าจะรู้สึกรำคาญบ้างก็แค่เดินออกมา รู้ว่าเพื่อนคนนี้เดี๋ยวจะต้องมาโม้อีกก็ห่างก่อน จะไปเข้าห้องน้ำหรืออะไรก็ได้ ชีวิตเรามันจัดการง่ายมากครับ แค่เดินออกมาจากสิ่งแวดล้อมที่เราไม่ชอบ พอออกมาแล้วก็จบ
สิ่งที่เราสามารถทำได้ต่อมาก็คือทำให้เขาเป็นที่ยอมรับจริงๆ จากการลงมือทำงาน ไม่ใช่การพูด ก็ในเมื่อพูดมาขนาดนี้ว่าเธอทำงานเยอะเหลือเกิน ก็ให้เธอทำงานเยอะขึ้นไปด้วยเลยแล้วกัน ก็บอกเองว่าเธอเก่งอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าอย่างนั้นเชิญมาทำงานให้เป็นประโยชน์สิ จับเขามาทำงานเลยครับ แต่ขีดเส้นใต้นะครับว่าให้เขาทำงาน แต่เราก็ต้องไม่ปล่อยนะครับ เรารู้แล้วว่าคนนี้ขี้โม้ ถ้าเราถีบให้เขาไปจัดการเองอย่างเดียว งานอาจจะบรรลัยได้ เราดึงเขามาทำงานและตัวเราเองก็ดูแลงานอย่างใกล้ชิดไปด้วย มันอาจจะสร้างความรำคาญให้เราอยู่บ้าง แต่วิธีนี้มันจะช่วยตัวเขาได้ด้วย เพราะเมื่อเขาได้ลงมือทำงานจริงๆ จังๆ แล้ว เขาจะภูมิใจในตัวเอง เขาจะเห็นเองว่าเขามีประโยชน์ เขาจะได้สัมผัสเองว่าความสำเร็จมันเป็นแบบนี้นี่เอง เหนืออื่นใด เขาได้เรียนรู้ครับ แล้วพอเขาภูมิใจในตัวเองแล้ว ความรู้สึกว่าตัวเองต้องหาเรื่องโม้เพื่อให้คนอื่นยอมรับก็จะน้อยลงไปด้วย พอคนอื่นได้เห็นว่าเขาทำงานจริงๆ จังๆ เสียทีก็จะยอมรับเขาไปด้วย เพราะได้เห็นว่าคนนี้ก็มีความสามารถ สุดท้ายทุกคนได้ประโยชน์หมดครับ ตัวเขาได้ทำงานจริงๆ จังๆ และได้ความภูมิใจในตัวเอง พอเห็นคุณค่าในตัวเองแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความขี้โม้มาสร้างเปลือกให้ตัวเองดูดีแบบปลอมๆ พอเขาไม่ขี้โม้ เราก็ไม่ต้องรำคาญเขาอีก จบข่าว สบายใจทุกคน
มันอาจจะยากหน่อยตรงดึงให้เขามาทำงานให้ได้ครับ แต่ไม่แน่นะครับ จริงๆ คนเหล่านี้อาจจะอยากทำงานอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาได้ทำอะไรเล็กๆ ตลอด ก็เลยไม่รู้สึกภูมิใจในตัวเอง พอไม่ได้ทำงาน ฝีมือก็เลยไม่พัฒนาไปด้วย ดึงเขามาทำงานเลยครับ พาเขามาอยู่ในที่ที่ถูกที่ควร จับเขามาทำงาน เก่งนักก็มาทำงาน ฮ่าๆ ทำงานแล้วจะได้เก่งจริงๆ เสียที
แต่ถ้าเขาไม่อยากทำงานจริงๆ อันนั้นเป็นเรื่องของเขาแล้วครับ เพราะคนที่ไม่ทำงานก็จะไม่มีที่ยืนในที่ทำงาน พอเขาไม่มีประโยชน์ให้องค์กร เดี๋ยวก็ถึงกาลอวสานเอง
ผมว่าความจริงถ้ามองคนขี้โม้ให้ออกนะ เขาควรใช้ความขี้โม้ของเขาไปพัฒนาต่อยอดให้เป็นประโยชน์ ในเมื่อเป็นคนกล้าพูดแล้ว (ก็ต้องกล้าสิ ไม่อย่างนั้นคงไม่กล้าโม้กับคนอื่นได้ ฮ่าๆ) แถมยังเป็นคนที่มีความสามารถในการตีฟู ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ และยังต้องเป็นคนโน้มน้าวเก่งด้วย เพื่อให้คนเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ ลองเอาทักษะแบบนี้ไปพัฒนาต่อในทาง Storytelling หรือ Presentation ดีไหมครับ เผื่อจะมีประโยชน์กับทีมไปด้วย แล้วไปฝึกให้เราเก่งเลยนะครับ
เมื่อเขาเอาความขี้โม้ไปใช้ให้ถูกที่ถูกทางและขัดเกลาให้ความสามารถที่ผิดกลายเป็นความสามารถที่เป็นประโยชน์ เขาก็จะมีคุณค่า และไม่ต้องกลับมาใช้ความขี้โม้
เปลี่ยนความรำคาญคนขี้โม้มาเป็นความสงสารและหาทางช่วยให้เขาได้มีคุณค่าในตัวเองอย่างที่เขาตามหามาตลอด นั่นแหละครับ วิธีการแก้ปัญหาที่ทุกคนจะได้ประโยชน์หมด
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์