แบงก์ชาติประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 3.8% ฟื้นต่อเนื่อง จากแรงส่งด้านการท่องเที่ยว-การบริโภคภาคเอกชน แต่ยังมีความเสี่ยงที่อาจโตได้ต่ำกว่า 3% หากปัจจัยลบรุมเร้า
เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย 2023’ ในงานสัมมนา ‘The Great Remake’ โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้น ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ความผันผวนของตลาดการเงินจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และจีน-ไต้หวัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยันไทยไม่ซ้ำรอย ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ แม้บาทอ่อน เหตุทุนสำรองสูง-เงินทุนไหลเข้าสุทธิ
- ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เผยพร้อม ‘ขึ้นดอกเบี้ยแรง’ หากเงินเฟ้อพื้นฐานไม่เป็นไปตามคาด พร้อมยันบาทอ่อนกระทบเงินเฟ้อไม่มาก
- ‘แบงก์กรุงเทพ’ ประเดิมขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ หลัง กนง. ขึ้นดอกเบี้ย หวังช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ มีผลวันที่ 29 กันยายน
“ประมาณการเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเปลี่ยนไปเร็วมาก โดยล่าสุด IMF ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีหน้าลงเป็น 2.7% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และอียู อาจขยายตัวได้เพียง 1.0 และ 0.5% และมีโอกาสที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย” เมธีกล่าว
รองผู้ว่าการ ธปท. ระบุอีกว่า ตลาดการเงินโลกในปีหน้าจะยังคงมีความผันผวนจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินและภาระหนี้ของหลายประเทศ ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤตพลังงานและอาหารโลก ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องเตรียมนโยบายสำหรับรองรับกระแส Deglobalization ในระยะยาว
เมธีกล่าวว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ธปท. ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 จะยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยคาดว่า GDP ไทยจะยังขยายตัวได้ที่ 3.8% จากแรงส่งหลักคือการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 21 ล้านคน แม้ว่าการส่งออกอาจขยายตัวได้เพียง 1.1% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
“IMF คาดว่าปีหน้าไทยจะเป็น 1 ใน 78 ประเทศทั่วโลกที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้สูงขึ้นจากปีนี้ และจะเป็น 1 ใน 14 ประเทศทั่วโลกที่เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย” เมธีกล่าว
เฝ้าระวัง 4 ความเสี่ยงฉุด GDP โตต่ำกว่า 3%
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายังมีโอกาสเช่นกันที่ GDP ไทยปีหน้าอาจเติบโตได้ต่ำกว่า 3% หากเกิดปัจจัยลบหลายๆ อย่างขึ้นพร้อมๆ กัน เช่น
- จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่า 20 ล้านคน และนักท่องเที่ยวจีนไม่มาเลย
- การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 1.1% เติบโตติดลบ 2%
- การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะโต 3.3% สามารถโตได้เพียง 1%
ขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อไทยอาจจะยังคงสูงกว่า 5% ในกรณีที่ราคาน้ำมันกลับขึ้นไปสูงที่ระดับ 144 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“โอกาสที่จะเกิดปัจจัยเหล่านี้ขึ้นยังมีค่อนข้างน้อย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ เพราะปัจจัยต่างๆ มีความสัมพันธ์ระหว่างกัน หากนักท่องเที่ยวไม่มา การบริโภค การจ้างงาน ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน” เมธีกล่าว
รองผู้ว่าการ ธปท. ยังกล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินในปีหน้าว่าจะยังคงให้น้ำหนักกับการดูแลให้เศรษฐกิจไม่สะดุดและทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และต้องชั่งน้ำหนักในหลายประเด็น ทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้เอกชน ทำให้ไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงได้ โดยมาตรการที่มีความสำคัญและควรทำคือ การเพิ่มผลิตภาพทั้งในส่วนของการลงทุน แรงงาน และการผลิต เพื่อช่วยให้ผลิตภาพของไทยปรับตัวดีขึ้น
ส่วนมาตรการที่ไม่ควรทำ ซึ่งถือเป็น Bad Policies คือนโยบายที่ทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วน นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และนโยบายที่ไม่สอดคล้องกันไปคละทิศทาง รวมถึงนโยบายประชานิยมที่บิดเบือนการทำงานของระบบและสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในระยะยาว